จะว่าไป “ครม.อิ๊งค์ 1” ของ “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ไม่ได้พลิกไปจาก “โผ” ที่ปรากฏออกมาจากก่อนหน้านี้เท่าใดนัก โดยเฉพาะหลังจากมีความชัดเจนว่าจะถีบ “พรรคพลังประชารัฐ” ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ออกไปจากพรรคร่วมรัฐบาลและเชื้อเชิญ “พรรคประชาธิปัตย์” เข้ามา “เสียบ” แทน
นั่นก็คือเป็น ครม.ที่เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ตาม “โควต้า” ที่แต่ละพรรคได้รับ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ชัดเจนยิ่งก็คือ ภาพของความเป็น “ครม.ครอบครัว” หรือที่หลายคนใช้คำแรงๆ ว่า “ครม.สืบสันดาน” อันเป็นการนำชื่อซีรีย์ดังมาสัพยอกภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดนี้ ด้วยในจำนวนรัฐมนตรี 35 คน และ 1 นายกรัฐมนตรี มีจำนวนไม่น้อยที่ส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ทั้งแบบลูกแทนพ่อ-น้องแทนพี่ กระทั่งพ่อแทนลูก
ถึงขนาดที่ “นายกฯ แพทองธาร” ต้องร้องอุทานออกมาดังๆ ว่า “โห ใช้คำแรงจัง” พร้อมกับอรรถาธิบายว่า “จริงๆ มีหลายรูปแบบ และหลายๆ คนที่ไม่ใช่เป็นครอบครัว หรือเกี่ยวข้องกัน และมีหลายๆ คู่ที่เป็นครอบครัวต่อกันมา แต่อยากให้มองว่าเป็นความตั้งใจได้ไหม ที่มันถ่ายทอดกันมาในคนใกล้ชิดคนรู้จัก เพราะหลายๆ อย่างที่ต้องทำต้องใช้แรงผลักดัน อาศัยความภาคภูมิใจของคนข้างๆ คนรอบๆ ฉะนั้นคำว่าเป็นครอบครัวหรือเป็นอะไรมันไม่ใช่ข้อเสีย มันเป็นเรื่องของแรงผลักดันให้กันมากกว่า โดยเห็นว่าคนหนึ่งทำเพื่อประเทศแบบนี้ อีกคนหนึ่งในครอบครัวก็มีแรงผลักดันเช่นกัน มันเป็นแบบนั้น”
เอาเป็นว่า เริ่ม “สืบ” กันที่ “พรรคเพื่อไทย” ก่อนเป็นลำดับแรกก็แล้วกัน โดย “สืบ 1” จะเป็นใครเสียมิได้นอกจากตัว “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจากคุณสมบัติข้อไหน ทั้ง “วัยวุฒิ-คุณวุฒิ” หรือประสบการณ์การทำงาน ก็ยังมองไม่เห็นว่า มีอะไรโดดเด่น ถ้าเธอไม่ใช่ “ลูกสาวของทักษิณ ชินวัตร” ที่ต้องโทษจำคุกจนขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตลอดชีวิต
จะใช้คำว่า “มีวันนี้เพราะพ่อให้” ก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
“นายกฯ อิ๊งค์” ถูกส่งเข้ามาทำงานที่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการในเก้าอี้ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” จากนั้นก็ขยับขยายก้าวไปเป็น “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ก่อนที่จะตัดสินใจให้ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 31 ของประเทศไทยเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากเก้าอี้โดยสาเหตุจากการเสนอชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โดย “แพทองธาร” ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ที่มาจากตระกูลชินวัตร ถัดจาก ”ทักษิณ“ นายกฯ คนที่ 23, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เขตตระกูลชินวัตร นายกฯคนที่ 26 และ “อาปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯคนที่ 28
ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทยก็มีหลายคนที่เห็นได้ชัดว่า สืบทอดกันมา เช่น “ลูกปุ๋ง-สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” ที่ถูกดันขึ้นชั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรววท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนสไลด์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการทำงานการเมืองระดับชาติมาก่อน เพิ่งมาลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 นี่เอง
โดย “สุดาวรรณ” เป็นลูกสาวของ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม และ “นายกหน่อย“ ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา และยังเป็นพี่สาวของ “กำนันฮอลล์” อาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล สส.นครราชสีมา เขต 11 พรรคเพื่อไทย ด้วย
และเมื่อ ”กำนันป้อ“ ที่เป็นหัวหน้าทีมโคราชเพื่อไทย เลือกที่จะเว้นวรรคทางการเมือง ก็ส่งไม้ต่อให้ “ลูกปุ๋ง” เข้าไปกินตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีตามที่ปรากฎ
ถัดมาเป็น “สาวน้ำ-จิราพร สินธุไพร” แม้จะได้รับการยกย่องว่า เป็นนักการเมืองคนรุ่นใหม่มาแรง เคยโชว์ฟอร์มอภิปรายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในสภาฯ จนชื่อติดลมบน จนมี “ด้อม” เป็นของตัวเอง และน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ได้รับการโปรโมทขึ้นเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวัย 37 ปี ถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรัฐบาล
แต่ “ลูกน้ำ” ก็ถือว่ารับมรดกเข้ามาทำงานการเมืองืลงสมัครเป็น สส.ร้อยเอ็ด แทน นิสิต สินธุไพร อดีต สส.ร้อยเอ็ด อดีตแกนนำ นปช.ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี และ เอมอร สินธุไพร อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยมีน้องสาวแท้ๆ “น้องเบียร์“ ชญาภา สินธุไพร เป็น สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ชุดปัจจุบันด้วย
“สรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็คือ “ลูกชายของ “เสนาะ เทียนทอง” นักการเมืองรุ่นลายคราม
หรือ “เสี่ยหนิม-จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ไม่ใช่ใครอื่นคือทายาททางการเมืองของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์”
จากพรรคเพื่อไทยก็ “สืบ” ต่อมาถึง “ก๊วนผู้กอง-ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่แม้ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ตนเองสังกัดอยู่จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลอิ๊ง 1 แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามี “โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีถึง 3 ตำแหน่ง” ด้วยกัน
แม้ “เบื้องหน้า” จะปฏิเสธว่า ไม่ใช่ แต่ “วิญญูชน” ย่อมรู้ว่า เป็นโควตาของ “ก๊วนผู้กอง” ทั้ง “มาดามแหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หัวหน้าพรรคกล้าธรรม (เปลี่ยนชื่อจากพรรคเศรษฐกิจไทย ของเครือข่ายผู้กอง) ที่นั่งเก้าอี้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”
ขณะที่ “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” อีก 2 ตำแหน่งคือ “น้องชายของผู้กอง-อัครา พรหมเผ่า” ซึ่งแม้เจ้าตัวจะสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่งานนี้ได้เป็นรัฐมนตรีในโควต้าผู้กอง เช่นเดียวกับ “อิทธิ ศิริลัทยากร” นักการเมืองรุ่นลายครามแห่ง จ.ฉะเชิงเทรา อดีต สส.กลุ่ม 16 ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าถูกส่งมารับตำแหน่งแทน “ลูกเบนซ์” คือ “อรรถกร ศิริลัทธยากร”เนื่องจากคนลูกยังมีตำแหน่ง สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ติดตัวอยู่ จึงต้องถอยให้พ่อมาทำหน้าที่แทนในรอบนี้
กลายเป็นกรณี “พ่อแทนลูก” ที่ไม่ค่อยได้เห็นเท่าไรในทางการเมือง
อน่างไรก็ดี เชื่อว่า ระหว่างนี้ “ธรรมนัส-อรรถกร” จะต้องพยายามหาทางเคลียร์ตัวเองจากพรรคพลังประชารัฐให้ได้ เพื่อกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเพื่อไทยอีกครั้ง หากไม่มีติดขัดประเด็นจริยธรรม
ตามต่อด้วยที่ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งชัดเจนที่สุดกับกรณี “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ผู้พ่อ ที่ส่งชื่อ “ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” ลูกสาวคนที่สองมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ มท.3 ในโควต้าของพรรคแทน จนผู้คนร้องกันดังอึงมี่ว่า “อย่างนี้ก็ได้หรือ”
เพราะจะว่าไป “ดีดา-ซาบีดา” ก็แทบจะไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองด้วยไม่ได้เคยผ่านงานสายนี้มากนัก ที่เห็นล่าสุดคือเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของ “ชาดา” อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา “ดีดา” ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนพ่อออกงาน-ลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี มาโดยตลอด
ทั้งนี้ “รมช.ซาบีดา” ตอบคำถามถึงความเป็นรัฐมนตรีสืบสันดานว่า “ไม่ตกใจ พร้อมตั้งรับ และยืนยันไม่ได้กังวลอะไร และขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”
ส่วนเหตุที่เก้าอี้ไม่ตกเป็นของ “มนัญญา” ว่ากันว่า ระยะหลังสองพี่น้องมีปัญหาไม่ลงรอยกัน จึงทำให้ต้องหาตัวตายตัวแทนคนใหม่มาเป็นรัฐมนตรีแทนตัวเองอีกครั้ง หวยจึงมาออกที่ “ดีดา”
ทั้งนี้ “ซาบีดา” คือ “ไทยเศรษฐ์” คนที่ 3 ที่ได้เป็นรัฐมนตรี คนแรกก็คือ “พ่อชาดา” ส่วนคนที่สองก็คือ “มนัญญา” ผู้เป็นอา
กรณีชาดา-ซาบีดา “หัวหน้าหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่ก็สืบต่อมาจาก “ปู่จิ้น- ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” ผู้เป็นพ่อ ตอบคำถามเอาไว้ว่า “กรณีที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ขอถอนตัวไม่รับตำแหน่งใน ครม.ชุดนี้ นายชาดาไม่ได้บอกว่าให้เอาลูกสาวของตัวเอง เพียงแค่ในฐานะที่นายชาดาดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน ก็ให้สิทธิในการเสนอบุคคล เมื่อมีการเสนอมาแล้วและได้ดูประวัติของ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงมั่นใจว่ามีความรู้ ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ที่จะสามารถทำงานนี้ได้”
หรือกรณีของ “เนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่แห่งค่ายสีน้ำเงิน ที่แม้ไม่ได้ลงเล่นการเมืองด้วยตัวเอง แต่ก็ส่ง “ครูอุ้ม-พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” ผู้เป็นน้องชาย มาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งเดิมเหมือนสมัยรัฐบาลเศรษฐา
แม้เจ้าตัวจะโปรไฟล์ไม่ธรรมดา เกษียณอายุราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หากไม่มีนามสกุล “ชิดชอบ” ต่อท้าย วันนี้ก็เชื่อว่า “บิ๊กอุ้ม” คงเป็นข้าราชการบำนาญ ไม่ได้มานั่งทำงานการเมืองอยู่แบบนี้
โดยเป็นที่รู้กันว่า “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” เป็นบุตรชายคนกลางของ “ปู่ชัย” ชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภาผู้ล่วงลับ เป็นน้องชายของ “ครูใหญ่เน” เนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อดีต สส.และรัฐมนตรีหลายสมัย ที่ยังคงมีบทบาทเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไมย และเป็นพี่ชายของ “เสี่ยโอ๋ นมเย็น” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
ว่ากันว่าที่ “บิ๊กอุ้ม” ต้องมาสวมบท “ครูอุ้ม” ในวันนี้ก็ด้วยที่ “น้องโอ๋“ สะดุคดีถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ส่วน ”พี่โอ้ง-เนวิน“ ก็สนุกอยู่กับบท ”รัฐมนตรีสั่งการ“ เบื้องหลัง ขณะที้ทายาทที่หมายปั้นไว้ตัวจริงอย่าง ”ลูกนก“ ชิดชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย บุตรชายของ ”เนวิน“ ก็เพิ่งก้าวสู่ถนนสายการเมือง เมื่อการเลือกตั้ง พ.ค.66
แถมครั้งตั้งรัฐบาลเศรษฐา ตัว ”ชิดชนก“ ก็ยังอานุไม่ถึง 35 ปีทไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ ก็เลยเป็น ”อาอุ้ม“ ที่ต้องโดดลงมาเป็นเสนาบดี รอ ”หลานนก“ สั่งสมประสบการณ์การเมืองเสียก่อน
และปิดท้ายแบบเด็ดๆ กันที่ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเขี่ย” พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” พ้นจากเก้าอี้ในโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องบอกว่า รับเก้าอี้ตัวโตสืบมาจาก “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้เป็นพ่อเลี้ยง
งานนี้ “ลูกขิง” ถูกวิจารณ์อย่างหนักเพราะเคยเป็นอดีตแกนนำม็อบนกหวีดที่ขับไล่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แต่กลับมามายอมสยบเป็นลูกน้องของ “แพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร ชาว กปปส.ก็ “รับไม่ได้” ด้วยประการทั้งปวง
อย่างไรก็ดี เก้าอี้รัฐมนตรีที่ต้องจับตาเป็นพิเศษก็คือเก้าอี้ของ “บิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม เวชชยชัย” ที่นอกจากจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังควบเก้าอี้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” อีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความสำคัญทั้งการเมืองและโดยเฉพาะกับ “ระบอบทักษิณ” ที่เคยถูกรัฐประหารถึงสองครั้งสองครา
แม้ “บิ๊กอ้วน” จะไม่ได้สืบสันดานเหมือนคนอื่น แต่ก็ต้องถือเป็น “สายตรงจันทร์ส่องหล้า” ที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง
นอจากนี้ ยังมีกรณีการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ 2 เก้าอี้คือเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” และเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของ “นายเดชอิศม์ ขาวทอง” จนเกิดความแตกแยกภายในพรรคอย่างหนัก
กระนั้นก็ดี โดยสรุปแล้ว รัฐมนตรีชุดนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ที่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตามาบางส่วนก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะการเมืองยุคนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเอง ขอแค่เพียงให้อำนาจการบริหารกระทรวงอยู่ในกลุ่มเดิมก็เป็นพอ ยิ่งถ้าเป็นเครือญาติด้วยแล้ว อะไรๆ ก็ยิ่งง่ายขึ้น
ถึงตรงนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “คณะรัฐมนตรีชุดแรก” ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” และดำเนินไปภายใต้ “ระบอบทักษิณ” ที่ขยายขอบเขตแห่งอำนาจไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จะบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างไร
ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว อีกไม่นานคงรู้กัน โดยมีเดิมพันใหญ่คือ ประเทศไทยและประชาชนชาวไทย