แสดงพลังปกป้อง “ทิชา ณ นคร” ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก หลังกรมพินิจฯ แจ้งตัดงบประมาณตำแหน่ง "ป้ามล" อ้างผลงานดีทำผิดซ้ำแค่ 6% ยื่นเรื่องต่อ รมว.ยุติธรรม ขอให้ทบทวน สาย NGOs ด้วยกันบอกส่วนใหญ่รับเงินสนับสนุนจากรัฐมักไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาก็ชัดเลือกข้างไหน บุ้ง-หยก-ตะวัน-แฟรงค์ เพจสายส้มช่วยกระทุ้ง ส.ส.ส้มยกไปถกกันในอภิปรายงบประมาณ
เรื่องของ “ป้ามล” บ้างก็เรียกว่า “ยายชา” หรือนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งเธอเองเคยให้สัมภาษณ์จะเรียกว่า “คุกเด็ก” ก็ได้ กำลังสื่อสารต่อสังคมถึงสถานะของเธอในตำแหน่งผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ
ป้ามลได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thicha Nanakorn เมื่อ 24 สิงหาคม 2567 ว่า 31 กรกฎาคม 67 กองทรัพยากรบุคคลกรมพินิจฯ แจ้งว่า งบปี 68 ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชน ที่ทิชาครองในฐานะ ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก งบนี้จะถูกตัด หรือยุติการทำหน้าที่ ผอ.บ้านกาญจนาภิเษกนั่นแหละ
รู้สึกตลก ไม่ได้รู้สึกตกใจที่ต้องหยุดทำงานนี้สักที หลังทำมา 20 ปี 20 ปีบ้านกาญจนาภิเษกฝ่าอำนาจนิยมสู่อำนาจร่วม
ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น คือ ความคิดเชิงระบบของคนในระบบราชการมันไม่มีจริง หลงทางกันแบบ “งานตามหาคนหายที่ว่าแน่ก็ต้องแพ้พ่าย”
แม้ระบบบ้านกาญจนาภิเษกตอบโจทย์ การลดการกระทำผิดซ้ำของเยาวชนที่ถูกพิพากษา
แต่ แต่ แต่ ก็เรื่องของคุณ ไม่ใช่เรื่องของฉัน ทั้งที่ต้องใช่ เพราะราชการใช้เงินภาษี แต่ไม่ตอบโจทย์สักที ไม่ว่าเกษียณกี่อธิบดี กี่ปลัดกระทรวง เปลี่ยนกี่ รมว. กี่รัฐบาล
หลังไมค์ มีสงสาร เห็นใจ เศร้า และสุ้มเสียงเตือนป้าอ่อยๆ ประมาณว่า ”ป้าหนักการเมือง ยุ่ง 112 วิจารณ์ราชการ มากไปมั้ย”
ไม่รู้ รู้แต่ว่า ฉันเป็นทั้งคนไทย ทั้งพลเมือง ทั้งพสกนิกร ทั้งป้ามล ไม่เปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น ไม่ย้ายจุดยืน ไม่ย้ายประเทศ ไม่ถอย ไม่ต้องสงสาร เห็นใจ กระตุกเตือน แอบสมน้ำหน้า 555
กรมพินิจฯ แจงกำลังพิจารณา
จากนั้นกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ออกหนังสือเมื่อ 29 สิงหาคม 2567 ชี้แจงกรณี ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก ประกาศยุติเส้นทางการทำงาน
สืบเนื่องจากกรณีข่าว ยุติเส้นทาง 20 ปี ป้ามล แห่งบ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจฯ แจ้งตัดงบตามที่เป็นข่าวนั้น
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ขอเรียนชี้แจงว่า กรอบพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ 2564-2567) ที่กรมพินิจ ได้รับการจัดสรรจะสิ้นสุดลงในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำนักงาน ก.พ.ได้แจ้งให้ส่วนราชการทบทวนการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 6 (ปีงบประมาณ 2568-2571) โดยมีแนวทางหรือมาตรการปรับลดกรอบอัตรากำลังพนักงานราชกรในภาพรวม โดยเฉพาะพนักงานราชการกลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะและกลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งให้พิจารณาจัดสรรให้สำหรับตำแหน่งที่มีลักษณะทาง หรือเป็นงานที่หาผู้ปฏิบัติงานได้ยาก หรือมีการแข่งขันูงนตลาดแรงงาน หรือมีอัตราค่าตอบแทนแตกต่างจากการจ้างงานโดยทั่วไป และเป็นตำแหน่งงานที่ไม่มีการจ้างงานในระบบราชการประจำเท่านั้น
สำหรับกรณีของบ้านกาญจนาภิเษก เป็นการพิจารณากรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ กลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะ ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งอยู่ในจำนวนกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 6 (ปีงบประมาณ 2568-2571) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณากรอบอัตรากำลังดังกล่าวจากสำนักงาน ก.พ. โดยคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (ค.พ.ร.)
ทั้งนี้ ในการขอกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือส่วนราชการทุกแห่ง ต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ ตามกรอบอัตรากำลังที่ขอในทุกมิติ เพื่อประกอบการพิจารณาในการต่อสัญญาจ้างต่อไป
แสดงพลังยื่นเรื่องทวี สอดส่อง
ตามมาด้วยศิษย์เก่าบ้านกาญจนาภิเษก ยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อ 2 กันยายน 2567
โดยเครือข่ายเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในนามกลุ่มผู้ถูกเจียระไน เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อการให้ยุติบทบาท นางทิชา ณ นคร หรือ "ป้ามล" ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า บ้านกาญจนาภิเษก เปิดมา 20 กว่าปีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพราะการกระทำผิดซ้ำน้อยมาก และทันสมัยในรูปแบบพิเศษ ตามมาตรา 55 ไม่ใช่หน่วยงานราชการ แต่เป็นสถานที่ฝึกอบรมและศูนย์ฝึกสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งรูปแบบของบ้านกาญจนาภิเษก ไม่ได้มีแค่แห่งเดียว แต่อาจจะมีในหลายแห่งในอนาคต
นางนลินนาถ ไกรนรา รองอธิบดีกรมพินิจฯ เปิดเผยว่า กรมพินิจฯ มีแนวทางในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเยาวชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งคือรูปแบบของบ้านกาญจนาฯ ยืนยันว่าจะรักษาไว้ไม่สามารถตัดทิ้งได้ ส่วนตำแหน่งของนางทิชาจะเป็นการประเมินตามผลงานปกติ จะไม่มีเรื่องการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นเรื่องระบบราชการมาเกี่ยวข้อง
หนังสือที่ส่งข้อเรียกร้องถึงกระทรวงยุติธรรมและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 5 ข้อ คือ
1.ขอให้อธิบดีกรมพินิจศึกษาทบทวนที่มาที่ไป รวมถึงเป้าหมายร่วมเพื่อลดการกระทำซ้ำของเยาวชนที่ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก
2.ขอให้อธิบดีกรมพินิจฯ คนปัจจุบันชี้แจงต่อสังคมถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานและแนวทางการทำงานใหม่ๆ ของบ้านกาญจนาภิเษก ตามมาตรา 55 พระราชบัญญัติศาลเยาวชน พ.ศ.2553
3.ขอให้อธิบดีคนปัจจุบันเร่งเสนอ ไม่มีการรับรองบ้านกาญจนาฯ เป็นศูนย์ฝึกเอกชน ตามมาตรา 55
4.ขอให้มีการขยายผล หรือสนับสนุนแนวทางการดูแลเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เนื่องจากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถ ทำให้เด็กกลับใจไม่กระทำผิดซ้ำอีกสูงถึง 90-95%
5.ขอให้ชี้แจงความชัดเจนว่าระบบ กระบวนการต่างๆ ของบ้านกาญจนา ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนที่ทำผิดได้จริงจะยังคงอยู่อย่างมีหลักประกัน
เข้ามาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ
วันรุ่งขึ้น (3 ก.ย.) ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก โพสต์ข้อความว่า 20 ปี บ้านกาญจนาฯ (พ.ค.2546) ความรู้สึกคือยาวนาน แต่โจทย์ที่ผู้เกี่ยวข้องออกแบบและทิชาเป็นผู้ปฏิบัติการในตำแหน่ง ผอ.คนนอก โดยครองตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนของกรมพินิจฯ “เพื่อค้นหาเครื่องมือลดการกระทำผิดซ้ำของเยาวชน“ ไม่ใช่เข้าไปรับจ้างทำของ ทำงาน เพราะกรมพินิจฯ ขาดแคลนบุคลากรทั่วไป
ในที่สุดมีการค้นพบ โดยปรากฏในรูปหลักฐานเชิงประจักษ์ ผ่านทางเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำ 5-6% และเป็นผู้รอด ผู้ปกป้อง 90-95% แต่ก็พบเช่นกันว่านวัตกรรมที่บ้านกาญจนาฯ ค้นพบนั้น เข้ากันไม่ได้กับระบบอำนาจนิยมที่ลงลึกถึงระดับวัฒนธรรมองค์กร
ตามมาด้วย 4 กันยายน 2567 อธิบดีกรมพินิจฯ ให้สัมภาษณ์สื่อบางตอนที่สะท้อนวิสัยทัศน์ที่น่าจะประเมินผลในตำแหน่งอธิบดี ผู้ต้องรับผิดชอบนโยบาย บริหารนโยบาย “ไม่ผ่าน”
อธิบดีบอกว่า หากบ้านกาญจนาฯ ต้องยุติการทำงานไม่ต้องห่วงเพราะมีสถานที่รองรับเหลือเฟือ
ตั้งหลัก ตั้งหลัก ตั้งหลัก งานที่กรมพินิจฯ และเยาวชนที่กรมพินิจฯ ต้องรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่ขนาดของพื้นที่ ห้องนอน เสื้อผ้า อาหาร ของใช้ เครื่องพันธนาการ รวมถึงบุคลากรที่ครบทุกตำแหน่ง โดยไม่ยึดโยงวิธีคิด ปรับศาสตร์และไร้หัวใจความเป็นมนุษย์
แต่มันหมายถึงระบบนิเวศทั้งมวลในการดูแลมนุษย์ที่บาดเจ็บ โดยเฉพาะบาดเจ็บทางใจ จนเปลี่ยนเด็กน้อยที่เคยน่ารัก เป็นปีศาจ
ใช่ บาดเจ็บที่ไหน รักษาที่นั่นให้ดีที่สุด อำนาจนิยมต้องออกไป อำนาจร่วมต้องเข้ามา
ยุคลุงตู่ไม่มีปัญหา
แหล่งข่าวจากองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า พี่เขาแรงมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว สาย NGOs ด้วยกันก็รู้กันดี คนที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ อาจมีเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หรือได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐ ส่วนใหญ่จะทำงานไปตามภาระหน้าที่ที่มี ไม่ได้เปิดหน้าชนกับภาครัฐเหมือนพี่เขา เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่ทำได้ แต่การท้าชนกับภาครัฐที่เป็นเจ้าของเงินสนับสนุน ในฐานะคนฏิบัติงานแล้วไม่ใช่เรื่องดี
พี่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมาตั้งแต่ยุครัฐบาล พล อ.ประยุทธ์ คนทั่วไปก็รู้ว่าไปในแนวทางเดียวกับสีส้ม เข้าไปแสดงความเห็นอกเห็นใจน้องๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อต้านมาตรา 112 เช่น บุ้ง-หยก-ตะวัน-แฟรงค์ เชื่อว่าทุกคนก็เห็น ยุคนั้นมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรียุติธรรมก็ไม่มีปัญหาในเรื่องการจ้างงาน
ตอนนี้เป็นรัฐบาลเพื่อไทย เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พ ต.อ.ทวี สอดส่อง ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตามเดิม เหตุใดจึงเกิดเรื่องการปัญหาเรื่องอัตรากำลัง
“ยุคที่มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ เขายังไม่เล่นงานพี่ทิชาเลย ทั้งๆ ที่ถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำได้ ซึ่งช่วงที่บริหารประเทศนั้นมีช่วงที่ต้องต่ออายุการทำงานให้พี่ทิชา ทำไมเรื่องต่ออายุการทำงานของพี่ทิชาจึงเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้”
พรรคประชาชนหยิบมาถกในสภาฯ
แหล่งข่าวสังกัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า พนักงานราชการจะมีการประเมินเพื่อต่อสัญญา 2 ปีบ้างหรือ 4 ปีบ้าง พูดตามตรง ถ้ารัฐมนตรีจะเอาไว้จริงๆ ก็คงไม่มีปัญหา ส่วนจะเป็นการดึงเรื่องไว้ก่อนหรือไม่แล้วค่อยมาคืนตำแหน่งในภายหลังคงไม่มีใครตอบได้ เพราะตอนนี้โยนเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เรื่องอัตรากำลัง
ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีอยู่ทั่วประเทศ บ้านกาญจนาภิเษกถือเป็นอีกหนึ่งแห่ง แต่มีสถานะเป็นเอกชน ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ รวมไปถึงค่าตอบแทนของตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน
มันน่าลำบากใจนะ ผอ.บ้านกาญจนาฯ สถานะเป็นพนักงานราชการ แต่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง มีเรื่องของมาตรา 112 เข้ามาอีก เข้าไปทำอะไรก็เกิดปัญหาอย่างที่เห็น โพสต์ถึงเรื่องราวต่างๆ มากมาย มีเพจในสายที่สนับสนุนการเมืองขั้วที่ไปในทางเดียวกันเข้ามาหนุนพี่ทิชา รวมไปถึงนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคและกรรมการบริหาร พรรคประชาชน ได้นำเรื่องบ้านกาญจนาฯ พูดถึงในช่วงการอภิปรายงบประมาณ
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพจในหนุนแนวทางของการเมืองสีส้มจะเข้ามาช่วยกันเผยแพร่เรื่องของพี่ทิชา เนื่องจากที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกัน ส่วนการรวมตัวกันของศิษย์เก่าก็เป็นอีกหนึ่งในการแสดงพลังปกป้องผอ.บ้านกาญจนา ไปจนถึง ส.ส.พรรคประชาชน (ก้าวไกลเดิม) นำเรื่องนี้ไปพูดในสภาฯ
ตอนนี้พรรคประชาชนไม่ได้เปิดศึกกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวตามท้องถนนเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ อีกทั้งสายสนับสนุนการเมืองสีส้มถูกดำเนินคดีเยอะ บางส่วนติดเงื่อนไขที่ศาลให้ประกันตัว รวมไปถึงพรรคก้าวไกลเพิ่งถูกยุบ ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน การเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงนี้จึงค่อนข้างน้อย
นาทีนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าผลของการพิจารณาจะออกมาในลักษณะใด ถ้าอ้างกันถึงผลงานว่าเยาวชนที่ผ่านบ้านกาญจนาฯ มีอัตราการกระทำความผิดซ้ำต่ำเพียง 6% ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี การจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนศูนย์แห่งนี้คงมีต่อไป แต่ในแง่ของตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ที่อาจหมายรวมถึงตำแหน่งของทิชา ณ นคร อาจเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทนก็เป็นไปได้