xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดรฟท.เคาะเพิ่มค่าก่อสร้างรถไฟไทย-จีน กว่า 2 พันล. เหตุปรับแบบยกระดับช่วงโคกกรวดสัญญา3-5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ดรฟท.เห็นชอบเพิ่มค่าก่อสร้าง”รถไฟไทย-จีน”สัญญา 3-5 อีกกว่า 2 พันล้านบาท หลังปรับแบบเป็นยกระดับช่วง”โคกกรวด-ภูเขาลาด” กว่า 7 กม. เร่งเสนอคมนาคม ชงเสนอครม.เกลี่ยงบค่าโยธา พาพรวมที่เหลืออีกกว่า 1 หมื่นล้าน เพิ่มเป็นงานVOยืดสัญญาอีก 36 เดือน พร้อมอนุมัติจ้างกลุ่ม”ไอทีดี-เออาร์ซี”453 ล้าน สร้างสะพานใหม่ ช่วงอุโมงค์ขุนตาน

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. ครั้งที่ 12 /2567 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด - นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้าง ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด จากคันทาง(Embankment) สูง 4-5 เมตร เป็นรูปแบบโครงสร้างยกระดับ (Elevated)ระยะทางประมาณ 7.85 กม. ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหา แนวทางที่ 4 ทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่ม เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,052,088,650 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) และทำให้ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 36 เดือน โดยเป็นการอนุมัติปรับเกลี่ยวงเงินตามประมาณการวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท. จะต้องส่งเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน (คบร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติ ปรับเกลี่ยวงเงินโครงการในส่วนของค่างานโยธา ที่ยังเหลืออีก 10,863 ล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งหมด ที่ครม.อนุมัติไว้ 179,412 ล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มวงเงินสัญญา 3-5 อีกประมาณ 2,052.08 ล้านบาทนั้นจึงยังไม่เกินจากกรอบวงเงินครม.อนุมัติ


สำหรับ สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้รับจ้าง วงเงินสัญญา 7,750 ล้านบาท ซึ่งหลังครม.เห็นชอบ ปรับแบบเป็นทางรถไฟยกระดับ จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง (Variation Order : VO ) ในสัญญาและเพิ่มค่าจ้าง 2,052.08 ล้านบาท และขยายระยะเวลาก่อสร้างจากสิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 2568 ออกไปอีก 36 เดือน หรือสิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 2571

นายอนันต์กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินที่เหลือของโครงการรถไฟไทย-จีน ที่ 10,863 ล้านบาทนั้น ได้หักการประมูลสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาทที่มีบจ.บุญชัยพาณิชย์ (1979) เป็นผู้รับจ้าง รวมถึงค่างานก่อสร้าง โครงสร้างร่วม กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินช่วงบางซื่อ - ดอนเมืองวงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาทไปแล้ว


@อนุมัติจ้างกลุ่ม”ไอทีดี-เออาร์ซี”453 ล้าน สร้างสะพานใหม่ ช่วงปากอุโมงค์ขุนตาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด รฟท. ยังได้อนุมัติผลการประกวดราคาและสั่งจ้างกิจการร่วมค้าไอทีดี-เออาร์ซี ( บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอเชี่ยน เรล จำกัด ดำเนินงาน ก่อสร้างสะพานและช่องน้ำทางรถไฟ พร้อมป้องกันการพังทลายของทางลาด ด้วยวิธี Shotcrete ช่วงตั้งแต่ คอสะพานคอมโพสิตด้านเหนือ (กม.676+800) - ปากอุโมงค์ขุนตานด้านใต้ (กม.681+000) จ.ลำปาง จำนวน 1 แห่ง วงเงินจ้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 453.2 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 900 วัน

ทั้งนี้ เนื่องจากสะพานเดิมใช้งานมานาน และเป็นโครงสร้างเหล็ก ส่วนสะพานใหม่จะก่อสร้างคู่ขนานกับสะพานเดิม โครงสร้างเป็นคอนกรีต เสริมเหล็กที่มีความมั่นคงแข็งแรง ก่อสร้างห่างจากทางเดิม 10 เมตร และไม่กระทบกับการเดินรถ เมื่อก่อสร้างเสร็จก็จะยกเลิกการใช้สะพานเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น