xs
xsm
sm
md
lg

“EV” ขาลง “จริง” หรือสู้ “จีน” ไม่ไหว? “โตโยต้า วอลโว่ ฟอร์ด GM” ปรับลดแผนผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เกิดอะไรขึ้น?”

นั่นคือคำถามตัวโตๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจปรับลดการผลิต“รถยนต์ไฟฟ้า”ของ 4 ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของโลกคือ“โตโยต้า วอลโว่ เจเนอรัล มอเตอร์สและฟอร์ด”ซึ่งเกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

เป็นเพราะไม่สามารถต่อกรกับ “ค่ายรถยนต์สัญชาติจีน”ที่เดินหน้าทำตลาดอย่างหนัก หรือเป็นเพราะกระแส“อีวีขาลง”กันแน่

ทั้งนี้โตโยต้า มอเตอร์ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่น ถือเป็นบริษัทรถยนต์ล่าสุดทบทวนแผนการผลิตรถไฟฟ้าสำหรับปี 2026 ลง 1 ใน 3 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ธุรกิจ “นิกเกอิ”

มีรายงานว่า เวลานี้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกมีแผนผลิตรถอีวีเพียง 1 ล้านคันในปี 2026 จากเดิมที่ทางบริษัทเคยแถลงก่อนหน้านี้ ว่าวางเป้าหมายสำหรับยอดขายไว้ที่ 1.5 ล้านคัน

โตโยต้าชี้แจงในถ้อยแถลงว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในความตั้งใจผลิตรถยนต์อีวีให้ได้ 1.5 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2026 และ 3.5 ล้านคันในปี 2030 แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เป้าหมาย โดยเป็นเพียงเกณฑ์มาตรฐานของบรรดาผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม การผลิตรถไฟฟ้าแม้กระทั่ง 1 ล้านคันต่อปี ก็ยังถือเป็นว่าตัวแทนแห่งความทะเยอทะยานของโตโยต้า ซึ่งจนถึงตอนนี้ทุ่มเทความพยายามไปที่การพัฒนายานยนต์ไฮบริดมากกว่า และขายรถอีวีเพียงราว 104,000 คันในปีที่แล้ว ในขณะที่ปัจจุบันรถอีวี คิดเป็นสัดส่วนแค่ราว 1% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดทั่วโลกของโตโยต้า

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าวอลโว่ค่ายรถยักษ์สวีเดนได้ละทิ้งเป้าหมายที่ประกาศไว้เมื่อ 3 ปีก่อนว่าจะผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) แต่เพียงอย่างเดียวภายในปี 2030

การพับแผนการดังกล่าวไว้ก่อนของค่ายวอลโว่ถูกระบุว่า เป็นผลมาจากสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีขึ้นในขณะที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์เผชิญกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงในตลาดหลักบางแห่งสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และเผชิญความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากมาตรการทางภาษีที่มีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสำหรับรถอีวีที่ผลิตในจีน

ขณะนี้วอลโว่คาดว่าอย่างน้อย 90% ของการผลิตรถยนต์ของบริษัทจะประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และรถ PHEV หรือรถปลั๊กอินไฮบริดภายในปี 2030

ที่น่าสนใจคือ บริษัทสัญชาติสวีเดนแห่งนี้อาจขายรถยนต์ที่เรียกว่ารถไฮบริดแบบอ่อน (mild hybrid)โดยเป็นรถยนต์ไฮบริดที่ระบบเครื่องยนต์จะทำงานคล้ายกับ Full hybrid แต่ Mild hybrid จะใช้แหล่งพลังงานทำงานแยกจากกันไม่ได้ อีกทั้งตัวมอเตอร์ไฟฟ้าจะมีขนาดเล็กและเสริมกำลังในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เท่านั้น

“เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าอนาคตของเราคือพลังงานไฟฟ้า อย่างไรก็ตามเป็นที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าจะไม่ได้เป็นเส้นตรง ลูกค้าและตลาดยังต่างเคลื่อนไหวด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน” จิม โรวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของวอลโว่ กล่าว

และยังมีการระบุด้วยว่าวอลโว่ จะได้เห็นรถยนต์สันดาป (ICE)ในตลาดยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งยังเชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้การนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

วอลโว่ระบุอีกว่าบรรยากาศทางธุรกิจสำหรับรถอีวียังเปลี่ยนไปเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การเปิดตัวสถานีชาร์จที่ล่าช้า อีกทั้งบางประเทศได้ลดหรือยกเลิกมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าไปด้วย

“แอนนา แม็คโดนัลด์”นักวิเคราะห์อิสระ ระบุว่าผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับการหันไปใช้ยานยนต์อีวี เพราะมาตรการอุดหนุนบางอย่างที่รัฐบาลชาติต่างๆ กำหนดออกมาเพื่อกระตุ้นการซื้อรถไฟฟ้าได้หมดลงแล้ว นอกจากนี้ อุปสงค์หรือความต้องการซื้อกำลังอ่อนแอลง สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชาร์จไฟ

“ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก อย่างเช่นในกรณีที่รถยนต์ไฟฟ้ายังคงแพงกว่า ขณะเดียวกันอียูและสหรัฐฯ กำลังกำหนดมาตรการภาษีเล่นงานรถยนต์นำเข้าจากจีน เพื่อหยุดการไหลบ่าเข้าท่วมตลาด นั่นหมายความว่าจำเป็นต้องมีการผลิตรถยนต์นอกประเทศจีน ซึ่งมีราคาแพงกว่าด้วยตัวมันเอง บรรดาผู้ผลิตรถยนต์คงไม่กระตือรือร้นเริ่มต้นด้วยการขาดทุนกับรถยนต์เหล่านี้”แอนนากล่าวกับบีบีซี

ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งยุโรป พบว่าจำนวนรถยนต์อีวีที่จดทะเบียนทั่วสหภาพยุโรปลดลงเกือบ 11% ในเดือนกรกฎาคม

วอลโว่ มี Geely แบรนด์รถยนต์จีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และสืบเนื่องจากพวกเขาใช้โรงงานผลิตในจีน ดังนั้นบริษัทแห่งนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการรีดภาษีที่กำหนดเล่นงานรถอีวีที่ผลิตในจีน ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือเช่นกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แคนาดาแถลงว่ากำหนดมาตรการรีดภาษี 100% กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน แบบเดียวกับที่แถลงโดยสหรัฐฯ และอียูก่อนหน้านี้ ในขณะที่พวกชาติตะวันตกกล่าวหาจีนอุดหนุนอุตสาหกรรมอีวี ทำให้รถยนต์ของบรรดาผู้ผลิตสัญชาติจีนมีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

จีนปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว และวิพากษ์วิจารณ์มาตรการรีดภาษีว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ค่ายรถยนต์สัญชาติสหรัฐฯ อย่าง“ฟอร์ด”เพิ่งตัดสินใจยกเลิกแผนการผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ (Sport-Utility Vehicle หรือ SUV) ขนาดใหญ่สามตอน (Three-Row SUV) เช่น รุ่น Explorer และรุ่น Expedition ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และจะเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวในระบบไฮบริด (Hybrid gas-electric) ทดแทน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฟอร์ดได้เคยประการแผนการชะลอการเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวในตลาดจากปี 2568 ไปเป็นปี 2570 มาแล้ว โดยคาดว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางการเงินให้กับบริษัทเป็นมูลค่าสูงถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


นอกจากนี้ ฟอร์ดยังได้ประกาศเลื่อนแผนการเปิดตัวรถกระบะพลังงานไฟฟ้าออกไปจากแผนเดิมอีกหนึ่งปีเป็นปี 2570 (เป็นการประกาศเลื่อนครั้งที่สอง) อีกทั้ง ยังจะลดเงินงบประมาณลงทุนในกลุ่มรถยนต์พลังงานลงเหลือเพียงร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 40 ของงบประมาณลงทุนทั้งหมดด้วย

ขณะที่“เจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors)”หรือ “จีเอ็ม(GM)” ก็ปรับลดเป้าหมายการผลิตรถอีวีไปก่อนหน้านี้ โดยยอมรับว่า ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งล้านคันต่อปีภายในสิ้นปีหน้าตามที่เคยตั้งไว้ เนื่องจากกำลังการผลิตยังไม่พร้อม และความต้องการของตลาดก็ยังไม่เติบโตมากพอที่จะรองรับยอดขายระดับนั้น หลังเคยประกาศเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2035

ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกจะดำเนินไปอย่างไร โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่ “EV” ที่เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้เป็นไปอย่างที่มีการประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้ และดูเหมือนว่า “เครื่องยนต์สันดาป” จะยังดำเนินต่อไป พร้อมๆ กับปรับตัวไปสู่รูปแบบของ “ไฮบริด” ที่สนองตอบความต้องการของผู้บริโภค ณ เวลานี้ได้มากกว่า.


กำลังโหลดความคิดเห็น