xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายด่วน“อุ๊งอิ๊ง” พื้นที่ทับซ้อน-บ่อน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


แพทองธาร ชินวัตร - ฮุนเซน
เมืองไทย 360 องศา

เผยออกมาให้เห็นแล้ว สำหรับนโยบายเร่งด่วน 10 ประการ ของรัฐบาลใหม่ ที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีกำหนดแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 12 กันยายน ก่อนการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ มีการสรุปดังนี้

นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ

นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนา ระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี

นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และ ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ

นโยบายที่หก รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จ ในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย

นโยบายที่แปด รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

นโยบายที่เก้า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ

นโยบายที่สิบ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ

นั่นคือ 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็ดูดี มีความเข้าใจปัญหา แต่ขณะเดียวกันมันก็ซ่อนเอาไว้ด้วย “ความเสี่ยง” และความ “อ่อนไหว” โดยเฉพาะนโยบายตั้งแต่ ข้อที่ 3 เป็นต้นไป ในเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อน” กับกัมพูชา ที่เริ่มกลับมาเจรจากันอย่างจริงจังอีกครั้ง นับตั้งแต่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน และหลังจากที่ นายฮุนเซน ประธานรัฐสภา อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของกัมพูชาเข้าเยี่ยม นายทักษิณ ชินวัตร เป็นคนแรก หลังจากได้รับการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อหลายเดือนก่อน และตามมาด้วยการเยือนกัมพูชา ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขณะที่ยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามคำเชิญของนายฮุนเซน

ที่ต้องบอกว่าประเด็นนี้เป็นเรื่อง “อ่อนไหว” เพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศ เกี่ยวข้องกับดินแดนในชายแดนด้านตะวันออกเรื่อยมาจนถึง “เกาะกูด” ของไทย ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนมองว่ามัน “ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน” แต่มันเป็นพื้นที่ของไทย โดยกินเนื้อที่ราว 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร และที่ผ่านมารัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร โดยลงนามเอ็มโอยูเมื่อปี 2544 รับรองพื้นที่ทับซ้อนและทำให้ไทยเสียเปรียบ

การเดินหน้าเจราจาเรื่องนี้ รับรองว่าต้องถูกมองว่า มี “ว่าซ่อนเร้น” ระหว่างคนในรัฐบาลชุดนี้ แน่นอนว่า ย่อมต้องเพ่งมองไปที่ นายทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามสานต่อเรื่องดังกล่าว โดยสังเกตได้จากการเอาจริงเอาจังมาตั้งแต่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีการริเริ่มเจรจามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ กับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลูกชายที่สืบทอดอำนาจมาจากพ่อ คือนายฮุนเซน ดังนั้นการเดินหน้าและเป็นหนึ่งในเรื่อง “เร่งด่วน” ยิ่งทำให้กลายเป็นเรื่องตื่นตัวของประชาชนอีกครั้งแน่นอน

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกลายเป็นเรื่องอ่อนไหว และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งก็คือ “สถานบันเทิงครบวงจร” หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ มันก็แฝงไปกับ “การเปิดบ่อนถูกกฎหมาย” หรือที่เรียกกัน “บ่อนเสรี” นั่นเอง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีความเอาจริงเอาจังมาก โดยเฉพาะการส่งสัญญาณ มาจากนายทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำว่ารัฐบาลต้องดำเนินการอย่างแน่นอน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล ยังอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาบ่อนการพนันผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย สร้างรายได้ สร้างภาษีจำนวนมาก แทนที่จะสูญเสียเงินตราให้ต่างประเทศ จากบ่อนการพนันในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งยกตัวอย่างให้เห็นถึงรายได้ของประเทศเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี มีเสียงคัดค้านก็ดังขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์ใดๆ จากนโยบายแบบนี้ เป็นธุรกิจที่ไม่ควรส่งเสริมไม่ว่าจะถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย มันเกี่ยวข้องกับเรื่องเรื่องศีลธรรมและอบายมุข ไม่ควรไปเฉียดใกล้ ขณะเดียวกันแม้ว่าเมื่อมีบ่อนการพนันถูกกฎหมายแล้ว อ้างว่าบ่อนการพนันผิดกฎหมายจะหายไป หรือลดน้อยลงนั้น ก็มีเสียงแย้งว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะบ่อนถูกกฎหมายดังกล่าวแม้ว่าจะมีเงื่อนไขสำหรับคนมีรายได้สูง และคนต่างชาติ แต่เชื่อว่าบ่อนใต้ดินแบบเดิมก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม มีการส่งและรับส่วยกันอยู่เหมือนเดิม แต่เชื่อว่ารัฐบาลนี้เดินหน้าเต็มสูบ เนื่องจากมีผลประโยชน์มหาศาลรออยู่

สำหรับนโยบาย “เปิดบ่อน” หรือ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ย่อมพ่วงมาด้วยการให้ต่างด้าวเช่าที่ดิน 99 ปี ที่หลายคนวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า นี่คือการ “ขายชาติ” รูปแบบใหม่ ที่พ่วงมากับผลประโยชน์ทับซ้อนมากับธุรกิจด้าน “อสังหาริมทรัพย์” ของบางครอบครัว

นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่เวลานี้ถือว่าเป็น ไฟต์บังคับต้องเดินต่อ เพียงแต่คำถามก็คือ จะไปต่อให้สุดอย่างไร จะ“เอาเงินมาจากไหน” มาแจกให้ครบ 45 ล้านคน จำนวน 4.5 แสนล้านบาท และหากบอกว่าแจกเป็นเงินสดแล้วมันจะเรียกว่าเป็นเงิน “ดิจิทัล” ได้อย่างไร หรือในเฟสแรก แจกเป็นเงินสดให้กลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน แล้วเฟสต่อไปจะเป็นเงินดิจิทัล จะไม่มีเสียงโวยวายตามมาหรือ เพราะทุกคนอยากได้เป็นเงินสด เพราะใช้ได้ไม่มีขีดจำกัด

นั่นคือ นโยบายเร่งด่วนอ่อนไหวอย่างแรงสำหรับรัฐบาล ที่เสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน เนื่องจากเห็นว่าเต็มไปด้วย “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เสี่ยงต่อการทุจริต และเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรเชื่อว่าต้องมีการเดินหน้าเต็มตัว เพราะได้รับสัญญาณชัดจาก “เจ้าของ” มาแล้ว !!

กำลังโหลดความคิดเห็น