xs
xsm
sm
md
lg

'บิ๊กโจ๊ก' แพ้กลางศาล 'บิ๊กเต่า' ไม่ได้หมิ่นฯ มโนไปเองว่า ถูกพาดพิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



'บิ๊กโจ๊ก' แพ้กลางศาล 'บิ๊กเต่า' ไม่ได้หมิ่นฯ มโนไปเองว่า ถูกพาดพิง

หลังจากเป็นข้อพิพาทกันมานานตั้งแต่ต้นปีจากกรณีพล.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง 'บิ๊กเต่า' พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาตำรวจสอบสวนกลาง ต่อศาลอาญาข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าบิ๊กเต่าให้สัมภาษณ์พาดพิงบิ๊กโจ๊กในทางเสียหาย ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมาอาญา ในที่สุดศาลอาญาก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กันยายน เท่ากับว่าบิ๊กโจ๊กต้องแพ้ราบคาบไปโดยปริยาย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ศาลอาญายกฟ้อง เนื่องจากศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความได้ความว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่แล้ว ยังต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ  และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น ต้องพิเคราะห์ว่า ผู้อ่านหรือฟังข้อความสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างนั้นเป็นผู้ใด  

ศาลอธิบายอีกว่า ข้อความที่โจทก์อ้างว่าทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนทรยศหักหลังต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชานั้น  เมื่อพิจารณาบทสัมภาษณ์ข้อความที่จำเลยตอบสื่อมวลชนดังที่ปรากฏข้างต้นมิได้ระบุชื่อโจทก์  แม้สื่อมวลชนซักถามจำเลยโดยใช้คำว่า “นายตำรวจท่านนี้” แต่จำเลยตอบโดยกล่าวอ้างถึง “ทีมงานที่ถูกดำเนินคดี” ถ้อยคำที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อมาจึงเชื่อมโยงกับคำว่า “ทีมงานที่ถูกดำเนินคดี หรือกลุ่มผู้ต้องหา” ว่าอย่าทรยศองค์กร พฤติการณ์การทรยศองค์กรหรือทรยศเจ้านายนั้นเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกคนมิใช่เหตุการณ์พิเศษที่มีเพียงโจทก์ที่อาจเคยถูกกล่าวหาอันจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปเมื่อได้ยินหรือได้อ่านถ้อยคำดังกล่าวแล้วจะสามารถทราบได้ทันทีว่าหมายถึงโจทก์เท่านั้น  

ส่วนกรณีที่โจทก์อ้างว่าคำว่า “ผู้บังคับบัญชา” ที่จำเลยกล่าวหมายถึงโจทก์ และเป็นการชี้นำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดนั้น ศาลเห็นว่า ข้อความที่จำเลยตอบสื่อมวลชนดังกล่าว ช่วงที่ระบุถึงผู้บังคับบัญชานั้น มุ่งเน้นกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นไปตามวิธีการปฏิบัติงานของข้าราชการที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด แต่บุคคลทั่วไปย่อมทราบดีว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยงาน  มีผู้บังคับบัญชาหลายคนหลายระดับหาใช่มีเพียงโจทก์เท่านั้น

ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าไต่สวนจึงไม่มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษายกฟ้อง และไม่รับฟ้องส่วนแพ่งคืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์
กำลังโหลดความคิดเห็น