xs
xsm
sm
md
lg

World Herb Hub ฝันไกล ไปไม่ถึง!? ไทยจ่อปิดโรงงานสมุนไพร 500 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตลาดสมุนไพรโลกเติบโตต่อเนื่องมูลค่าสูงกว่า 1.7 ล้านล้านบาท รัฐบาลไทยผลักดันอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเต็มสูบ หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพระดับนานาชาติ ตั้งเป้าปี 2580 สมุนไพรไทยสู่ World Herb Hub ผลักดันเมืองไทยเป็น Medical Hub หนุนสมุนไพรไทยเป็นพระเอก แต่เมื่อย้อนมองภาคธุรกิจกลับพบอาการน่าเป็นห่วง เนื่องจากโรงงานสมุนไพรไทยจ่อปิดตัว 500 แห่ง เพราะติดขัดเรื่องกฎระเบียบ ไม่ผ่านมาตรฐาน GMP PIC/S

อีกทั้ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตลาดส่งสมุนไพรไทยมีเพียง 12,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนการส่งออกยังไม่เติบโตเท่าที่ควรเนื่องจากโรงงานสมุนไพรของไทยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามที่นานาชาติกำหนด ดังนั้น หากสามารถปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานสากลก็จะช่วยให้ส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตได้ถึง 2 เท่า

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า การยกระดับมาตรฐานของโรงงานยาไทยไปสู่ระดับสากลไม่เอื้ออำนวยเนื่องด้วย 3 สถานการณ์ คือ

สถานการณ์แรก ประเทศมหาอำนาจใช้การยกระดับมาตรฐานเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าไม่ให้มาแข่งขันกับธุรกิจยาในประเทศมหาอำนาจและจะใช้เล่ห์เหลี่ยมในการยกมาตรฐานมากขึ้นไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้น การยกระดับเป็นมาตรฐานยังถูกใช้เป็นข้ออ้างเป็นการเพิ่มยอดขายให้เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงโรงงานยาไทย ในขณะเดียวกันการเพิ่มระดับมาตรฐานยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรราคาแพงขึ้น และยังทำให้โรงงานยาขนาดเล็กและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการพึ่งพาตัวเองในซีกโลกตะวันออกซึ่งมีทุนไม่มากสำหรับการยกระดับมาตรฐานโรงงานยาไทยต้องปิดกิจการไปในที่สุด

ดังนั้น การยกระดับมาตรฐานมาจากต่างประเทศ ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ ไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศที่ถูกกดดันหรือบีบบังคับให้ยกระดับมาตรฐาน

สถานการณ์ที่สองภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันทำให้เห็นว่า เกิดภาวะเสี่ยงสงครามระหว่างประเทศ เสี่ยงมีพัฒนาการเป็นสงครามโลก หรือแม้แต่สงครามนิวเคลียร์ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องคำนึงในเรื่องความมั่นคงที่จะต้องพึ่งพาตัวเองได้ภายในประเทศ คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงในด้านยารักษาโรค เพราะทั้งอาหาร พลังงาน และยารักษาทั่วโลก มีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีราคาแพงขึ้นอย่างมหาศาล

ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันจึงน่าจะพิจารณาในเรื่อง“การพึ่งพาตัวเองได้”เป็นความสำคัญลำดับแรก เหนือกว่าความสำคัญใน “การยกระดับมาตรฐาน”เกินความสามารถของโรงงานยาไทยจนต้องปิดไปเป็นจำนวนมาก

สถานการณ์ที่สามภาวะเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ กำลังซื้อต่ำ ยอดขายโรงงานยาไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงไม่เอื้ออำนวยในการเพิ่มรายได้ในประเทศกับการลงทุนเพิ่มเพื่อยกระดับมาตรฐานโรงงานยาไทย เพราะจะทำให้ยาไทยราคาแพงขึ้นแต่กลับยังเพิ่มการส่งออกไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน GMP PIC/S ไม่ว่ามาตรฐานทั้งหมด หรือมาตรฐานบางส่วนทที่โรงงานยาไทย หรือโรงงานผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่ยังปฏิบัติตามไม่ได้ อาจกำลังจะสร้างปัญหาอันใหญ่หลวงต่อการพึ่งพาตัวเองของประเทศไทยได้

ทั้งนี้ GMP ย่อมาจากคำว่า Good Manufacturing Practice หมายถึง หลักเกณฑ์กระบวนการที่ดีในการผลิต หรือข้อเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันมีหลายมาตรฐานในหลายประเทศที่แตกต่างกัน เช่น มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มาตรฐานยุโรป มาตรฐานสหรัฐอเมริกา มาตรฐานอาเซียน

ส่วนคำว่า PIC/S ย่อมาจากคำว่า Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการผลิตของสินค้าเวชภัณฑ์ ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้มาตรฐานของสิ่งผลิตเหล่านั้นเท่ากันทุกแห่งและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยองค์กร PIC/S เป็นผู้ตรวจสอบโดยการใช้มาตรฐาน GMP เป็นหลักและเน้นตรวจสอบไปที่หน่วยงานของผู้ผลิตสินค้าประเภทยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง เป็นต้น

รายงานสถานการณ์มาตรฐานโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ข้อมูล ณ วันที่ 13 ส.ค. 2567 พบว่า ปัจจุบันมีโรงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยรวมทั้งสิ้น 925 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 โรงงานที่ได้ยกระดับเป็นมาตรฐาน GMP PIC/S แล้วจำนวน 56 โรงงานคิดเป็นเพียงร้อยละ 6.05 ของโรงงานทั้งหมด โดยโรงงานส่วนใหญ่เมื่อยกระดับมาตรฐาน GMP PIC/S แล้ว ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายมีราคาแพงขึ้น นอกจากจะไม่ได้เพิ่มการส่งออกแล้วยังมียอดขายภายในประเทศลดลงด้วย

กลุ่มที่ 2 โรงงานที่ได้ยกระดับเป็นมาตรฐาน GMP อาเซียนแล้ว (ซึ่งมีการประยุกต์ใช้มาตรฐาน PIC/S) มีจำนวน 14 โรงงาน คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.51

กลุ่มที่ 3 โรงงานมาตรฐานในประเทศที่ใช้เกียรติบัตรเป็นเกณฑ์ แต่ต้องลงทุนต่อไปเรื่อยๆ จนได้มาตรฐาน GMP อาเซียน (ที่มีการประยุกต์ใช้มาตรฐาน PIC/S) ก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2570 โดยโรงงานที่ได้รับเกียรติบัตรทองมีอยู่ 23 โรง (คิดเป็นร้อยละ 2.49), โรงงานที่ได้รับเกียรติบัตรเงินมีอยู่ 3 โรงงาน (คิดเป็นร้อยละ 0.32) และโรงงานที่ได้รับเกียรติบัตรทองแดงมีอยู่ 8 โรงงาน (คิดเป็นร้อยละ 0.86)

และกลุ่มที่ 4 โรงงานภายในประเทศที่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน GMP มีมากถึง 821 โรงงาน คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 88.76
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาและยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้ก้าวสู่สากล โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับการผลิตทั้งในประเทศและการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่

1. การพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน PIC/S GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเปิดโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดโลก

2. การพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน ASEAN GMP เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน

และ 3. การสนับสนุนโรงงานขนาดเล็กให้ได้มาตรฐานพื้นฐานระดับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง เพื่อรักษาองค์ความรู้แพทย์แผนไทย และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ
นายสมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโนบายของรัฐบาลว่าด้วยการผลักดันประไทยสูุ่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ Medical and Wellness Hub ที่ไม่เพียงยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ทั่วไป แต่ยังหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีศักยภาพ ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

รัฐมีแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 โดยคาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย จะมีมูลค่าเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า จากที่มีมูลค่าราว 5.2 หมื่นล้านบาท จะเติบโตเป็น 1.04 แสนล้านบาท ในปี 2570 เพราะทัศนคติและค่านิยมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไป มีแนวโน้มเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถสร้างรายได้กว่า 2,467 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผ่านการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวนกว่า 1.73 หมื่นรายการ และได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ กว่า 2,000 รายการ รวมถึงมีการขยายผลการปลูกสมุนไพรต้นน้ำ จาก 1.8 หมื่นไร่ เป็น 1,059,818 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกร เข้าถึงการปลูกสมุนไพรได้มากขึ้น จากเดิม 5,400 ราย เป็นกว่า 3.6 แสนราย

ปี 2566 มีโรงงานภาคเอกชนที่ผลิตยาสมุนไพร 1,000 แห่ง มีโรงงานสกัด 11 แห่ง และมีโรงพยาบาลที่สามารถผลิตสมุนไพร ที่ได้รับมาตรฐาน GMP 46 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการใช้ยาสมุนไพร ในหน่วยบริการสุขภาพทั่วประเทศ มีมูลค่าเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 พันล้านบาท และสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ รวมกว่า 56,944 ล้านบาท

อ้างอิงข้อมูลจาก ยูโร มอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย มีมูลค่าค้าปลีกสูงที่สุด เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน อันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับ 8 ของโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ปี 2570 จะเติบโตก้าวจาก 5.2 หมื่นล้านบาท เป็น 1.04 แสนล้านบาท

ดังนั้น เป็นโจทย์ข้อใหญ่ของรัฐในการกอบกู้วิกฤตโรงงานสมุนไพรไทยที่จ่อปิดตัวหลายร้อยแห่งเพราะติดขัดเรื่องกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ต้องให้การการสนับสนุนผู้ประกอบการพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อการยกระดับมาตรฐาน GMP PIC/S ครอบคลุมโรงงานสมุนไพรไทย เพื่อไปให้ถึงฝั่งฝันสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพระดับนานาชาติ และนำพาสมุนไพรไทยสู่ World Herb Hub.


กำลังโหลดความคิดเห็น