พวกผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายมากกว่า 100,000 คน ชุมนุมกันทั่วฝรั่งเศสเมื่อวันเสาร์ (7 ก.ย.) เพื่อประท้วงต่อต้านการเสนอชื่อ มิเชล บาร์นิเยร์ นักการเมืองขวากลาง เป็นนายกรัฐมนตรี และประณามประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ว่า "ยึดอำนาจ"
กระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสเผยว่ามีประชาชน 110,000 คน ร่วมเดินขบวนบนท้องถนนทั่วประเทศ ในนั้นรวมถึง 26,000 คนในกรุงปารีส ขณะที่แกนนำฝ่ายซ้ายให้ตัวเลขมากกว่านั้น โดยบอกว่ามีประชาชนออกมาชุมนุมทั่วฝรั่งเศสประมาณ 300,000 คน
การชุมนุมมีขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส ในนั้นรวมถึงน็องต์ ทางตะวันตก นีซและมาร์กเซย์ ทางใต้ และสตาร์บัวร์ก ทางตะวันออกของประเทศ
มาครง ในวันพฤหัสบดี (5 ก.ย.) แต่งตั้ง มิเชล บาร์นิเยร์ ซึ่งเคยทำหน้าที่ผู้แทนเจรจาเบร็กซิตของสหภาพยุโรป เป็นนายกรัฐมนตรี ในความพยายามหาทางเดินหน้าตามหลังศึกเลือกตั้ง ซึ่งพันธมิตรสายกลางของเขามีคะแนนตามมาเป็นอันดับ 2
บานิเยร์ บอกในวันศุกร์ (6 ก.ย.) ว่าเขาเปิดกว้างสำหรับเสนอชื่อรัฐมนตรีที่มาจากทุกขั้วการเมือง ในนั้นรวมถึงคนจากฝ่ายซ้าย อย่างไรก็ตาม แนวร่วมฝ่ายซ้าย ซึ่งกลายมาเป็นกลุ่มการเมืองใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ตามหลังศึกเลือกตั้งช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ไม่อาจครองเสียงข้างมาก ได้ประณามการแต่งตั้ง บาร์นิเยร์ ของมาครง
แนวร่วมฝ่ายซ้ายต้องการให้ ลูซี คาสเตต์ นักเศรษศาสตร์วัย 37 ปี แคนดิเดตของพวกเขาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ มาครง ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว อ้างว่าเธอจะไม่รอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค
ระหว่างการชุมนุมในวันเสาร์ (7 ก.ย.) พวกผู้ประท้วงจำนวนมากส่งเสียงโกรธแค้นใส่ มาครง วัย 46 ปี และบางส่วนเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง
ฌอง-ลุค เมลองชอง ผู้นำซ้ายจัดที่พรรค LFI ของเขาและพันธมิตร เป็นหนึ่งในแนวร่วมฝ่ายซ้าย เรียกร้องให้ประชาชนออกมารวมตัวบนท้องถนน อ้างว่ามีการขโมยผลการเลือกตั้งไปจากประชาชนชาวฝรั่งเศส
ในวันเสาร์ (7 ก.ย.) เขาเร่งเร้าให้ฝ่ายสนับสนุนเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบ "จะเดินหน้าอย่างไม่มีการหยุด" เขาประกาศ "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ศิลปะแห่งการยอมรับเฉพาะตอนที่คุณเป็นฝ่ายชนะ แต่มันคือการยอมรับแบบอ่อนน้อมถ่อมตนตอนที่คุณเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เช่นกัน" เมลองชอง กล่าว ณ เวทีชุมนุมในกรุงปารีส
ตำรวจได้มีการจับกุมผู้ประท้วงไปอย่างน้อย 5 ราย ในปารีส
มารีน เลอ เปน แกนนำพรรคแนชันแนล แรลรี (อาร์เอ็น) พรรคขวาจัด บอกว่าพรรคของเธอจะไม่เข้าร่วมในรัฐบาลชุดใหม่ และเธอจะรอจนกว่า บาร์นิเยร์ แถลงนโยบายเป็นครั้งแรกต่อรัฐสภา ก่อนตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเขาหรือไม่
พรรคอาร์เอ็น ซึ่งกวาดเก้าอี้มาเป็นอันดับ 3 ในศึกเลือกตั้ง เน้นย้ำมาตลอดว่าพวกเขาจะขัดขวางแคนดิเดตจากแนวร่วมฝ่ายซ้าย โดยอ้างว่าแนวร่วมฝ่ายซ้ายเป็นตัวแทนของความอันตรายที่มีต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สันติสุขของพลเมือง และแน่นอนว่าเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของประเทศ
(ที่มา : เอเอฟพี)