xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพงษ์”เปิดแนวคิดแก้หนี้รถไฟ 3 แสนล. เตรียมถกคลังแฮร์คัทเคลียร์บัญชีค่า PSO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุรพงษ์”เปิดแนวคิดแก้หนี้รถไฟ กว่า 3 แสนล้าน ชี้ ค่าPSO ก้อนโตเหตุรัฐจ่ายชดเชยต่ำกว่าจริงเตรียมถก“คลัง- สำนักงบ”ขอแฮร์คัท หรือวิ่งเท่าที่รัฐอุดหนุนจริง เร่งโล๊ะรถร้อน เปลี่ยนติดแอร์ หวังทางคู่เสร็จครบ เปิด SLOT เอกชนเช่ารางร่วมวิ่ง ชี้เป็นภารกิจเร่งด่วนผู้ว่าฯคนใหม่

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีรวมกว่า 3.1 แสนล้านบาทว่า ภาระหนี้ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการเชิงสังคม (PSO) ที่เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งพ.ร.บ.การรถไฟฯ กรณีบริการเชิงสังคมขาดทุน รัฐต้องจ่ายชดเชยให้รฟท.แต่ข้อเท็จจริง รัฐจ่ายชดเชยให้ไม่ครบจำนวนที่เกิดขึ้นจริงจึงกลายเป็นภาระหนี้สะสมและเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเฉลี่ยมีต้นทุนบริการเชิงสังคมประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท/ปี แต่รัฐจ่ายชดเชยเพียง 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้รถไฟ เป็นองค์กรใหญ่ และมีแผนงานลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง “ไทย-จีน” วงเงินมหาศาล และเป็นระบบรางเส้นทางหลักในการเดินทางของประเทศ แต่กลับมีหนี้สินล้นพ้นตัว


นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตนจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาเรื่องหนี้ PSO หรือตัดหนี้ส่วนนี้ออกจากรฟท. จะตั้งทีมงาน เพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางที่เหมาะสม โดยไม่กระทบต่อการให้บริการและไม่เป็นภาระของกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ใช้บริการเชิงสังคม เพราะจะมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นเครื่องมือในการแยกกลุ่มเปราะบางซึ่งรัฐมีการอุดหนุนกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยจะต้องมีการหารือผู้เกี่ยวข้องกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหากปลดภาระหนี้สินออก เพื่อให้รฟท.สามารถบริหารจัดการได้ตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีแนวทางชัดเจนในปี 2568

“ต้องถามรัฐบาลว่าภารกิจเชิงสังคมนี้ ไม่บันทึกเป็นหนี้ได้หรือไม่ หรือ ไม่ต้องลงบัญชีรถไฟ หรือให้รฟท.บริการเท่ากับจำนวนที่รัฐอุดหนุนได้หรือไม่ เพราะจริงๆ ถือเป็นบริการที่รัฐให้ทำแต่รัฐไม่อุดหนุนตามจำนวน รถไฟจึงเป็นจำเลยสังคม ว่าบริหารไม่ดี ขณะที่รฟท.ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมา 34 ปีแล้วด้วย”


นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟมีบริการ รถเชิงสังคม (PSO) ประมาณ 26 ล้านที่นั่งต่อปี แต่มีผู้โดยสารประมาณ 18.7 ล้านที่นั่งเท่านั้น เท่ากับมีหรือไม่มีคนใช้ รถไฟก็ต้องวิ่งเท่าจำนวนนี้ ในขณะที่รถเชิงพาณิชย์ มีบริการประมาณ 9.1 ล้านที่นั่งต่อปี แต่มียอดจองเต็ม และพบว่า มีความยอดจองรอตั๋วอีกจำนวนมาก แสดงว่า รถเชิงพาณิชย์ มีน้อยกว่าความต้องการ ส่วนรถเชิงสังคมมีเกินความต้องการ

ซึ่งรฟท.จะอยู่สถภาพนี้ต่อไปไม่ได้ จะต้องหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้รฟท.ดีขึ้นกว่านี้ ซึ่งขณะนี้ รฟท.มีแผนเพิ่มขบวนรถเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการเดินทาง โดยดำเนินการปรับปรุง รถโดยสารชั้น 3 (พัดลม) เป็นรถปรับอากาศ เป้าหมายสุดท้ายคือรถไฟไทยจะไม่มีรถร้อนอีกต่อไป ส่วนราคาจะปรับเพิ่มแค่ไหนอย่างไร นั้นจะมีการพิจารณาต่อไป หลักการคือ กลึ่มเปราะบางจะไม่กระทบเพราะมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ


นายสุรพงษ์กล่าวว่า หลังโครงการรถไฟทางคู่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ รฟท.จะต้องปรับการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์จากทางคู่มากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้รางเพียง 20 % ที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นใช้ประโยชน์จากรางของระบบทางคู่ 70-80% รายได้จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยให้มากขึ้น โดยใช้รูปแบบเหมือนสายการบิน จัดการใช้ประโยชน์ทางรางเพิ่ม SLOT เวลาบนราง กม.นี้จะเปิดโอกาสให้เอกชนมาเดินรถบนรางได้ด้วย ซึ่งพ.ร.บ.การขนส่งทางราง... จะเป็นเครื่องมือช่วยให้นำรางมาใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การขนส่งสินค้า ซึ่งประเมินค่าใช้รางอัตรา 20 บาทต่อตันคิว ส่วนรถโดยสารนั้น จะเป็นการให้ใช้ทางฟรี เพราะหากรัฐเก็บค่าใช้รางส่วนนี้ ผู้ประกอบการจะ ไปบวกเพิ่มกับค่าโดยสาร ประชาชนก็รับภาระอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม นโยบายของคนตอนนี้ ถือว่า เรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ ภาระหนี้สินสะสมของรฟท. และเรื่องนี้ จะเป็นภารกิจสำคัญของผู้ว่าฯรฟท. คนใหม่ อีกด้วย ที่จะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการองค์กรปรับปรุงและแก้ปัญหาขององค์กร
กำลังโหลดความคิดเห็น