xs
xsm
sm
md
lg

"อีอีซี"ปีกธงปี 68 คิกออฟศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา ชงครม.ล้มแผนเดิมชี้เปิดใหม่การบินไทยยังมีโอกาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"อีอีซี"ตั้งเป้าปี 68 คิกออฟศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา จ่อชงยกเลิกมติครม. ปี 61 ดึงพื้นที่ 210 ไร่คืน เร่งสรุปแนวทางหาผู้ประกอบการใหม่ กรณีมีน้อยรายอาจให้ยื่นข้อเสนอแทนประมูล ชี้การบินไทยยังมีโอกาส ด้านบางกอกแอร์เวย์สยอมรับ การบินไทยชวนร่วมลงทุน แต่ยังต้องดูเงื่อนไขก่อน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ในขณะนี้ อีอีซี เตรียมเสนอขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2561 ที่ให้สิทธิ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ MRO อู่ตะเภา บนพื้นที่ 210 ไร่ เนื่องจากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว และทางแอร์บัสมีการถอนตัวไป แนวทางนี้จึงไม่สามารถทำได้ ซึ่งต้องรอให้มีการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(ประธานบอร์ดกพอ.) คนใหม่ก่อน จากนั้นจะเร่งเสนอไปตามขั้นตอน

ทั้งนี้ เมื่อครม.เห็นชอบ ยกเลิกมติครม. ปี 61 อีอีซีจะนำพื้นที่มาเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ประกอบการโครงการ MRO โดยมีเป้าหมาย เริ่มดำเนินการในปี 2568 เพื่อให้ MRO แล้วเสร็จพร้อมหรือก่อนที่สนามบินอู่ตะเภา จะเปิดให้บริการ เพราะ เมื่อทางวิ่งเส้นทางที่ 2 (รันเวย์ 2 ) ก่อสร้างเสร็จ ส่วนของ MRO ก็สามารถให้บริการได้ทันทีเนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้ สนามบินอู่ตะเภา มีบริการที่ครบวงจร และรองรับความต้องการซ่อมบำรุงอากาศยานภายในประเทศ อีกด้วย

@ผู้ประกอบการน้อยราย อาจเปิดให้ยื่นข้อเสนอแทนประมูล

นายจุฬากล่าวว่า จากการพูดคุยกับทางการบินไทยล่าสุด แจ้งว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย ให้เดินหน้าโครงการ MRO เพราะมองว่าธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศ จะสร้างรายได้ให้การบินไทย และบริษัทมีความพร้อมดำเนินโครงการ โดยอาจจะร่วมกับสายการบินคนไทย และทราบว่าการบินไทย ได้พูดคุยกับทางบางกอกแอร์เวย์สไปบ้างแล้ว ซึ่งอีอีซีเห็นว่า คนไทยควรมีส่วนในการโครงการ MRO อู่ตะเภา เพราะจะทำให้สายการบินของคนไทยมีศูนย์ซ่อมเครื่องบินของตัวเองไม่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ เป็นการสร้างแต้มต่อทางอุตสาหกรรมด้วย แต่หากเป็นต่างชาติลงทุนหมด ก็จะแปลก เพราะคนไทยเป็นลูกค้าใช้บริการเสียค่าซ่อมเงินออกนอกประเทศ กลายเป็นโครงการไม่ได้ช่วยคนไทยและประเทศไทยเลย

ส่วนรูปแบบการคัดเลือกผู้ลงทุน MRO อู่ตะเภานั้น อีอีซีจะต้องสอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด หลักการ คือ เมื่ออีอีซี ขอยกเลิกมติครม. เพื่อนำพื้นที่คืนมา และขอครม.นำพื้นที่เปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมดำเนินการ เป็นการให้เช่าพื้นที่ ซึ่งตามระเบีบบอีอีซี การนำทรัพย์สินหาประโยชน์จะต้องประมูล แต่อาจจะไม่ใช้วิธีประมูลได้ หากมีผู้ประกอบการน้อยราย อาจใช้วิธีเปิดให้ผู้สนใจให้เข้ามายื่นข้อเสนอ

“เนื่องจากผู้ที่เข้ามาลงทุน ก็ต้องมีลูกค้าจึงจะคุ้มค่า MRO อู่ตะเภาจะเป็นเป็นฐานใหญ่ซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะมีสายการบินของประเทศไทย เป็นลูกค้าหลัก ซึ่งนอกจากการบินไทยแล้วยังมี สายการบินเวียตเจ็ท ที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ เคยมาคุยกับอีอีซี แสดงความสนใจ MRO เช่นกัน ซึ่ง สายการบินต้นทุนต่ำ ใช้เครื่องบินลำตัวแคบ คือ แอร์บัส A 320 และ โบอิ้ง B 737 จำนวนมาก และมีปัญหาต้องหาศูนย์ซ่อมตามวงรอบ ศูนย์ซ่อม ใกล้สุดคือ สิงคโปร์ และจีน แต่ทั้ง2 แห่งก็คิวจองเต็มมาก ส่วนมาเลเซีย ก็เป็นซ่อมเล็กกว่า จึงรองรับไม่ไหว คิวรอซ่อมยาวบางครั้งหลุดวงรอบการซ่อมกลายเป็นปัญหา”


@รวบสัญญเช่าเดียว 210 ไร่

เลขาฯอีอีซีกล่าวว่า MRO พื้นที่ 210 ไร่ต้องเป็นแพคเกจเดียว ไม่ควรแบ่งเพราะจะมีผลต่อการบริหารพื้นที่ส่วนกลาง ในมุมของการบินไทยอาจจะไปหาพาร์ทเนอร์ต่างชาติ ที่มีเทคโนโลยีด้านซ่อมบำรุงอากาศยานต่อเนื่องที่นอกเหนือจากการซ่อมเครื่องยนต์ด้วย เช่น งานพ่นสี งานปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อทำให้ MRO อู่ตะเภา เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน ที่มีการซ่อมบำรุงครบวงจร ดังนั้น การบินไทยยังมีโอกาส เพราะมีฝูงบินของตัวเองจำนวนมากที่สุด แต่จะไม่ได้สิทธิ์เหมือนเดิม จะต้องเข้ามาในรูปแบบที่ อีอีซี กำหนดยื่นข้อเสนอใหม่ ซึ่งเมื่อเทียบกับ ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ที่ ดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มีค่าเช่าพื้นที่ต่ำกว่า 3-4 เท่า

@บางกอกแอร์เวย์ส ขอดูเงื่อนไขร่วมการบินไทย ลงทุน MRO

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA (สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส) กล่าวว่า ได้รับการทาบทามจากการบินไทย ว่าสนใจร่วมลงทุนใน MRO พื้นที่ 210 ไร่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องพิจารณาก่อน เพราะต้องดูทั้งเงื่อนไข สัดส่วน และรูปแบบร่วมทุน แต่ยอมรับว่า MRO น่าสนใจ เพราะศูนย์ซ่อมใหญ่ในประเทศยังไม่มี เครื่องบินต้องไปซ่อมสิงคโปร์​ มาเลเซีย

@ผนึก UTA ผุดศูนย์ซ่อมพื้นที่ระหว่าง 2 รันเวย์

ในขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินซึ่ง มีบริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เป็นผู้รับสัมปทาน และ บางกอกแอร์เวย์สถือหุ้นอยู่ด้วยนั้น ในพื้นที่สนามบินส่วนที่ UTA ได้สัมปทาน ไม่เกี่ยวกับพื้นที่ 210 ไร่ จะมีพื้นที่ด้านซ่อมบำรุงอากาศยานช่วยสนับสนุนกิจกรรมการบิน อยู่ตรงกลางระหว่าง รันเวย์ 1 และ 2 ซึ่งจะมีการจัดสรรสำหรับเป็น โรงซ่อมเครื่องบิน โรงพ่นสี ได้ ซึ่งตรงนี้จะรองรับเครื่องบินของ บางกอกแอร์เวย์สเองอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น