กกต.ใส่เกียร์เดินหน้า เร่งตรวจส.ว.ไม่ตรงปก แจ้งข้อหา 'อดีตสื่อประชาไท'
ก่อนหน้านี้เกิดกระแสเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เร่งตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้รับการรับรองไปว่ามีปัญหาในข้อกฎหมายหรือไม่ ทั้งในเรื่องประสบการณ์ในประกอบวิชาชีพและวุฒิการศึกษา ปรากฎว่าตอนนี้กกต.เริ่มขยับตัวออกมาตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว โดยคนแรกๆที่โดนกกต.ตรวจตั้งแต่หัวจรดเท้า คือ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากกลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ
โดยนายเทวฤทธิ์ เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือเชิญจากสำนักสืบสวน 3 สำนักงานกกต.ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ในข้อหาสมัครรับเลือก ส.ว. “โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก เนื่องจากมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครเกี่ยวกับกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน น้อยกว่า 10 ปี อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 74 ประกอบ มาตรา 13 (3) และ มาตรา11 (18) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
"จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาและให้ถ้อยคำข้อมูลแก้ข้อกล่าวหา แต่ก่อนหน้านี้เคยยื่นเอกสารรับรองว่าเป็นนักข่าวประจำสำนักข่าวประชาไทตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี และข้อมูลนี้ยังเขียนไว้ในเอกสาร สว.3 ที่ใช้แนะนำตัว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือของ กกต.อยู่แล้ว จึงแปลกใจที่ทางคณะกรรมการสืบสวนของกกต.ยังตั้งเป็นข้อกล่าวหาดังกล่าวอีก โดยไม่เรียกไปให้ข้อมูลก่อนตั้งข้อหาด้วย"
นายเทวฤทธิ์ มองว่า คาดว่าหลักฐานที่ถูกใช้เป็นข้อมูลในการกล่าวหาน่าจะมาจากใบ สว.3 ซึ่งเป็นเอกสารแนะนำตัวเดิมที่ให้ใส่ประวัติเพียง 5 บรรทัดที่มีข้อจำกัดอย่างยิ่ง เหล่านี้ก็เป็นผลมาจากการวางระบบของ กกต.เอง การตรวจสอบคุณสมบัติแต่ต้นของ กกต.ก็ถูกสังคมตั้งคำถามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่อาจสะท้อนปัญหาการจัดการหรือเจตนาของ กกต.เองด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ นายเทวฤทธิ์ ถือว่าเป็นขาประจำของกกต.มาตลอด เนื่องจากเป็นหนึ่งผู้สมัครส.ว.ที่ผู้ฟ้อง กกต. ต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือก ส.ว. จนต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบที่เป็นข้อจำกัดการแนะนำตัว รวมทั้งข้อจำกัดการใช้ความสามารถตัวเองในการแนะนำตัวของผู้สมัครกลุ่มสื่อสารมวลชนและศิลปวัฒนธรรม