xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองแกร่ง! ยืนเหนือ 4 หมื่น นักลงทุนแห่ซื้อหลบภัย-ลุ้นพุ่งสู่เป้าหมายใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ทองคำราคาผันผวนระยะสั้น หากยังมั่นคงยืนเหนือ 4 หมื่นบาท ตามราคาในตลาดโลก เหตุดอลลาร์แข็งค่า อีกทั้งสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และสงครามที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนการเลือกตั้งในสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนแห่ซื้อเก็บในฐานะทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย “สภาทองคำโลก” มองกระแสการลงทุนที่ไหลสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำของนักลงทุนยุโรป เชื่อปี 67 ทองคำให้ผลตอบแทนดีสุด กูรูมองปรับฐานระยะสั้น ลุ้นเป้าหมายใหม่ 43,000 บาท

สัปดาห์แรกเดือนกันยายน พบว่าราคาทองคำผันผวน ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศปรับเปลี่ยนถึง 7 ครั้ง ส่งผลให้ทองแท่ง รับซื้อบาทละ 40,450 บาท ขายออกบาทละ 40,550 บาท ส่วนทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 39,719.20 บาท ขายออกบาทละ 41,050 บาท ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 ก.ย. ราคาทองคำประกาศถึง 5 ครั้งและพบว่าราคาทองแท่ง รับซื้อบาทละ 40,450.00 บาท ขายออกบาทละ 40,550.00 บาท ส่วนราคาทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 39,719.20 บาท ขายออกบาทละ 41,050.00 บาท

เนื่องจาก สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ธ.ค. ลบ 8.10 ดอลลาร์ หรือ 0.32% สู่ระดับ 2,552.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะนักลงทุนพากันเข้าซื้อทองก่อนหน้านี้ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐส่งผลให้ราคาทองคำขยับขึ้น กล่าวคือ ราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% ตามประกาศ สมาคมค้าทองคำ ของสัปดาห์แรกเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 40,000 - 40,550 บาท ต่อบาททองคำ โดยราคาทองคำปิดอยู่ที่ระดับ 40,000 บาท ต่อบาททองคำ ลดลง 450 บาท เมื่อเทียบกับราคาปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งปิดที่ 40,450 บาท

ล่าสุด ราคาทองคำ Spot เช้าวันจันทร์ที่ 9 ก.ย. เคลื่อนไหวบริเวณ 2,497 ดอลลาร์ ขณะราคาทองคำโคเม็กซ์สหรัฐปิดตลาดเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. ผ่านมาร่วงลง 18.50 ดอลลาร์ สู่บริเวณ 2,524.60 ดอลลาร์ เนื่องมาจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่ไม่ชัดเจนของสหรัฐ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% หรือ 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.นี้

ดังนั้น ราคาทอง (96.5%) ขายปลีกในประเทศ วันจันทร์นี้เมื่อเปิดตลาดปรับเพิ่มขึ้น 200 บาท โดยระหว่างวันมีการเปลี่ยนแปลงราคารวม 9 ครั้ง ตามสถานการณ์ราคาทองในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่ดอลลาร์ฟื้นตัวกลับมาแข็งค่า กระทั่งเมื่อเวลา 17.00 น. สมาคมค้าทองคำ รายงานราคาทองแท่งรับซื้อบาทละ 40,050 บาท ขายออก 40,150 บาท ส่วนทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 39,325.04 บาท และขายออกบาทละ 40,650 บาท

บมจ.วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส (YLG) ออกบทวิเคราะห์ว่า ราคาทองคำเคลื่อนไหวสลับขึ้นลงในกรอบที่แคบลง แม้พยายามรักษาการทรงตัวในระดับสูง แต่การฟื้นตัวขึ้นยังคงเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งนี้ ราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากทิศทางการฟื้นตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ หลังนักลงทุนซึมซับข้อมูลเชิงลบ จากการเปิดเผยข้อมูลฝั่งตลาดแรงงานสหรัฐ ที่พบว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 1.42 แสนราย ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อีกทั้งมีการปรับลดข้อมูลดังกล่าวทั้งในเดือน ก.ค.แล ะมิ.ย. ลงรวม 8.6 หมื่นตำแหน่ง ซึ่งนับว่ายืนยันภาวะชะลอตัวลงของตลาดแรงงานสหรัฐ แต่เมื่อพิจารณาแนวโน้มการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน และอัตราการว่างงาน ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนั้น ถ้อยแถลงของทั้งนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก ภายหลังการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีการชี้นำถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% มากนัก ทำให้นักลงทุนกลับมาเพิ่มน้ำหนักขึ้นสู่ระดับ 75% ต่อคาดการณ์ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า นับเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐมีการทรงตัวในทิศทางฟื้นตัวขึ้น

ดังนั้น สัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สําคัญของสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) 11 ก.ย.นี้ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ส.ค. วันที่ 12 ก.ย.นี้ ส่วนของกองทุนทองคํา SPDR ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ถือครอง 862.74 ตัน

ส่งออกทองคำ ก.ค.67 พุ่งกว่า 434%

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เผยส่งออกทองคำเดือน ก.ค. 67 มีมูลค่า 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 434.13 % เนื่องจากราคาทองคำในเดือนดังกล่าวทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,480.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อีกทั้งได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์ การปรับลดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับลดดอกเบี้ย และกองทุนทองคำมีการซื้อทองคำเพิ่ม ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวม 7 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 4,198.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.06%

ทองคำ ให้ผลตอบแทนดีสุดในปี 67

สภาทองคำโลก (World Gold Council)รายงานภาพรวมของทองคำช่วงกลางปีที่สภาทองคำโลกได้เผยแพร่ยังชี้ให้เห็นว่าทองคำมีผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ‎โดยช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ทองคำพุ่งขึ้นสูงถึง 12% และเกือบแตะ 15% ส่วนช่วงปลายเดือนสิงหาคม ผลตอบแทนของทองคำในครึ่งแรกของช่วงครึ่งปีหลังนี้มีความแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งมักจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทองคำมีสาเหตุหลายประการด้วยกันที่จะทำให้ทองคำมีผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง สภาทองคำโลกเริ่มเห็นว่านักลงทุนได้หันกลับมาสนใจในทองคำอีกครั้ง จากกระแสการลงทุนที่ไหลเข้าสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำสำหรับนักลงทุนในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม และในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโดยการลดลงของอัตราดอกเบี้ยควบคู่กับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ อาจช่วยสนับสนุนแนวโน้มนี้ต่อไป ‎

นายฮวน คาร์ลอส อาร์ทิกัส หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลกของสภาทองคำโลกกล่าวว่า “เช่นเดียวกับในเศรษฐกิจระดับโลก ดูเหมือนว่าทองคำกำลังรอปัจจัยที่จะเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของกระแสการลงทุนจากทางตะวันตกในขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดลง หรือตัวชี้วัดระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สูงขึ้น แม้ว่าแนวโน้มของทองคำในอนาคตอาจจะยังมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดสรรสินทรัพย์นั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น”

"ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน นักลงทุนจึงต้องการรู้ว่าแนวโน้มของทองคำที่ผ่านมาจะยังสามารถดำเนินต่อไปหรือจะลดความร้อนแรงลง ในอดีตตลาดมักมองเฉพาะที่อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในการกำหนดมุมมองเกี่ยวกับทองคำ ซึ่งหากมองจากแนวทางดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งแรกปี 2567 นั้นน่าจะส่งผลเชิงลบต่อทองคำ แต่ราคาทองกลับพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง และมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในตลอดทั้งไตรมาสที่ 2”

ทั้งนี้ สภาทองคำโลกคาดว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางในปีนี้จะยังคงสูงกว่าแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับ Metals Focus โดยการคาดการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานผลการสำรวจจากธนาคารกลางของสภาทองคำโลกที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองทองคำยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำต่อไป อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าธนาคารกลางบางแห่งซึ่งรวมถึงธนาคารประชาชนจีน (PBoC) นั้นได้ปรับลดปริมาณการซื้อทองคำลง นักลงทุนชาวเอเชียยังได้มีบทบาทสำคัญต่อผลการดำเนินงานของทองคำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ รวมถึงการไหลเข้าของกระแสการลงทุนใน ETF ทองคำในไตรมาส 2 ‎ของปี 2567‎

นายเซาไก ฟาน หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลกกล่าวว่า “ความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ได้เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับจำนวน 9 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับไตรมาสที่ 2 และแม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งสูงขึ้น ความต้องการทองคำทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1,258 ตัน และถือเป็นไตรมาส 2 ของปีที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา เมื่อมองไปในอนาคต คำถามคือมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะผลักดันให้ทองคำยังคงมีความน่าสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ในกลยุทธ์การลงทุนต่อไป จากการคาดการณ์และรอคอยมาเป็นระยะยาวนานว่าธนาคารกลางสหรัฐ ฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้ ทำให้กระแสการลงทุนได้ไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจากตะวันตกหันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง การฟื้นตัวของการลงทุนจากกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อาจเปลี่ยนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของความต้องการทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2567”‎


โดยสรุปแล้วทองคำอาจยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่จำกัด (Rangebound) หากธนาคารกลางสหรัฐใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มททที่ทองคำจะมีผลตอบแทนสูงกว่าจากจุดนี้ โดยอาจเกิดจากแรงหนุนของกระแสการลงทุนในฝั่งตะวันตก ในทางกลับกันหากความต้องการทองคำของธนาคารกลางลดลงอย่างมาก และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอเชียเปลี่ยนไป นักลงทุนอาจเห็นการปรับฐานช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้แสดงให้เห็นว่าทองคำมีบทบาทสำคัญในการกระจายความเสี่ยง และเป็นแหล่งสภาพคล่องทางการเงิน ควบคู่ไปกับการให้ผลตอบแทนระยะยาวในเชิงบวก

YLG มองช่วงนี้ปรับฐาน ลุ้นเป้าหมายใหม่ 43,000 บ.

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)เปิดเผยว่าจากสถิติแล้วภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาทองคำเดือนกันยายน ไม่ค่อยสดใสมากนัก โดยหากย้อนดูเดือนกันยายน ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จะเกิดการปรับฐานโดยเฉลี่ยราว 2-3% อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ทองคำปรับฐานลงไปไม่ลึกเท่าสถิติที่ผ่านมา หรือมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องจนทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำการปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 0.50% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องรอลุ้น หรือกรณีที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% ทองคำก็อาจถูกแรงขายทำกำไรในช่วงสั้นได้ แต่มองยังจำกัด เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับราคาทองคำยังคงมีมุมมองเชิงบวกอยู่ มองว่าหากผ่าน 2,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ไปได้ ก็จะไปที่เป้าหมายถัดไป 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เพราะนอกจากเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเฟดแล้ว ยังมีปัจจัยพื้นฐานในด้านอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนราคา โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ จะยังเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนให้ยังคงต้องการถือครองทองคำไว้ในพอร์ตการลงทุนไว้ อย่างน้อย 5-10% ของพอร์ตการลงทุนรวม หรือพอร์ตที่ความเสี่ยงที่สูงก็ควรถือเพิ่มขึ้นมาได้ถึง 15%

นอกจากนี้ ในระยะยาวยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก การเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก สะท้อนผ่านข้อมูลจากสภาทองคำโลก ที่ได้รายงานตัวเลขการเข้าซื้อทองคำในครึ่งแรกปี 2567 อยู่ที่ 483 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณการเข้าซื้อในครึ่งปีแรกที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา แสดงให้เห็นว่าทองคำยังมีความต้องการที่แข็งแกร่ง และรวมไปถึง กองทุน ETF ทองคำ ที่เริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ราคาทองคำในประเทศนั้น ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาทองคำในตลาดโลก แม้ว่าจะปรับขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งมองว่า หากราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวขึ้นสู่กรอบเป้าหมาย 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เป้าหมายถัดไปของราคาทองคำแท่งในประเทศจะอยู่ที่ 42,850-43,000 บาทต่อบาททองคำ (อัตราแลกเปลี่ยน 34.10 บาทต่อดอลลาร์)

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นราคาทองคำปรับตัวลดลงเพื่อรอความชัดเจนของเฟดนั้น แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเก็งกำไร ให้รอการย่อตัวสร้างฐานแล้วทำการเข้าซื้อเล่นสั้น โดยมีแนวรับที่ 2,484-2,465 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ส่วนแนวต้านมองที่ 2,532-2,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ส่วนทองคำในประเทศมองแนวรับที่ 40,350-40,050 บาทต่อบาททองคำ ส่วนแนวต้านมองที่ 41,100-41,400 บาทต่อบาททองคำ
กำลังโหลดความคิดเห็น