ศึกหนักของ “รัฐบาลอิ๊งค์” - แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีป้ายแดง ที่ต้องเร่งแก้ไขก่อนผู้ประกอบการไทยวายวอดกันทั้งประเทศ ก็คือ การสกัดสินค้าจีนที่ล้นทะลักเข้ามายังไทยทุกแนวรบ
ถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการนัดประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา จะมีมติเห็นชอบ 5 มาตรการ 63 แผนงาน สกัดสินค้าราคาถูก ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะที่มาจากจีน เพื่อปกป้องผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยที่แข่งขันด้านราคาได้ยาก แต่ในมุมของภาคเอกชนมองว่า มาตรการที่ออกมาเป็นเพียงมาตรการตั้งรับแบบเดิมๆ ที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีกหน่อยเท่านั้น และเป็นเรื่องที่ “กำลังจะดำเนินการ”ยังไม่ไช่การให้“ยาแรง”พอที่จะเอาอยู่
เมื่อสแกนเข้าไปดูมาตรการก็เป็นอย่างที่ว่า หลายเรื่องก็เพียง“ขอให้เข้มงวดกวดขัน” และ “ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ”เช่น ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการตรวจสินค้า ณ ด่านศุลกากร ด้วยการเพิ่มความถี่การเปิดตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายไทย
หรืออย่างการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแล ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ “กำลังอยู่ระหว่างจัดทำประกาศ”
ส่วนมาตรการด้านภาษี ที่ถือว่าน่าจะเข้มข้นที่สุดนั้นกรมสรรพากร “อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายภาษี”สำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ปัจจุบันรัฐบาล“อยู่ระหว่างการศึกษาการแก้ไขกฎหมายการทุ่มตลาด”ที่ให้เอกชนที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ฟ้องร้องมาเป็นให้รัฐบาลฟ้องแทน เพราะรัฐบาลรู้ถึงผลกระทบ และมีข้อมูลที่จะสามารถสู้กับบริษัทต่างชาติได้หากมีการกระทำในลักษณะทุ่มตลาดจนกระทบกับสินค้าในไทยจริง
ต้องไม่ลืมว่าปัญหาสินค้าจากจีนล้นทะลักเข้ามาตีตลาดในราคาถูกและคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ภาคเอกชนส่งเสียงเตือนล่วงหน้ามานานแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุค “รัฐบาลลุง” จนถึง “รัฐบาลเศรษฐา” มัวสาละวนอยู่แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและรักษาอำนาจ ปล่อยให้สินค้าจีนบุกถล่มจนสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยเจ๊งระนาว รวมทั้งผู้บริโภคชาวไทยที่ถูกล่อลวงด้วยของถูกตกเกรด
ในมุมมองของภาคเอกชนสนั่น อังอุบลกุลประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์สื่อว่า มาตรการที่ครม.เพิ่งอนุมัติออกมาเป็นเพียงการ “ตั้งรับ” ภาครัฐต้องทำในเชิงรุก เช่น ให้มีมาตรการบังคับให้แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ต่างชาติ ต้องเสียภาษีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรายได้จากยอดขายไม่ใช่กำไร เพื่อทำให้จัดเก็บรายได้เข้าภาครัฐตามที่ควรจะเป็น ตรวจสอบการใช้ระบบชำระเงินโดยบังคับให้เข้าสู่ระบบที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้น เงื่อนไขการลงทุนจากต่างชาติ ต้องกำหนดให้ใช้ Local Content ของไทยสัดส่วนมากที่สุด เพื่อผู้ประกอบการไทยในซัพพลายเชนเติบโตไปด้วย และป้องกันปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน หลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และกำหนดราคาต้นทุนสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าที่นำเข้ามาในราคาถูกตีตลาดสินค้าในประเทศจนแข่งขันไม่ได้
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ชี้ว่า การที่จีนมาใช้ไทยเป็นทางผ่านการซื้อขายสินค้า รวมทั้งเศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้มีสินค้าราคาถูกจากจีน และแพลตฟอร์มออนไลน์จากจีนเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น และการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ซัพพลายเชนของการผลิตยังเป็นจีนทั้งหมด ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่ามาก ผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาในซัพพลายเชนนี้ต้องดัมพ์ราคาสู้ แบกต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง
KKP Research มองว่า ผลกระทบจากจีนครั้งนี้ จะส่งผลต่อ 4 อุตสาหกรรมใหญ่ของไทยที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ เหล็ก รถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และปิโตรเคมี ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น มีข้อเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเริ่มเห็นสัญญาณความยากลำบากชัดเจนขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จีนส่งออกรถอีวีไม่ได้ เพราะโดนกำแพงภาษีจึงทะลักเข้ามาขายในไทย ซึ่งนอกจากไม่มีกำแพงภาษีแล้วรัฐบาลยังส่งเสริมการผลิตและซื้อรถอีวีด้วย การเปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต จะส่งผลให้แรงงานกว่า 7 แสนคน เสี่ยงตกงาน
ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกินต้องส่งออกไปยังต่างประเทศรวมทั้งไทยด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า จากเดิมไทยเคยส่งออกพวกเม็ดพลาสติกหรือเส้นใยสังเคราะห์ไปจีน แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากจีน
KKP Research เสนอแนะภาครัฐ ควรจะตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจีนที่ตั้งใจขายต่ำกว่าจากต้นทุน และควบคุมคุณภาพสินค้าจีนได้มาตรฐานเดียวกับสินค้าไทย
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 24 อุตสาหกรรม และมีแนวโน้มว่าภายในสิ้นปี 2567 นี้ จะมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 30 อุตสาหกรรม จากทั้งหมด 46 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ โทรคมนาคม อาหาร เฟอร์นิเจอร์ อัญมณี และเครื่องประดับ ซึ่งถูกทุ่มตลาดมาต่อเนื่อง ไม่เพียงกระทบยอดขาย แต่ลุกลามไปถึงการปิดกิจการของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs
“... รัฐบาลเองต้องฟังให้มากขึ้น ทำงานให้เร็วขึ้น เพราะท้ายที่สุดการลุกขึ้นมาในช่วงที่เป็นมะเร็งระยะที่ 4 แล้ว จะไม่ทันการณ์ และยากที่จะกลับไปแก้ไขได้ ด้วยข้อตกลงการค้า ด้วยสัญญาต่าง ๆ ด้วยความเกรงใจ มันบั่นทอนภาคการผลิตในไทยอย่างคาดไม่ถึง” ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
เกรียงไกร ยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ และช่วย SMEs เพื่อปกป้องสินค้าที่ผลิตขายในประเทศ โดยภาคเอกชนยังคงยืนยันที่จะขอให้มีการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม 5-20% สำหรับสินค้าบางประเภทที่เข้ามาสร้างผลกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีโรงงานปิดกิจการเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก 2567 กว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 86.31% YoY หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากดูมูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27 ล้านบาทต่อโรงงาน สะท้อนว่าเป็นโรงงานขนาดเล็กปิดกิจการในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น
ทั้งนี้ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 37,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.12% หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจีนถึง 19,967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 7.2 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 15.66%
ณ สิ้นปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 36,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปี 2565 ขาดดุล 36,336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2564 ขาดดุล 29,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน คือ เครื่องจักรกล เหล็ก ยานยนต์ ขณะที่สินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีน คือ ผลไม้สด ยางพารา และไม้
มองย้อนกลับไปราว 20 ปี ฉายภาพไทยขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น เมื่อปี 2546 ไทยขาดดุลให้จีน 313 ล้านดอลลาร์ ปี 2556 ขาดดุล 10,494 ล้านดอลลาร์ มาถึงปี 2566 ขาดดุลเป็น 36,635 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 117 เท่า
รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทยในภาพใหญ่ที่ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในอนาคต
รอวัดฝีมือ “รัฐบาลอิ๊งค์” ว่าจะสู้ศึกสินค้าจากจีนบุกทุกแนวรบเช่นใด?