xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ"ลุยรถไฟฟ้า 20 บาท ดึงรายได้รฟม.หนุนตั้งกองทุนชดเชยทุกสายมิ.ย.68 พร้อมลงทุนโปรเจ็กต์ยันไม่เกินเพดานหนี้ 70%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ"ฟุ้งผลงาน 1 ปี เดินหน้านโยบายเรือธง”รถไฟฟ้า 20 บาท ตามเป้ามั่นใจก.ย.68 ใช้ได้ทุกสาย “แลนด์บริดจ์”เกิดแน่ พร้อมดันโปรเจ็กต์”มอเตอร์เวย- รถไฟทางคู่- ไฮสปีด-สนามบิน”ครบโหมดชงครม.ใหม่ ไม่ห่วงลงทุน ยันเงินกู้ไม่เกินเพดานหนี้ประเทศ 70%

วันนี้ (10 ตุลาคม 2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

นายสุริยะกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ตนได้เข้ารับตำแหน่งรมว.คมนาคมซึ่งครบเวลา 1 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้แปรนโยบายไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านคมนาคมขนส่งและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับการให้บริการ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วน สนับสนุนการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล


@เดินหน้ารถไฟฟ้า 20 สายครบทุกสาย ก.ย 68

ในปีที่ผ่านมาได้ผลักดันนโยบายรถไฟฟ้าอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตลอดสายนำร่องกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และ MRT สายสีม่วง ตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 ซึ่งประชาชนตอบรับดี ทำให้ ทั้ง 2 สาย มีผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นถึง 26.39% และจากแผนที่คาดว่ารายได้จะกลับมาเท่าก่อนใช้มาตรการในเดือน พ.ค. 69 (ภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย) หากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้รายได้กลับมาเท่าเดิมเร็วขึ้นภายในปี 68

ส่วนรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ จะผลักดันนโยบาย 20 บาทตลอดสายภายในเดือน ก.ย. 68 เพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาการเดินทาง ซึ่งต้องดำเนินการเรื่องกฎหมาย 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ....เป็นกฎหมายที่สามารถกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าร่วมโครงการ ส่วนร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งจะมีการตั้งกองทุนฯ เพื่ออุดหนุนและชดเชยรายได้ ซึ่งแหล่งเงินกองทุน จะมาจากทั้งงบประมาณ และขอสนับสนุนเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แต่ร่างพ.ร.บ. ยังมีขั้นตอนต้องดำเนินการในเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด จึงให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและประสานในทุกขั้นตอน เพราะหลังครม.เห็นชอบ ต้องเสนอผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนจะทูลเกล้าฯ


@มั่นใจ มิ.ย.68 ปิดตำนาน”พระราม 2 “ถนน 7 ชั่วโครต

นายสุริยะกล่าวถึงการเร่งรัดก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เพื่อปิดตำนาน “ถนน 7 ชั่วโคตร” ว่า ได้แก้ไขอุปสรรคทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน จากเดิมที่งานล่าช้าเพราะผู้รับเหมาทำงานได้เฉพาะเวลากลางคืน ประกอบกับมีปัญหาขาดสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด-19 ล่าสุดครม. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ได้อนุมัติงบกลาง วงเงิน 600.35 ล้านบาท จ่ายเงินชดเชย ค่า K ให้บริษัทรับเหมาที่ทำงานบนถนนพระราม 2 ขณะนี้มั่นใจว่า เวลาที่เหลือ จะทำได้ตามเป้าหมาย โดยอีกไม่เกิน 6 เดือนจะลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้า

“ถนนพระราม 2 ในส่วนของพื้นราบจะต้องเสร็จทั้งหมดภายใน ธ.ค. 2567 เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงปีใหม่ 2568 ส่วนทางยกระดับ (M82) สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว จะเสร็จมิ.ย. 2568 สามารถเปิดทดลองวิ่งได้ ส่วนทางด่วนสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-ถ.วงแหวนรอบนอกฯ ล่าสุดคืบหน้า 81% เปิดวิ่งตลอดสาย มิ.ย. 2568”

@เดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์”มอเตอร์เวย- รถไฟทางคู่- ไฮสปีด-สนามบิน”ครบโหมด

นายสุริยะกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาได้เร่งรัดงานก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา ที่มีปัญหาสะสมให้แล้วเสร็จ จนสามารถกำหนดการให้บริการประชาชนเพิ่มเติมช่วงหินกอง-สระบุรี ได้ในช่วงปีใหม่ 2568 และเปิดตลอดสายเต็มรูปแบบ ปีใหม่ 2569 เร่งรัดโครงการมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เปิดตลอดสายภายในปี 2568 รวมถึงในส่วนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้มอบกรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ทันภายในปี 2568 เป็นต้น

สำหรับโครงการก่อสร้างที่มีปัญหาล่าช้า เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย -จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ –นครราชสีมา ได้กำชับไม่ให้ขยายสัญญาก่อสร้างออกไปอีก ซึ่งงาน 14 สัญญานั้น ให้ลงนามและเริ่มงานก่อสร้างทั้งหมดภายในปี 2567 รวมถึงเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งเจรจาแก้ปัญหา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยเร็ว คาดว่า EEC จะเสนอ ครม. เร็วๆนี้


@มั่นใจลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ 70%

นายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนโครงการจำนวนมาก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีการใช้งบประมาณ และเงินกู้ ซึ่งอาจจะกระทบเพดานหนี้สาธารณะได้ ทั้งนี้ ตนได้เคยรวบรวมการลงทุนของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงอื่นๆ มาพิจารณาพบว่า ยังอยู่ในเพดานเงินกู้ 70% ซึ่งในการใช้จ่ายเช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เมื่อมีการลงนามและเริ่มก่อสร้าง จะแบ่งการจ่ายเงินรายปี ไม่ได้จ่ายทีเดียวพร้อมกัน ดังนั้น จึงไม่กระทบต่อเพดานเงินกู้แต่อย่างใด

สำหรับโครงการเร่งด่วน ที่พร้อมเสนอครม.ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ซึ่งได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) พิจารณาแล้ว ,มอเตอร์เวย์ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ,มอเตอร์เวย์ M5 ต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ สายรังสิต-บางปะอิน ,รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วง รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย

นอกจากนี้ จะเดินหน้า มอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม - ปากท่อ - ชะอำ ศึกษาปรับปรุงการออกแบบโช่วงนครปฐม - ปากท่อ ให้สามารถนำเสนอครม.อนุมัติและเริ่มก่อสร้างในปี 2568 รวมถึงปรับปรุงแบบ และแก้ไขปัญหาช่วงปากท่อ – ชะอำเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2569

แผนระยะกลาง จะเป็นการนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) เพิ่ม Capacity จาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคนต่อปี เริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 ,พัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพิ่ม Capacity จาก 30 ล้านคนต่อปีเป็น 40 ล้านคนต่อปี เริ่มก่อสร้างต้นปี 2569 ,พัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพิ่ม Capacity จาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี เริ่มก่อสร้างในปี 2569 ,พัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพิ่ม Capacity จาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี เริ่มก่อสร้างปี 2569 และพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1เพิ่ม Capacity จาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปีเริ่มก่อสร้างปี 2569


ในส่วนของโครงการ Landbridge นั้น เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล ยืนยันเดินหน้าต่อแน่นอน โดยภาครัฐรับผิดชอบค่าเวนคืนเท่านั้น ส่วนใหญ่ เอกชนลงทุน ซึ่งหากขาดทุนก็เป็นความเสี่ยงของเอกชน แต่จากโรดโชว์พบว่า เอกชนสนใจโครงการนี้อย่างมากจึงเชื่อว่า เมื่อ พ.ร.บ. SEC ได้รับความเห็นชอบ และเปิดประมูล เชื่อว่า เอกชนจะเข้าประมูลหลายรายแน่นอน โดยผู้เสนอผลตอบแทนรัฐสูงสุด จะเป็นผู้ชนะ และเชื่อว่าโครงการนี้จะได้รับผลตอบแทนที่ดี

ล่าสุดอยู่ในช่วงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลต่าง ๆ เบื้องต้นคาด พ.ร.บ. SEC จะเริ่มประกาศใช้ในช่วงปี 2568 และจะดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในปลายปี 2573 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น