ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การตีตกคำร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน เครือข่าย “บ้านป่าแตก” ที่ขอให้วินิจฉัยการใช้บันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ปี 2544 แบ่งทรัพยากรทางทะเลไทย-กัมพูชา ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ถูกละเมิดสิทธิ ถือเป็นการคลี่คลายปมเงื่อนสำคัญที่ทำให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลและกัมพูชาไม่ไปไหนมาไหน หลังจาก ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาพบปะกับ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ตั้งแต่เมื่อกุมภาพันธ์ 2567
มติของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ นำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001 (MOU 2544) ซึ่งทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยและผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทย ละเมิดสิทธิ์ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 25 และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยกเลิกการนำ MOU 2544 มาใช้
ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารหลักฐานของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ปรากฏว่ากรณีเป็นปัญหาเรื่องหน้าที่ของรัฐ ตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ยังไม่ปรากฏว่า นายไพบูลย์ เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง ข้ออ้างของนายไพบูลย์ จึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของนายไพบูลย์ ในฐานะประชาชนเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ MOU 2544 เท่านั้น กรณีไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรค 1 ดังนั้น นายไพบูลย์ จึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้
เป็นอันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ปัดตกคำร้องของนายไพบูลย์ เนื่องจากไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพฯ เป็นที่เรียบร้อย โดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หยิบยกประเด็น MOU 2544 ที่จัดทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นมาวินิจฉัยแต่อย่างใด
นับจากนี้ หากไม่มีอะไรมาขวาง การเจรจาเรื่องการเอาทรัพยากรทางทะเลในเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งสองชาติ คงได้เห็นหน้าเห็นหลังกันบ้าง
ที่ผ่านมา รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายเจรจาเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area หรือ OCA ชัดเจน และเมื่อ แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทาง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี “ผู้เป็นบิดา” ได้ให้คำแนะนำรัฐบาลใหม่ ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกในรอบ 18 ปี ในงาน Vision for Thailand 2024 ว่า ให้เร่งดำเนินการเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยกับกัมพูชา
ทักษิณ มองว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน แต่เป็นเรื่องการนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ โดยแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน ฝั่งละ 50% หรือครึ่งต่อครึ่ง ในลักษณะเดียวกันกับที่ดำเนินการกับประเทศมาเลเซียมาแล้ว ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ อีกไม่เกิน 20 ปี ก็จะเปล่าประโยชน์ เพราะในอนาคตคนจะรังเกียจพลังงานจากฟอสซิล และหันไปใช้พลังงานสีเขียว (Green Energy) เพียงอย่างเดียว
สำหรับการดำเนินการ เขาได้ให้ทีมศึกษาแนวทางของประเทศนอร์เวย์ ที่นำผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในทะเลมาแบ่งปันให้กับประชาชนทั้งประเทศ ว่าไทยจะทำในแบบดังกล่าวได้หรือไม่ ในขณะที่ผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ ก็คือพลังงานที่ผลิตได้จากพื้นที่ OCA นั้นจะมีราคาถูกลง หากไปถัวเฉลี่ยกับพลังงานที่ต้องนำเข้าซึ่งมีราคาแพง ก็จะทำให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซหุงต้ม ในราคาที่ถูกลง
ขณะเดียวกันคงกระพัน อินทรแจ้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ในธุรกิจ Upstream and Power ว่าปตท.จะเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิต ร่วมกับ Partner มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ซีอีโอของ ปตท. กล่าวว่า ได้พูดคุยหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อผลักดันการเจรจาดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประเทศและมีความสนใจอยู่แล้ว เนื่องจากแหล่งดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่ง ปตท. ต้องให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยวิธีการที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์โดยเร็วที่สุด ควรใช้วิธีการเจรจาแบบที่เคยทำในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area : JDA) น่าจะมีความเหมาะสมมากที่สุด จะทำให้เกิดความรวดเร็วและใช้ประโยชน์ทางด้านทรัพยากรร่วมกันทั้งสองประเทศ
ทางด้านมนตรี ลาวัลย์ชัยกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ยืนยันความพร้อมของ ปตท.สผ.ในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชามาก่อนหน้า เนื่องจาก ปตท.สผ. มีโครงการ G1/61 หรือแหล่งเอราวัณใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว หากรัฐบาลสองชาติตกลงกันได้ และเปิดให้สำรวจและพัฒนาฯ คาดว่าจะนำก๊าซฯขึ้นมาได้ (First Gas) ภายใน 5 ปี ซึ่งเร็วกว่าในอดีตที่ต้องใช้เวลาในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) นานถึง 9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น ทำให้การสำรวจและผลิตทำได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนั้น ปตท.สผ. ยังมีโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ ที่ก๊าซฯ จาก OCA สามารถใช้ท่อส่งก๊าซฯเดียวกับแหล่งเอราวัณ เพื่อลดการลงทุน เพราะท่อก๊าซฯดังกล่าวรองรับได้อยู่แล้ว และสะดวกต่อการขนส่งมาไทย ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการเรื่อง OCA หลังรัฐบาลใหม่จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการไปเจรจากับกัมพูชาในลำดับต่อไป
ก่อนหน้านี้พิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มาใช้ได้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่มากพอๆ กับที่ผลิตได้จากแหล่งในอ่าวไทย โดยที่ต้นทุนต่ำกว่า LNG ที่นำเข้า เพราะเจาะหลุมผลิตไม่ลึก การลงทุนไม่สูง สามารถช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือเพียง 3.25 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา อยู่ที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ มีพื้นที่เป้าหมายพัฒนาร่วมกัน 16,000 ตารางกิโลเมตร รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแก่ผู้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนฯ เมื่อปี 2511 ประกอบด้วย
1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%
2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%
3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%
4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%
5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
อย่างไรก็ดี สิทธิในการสำรวจและผลิตในพื้นที่ดังกล่าวได้หยุดนับเวลาไว้นับตั้งแต่มีการโต้แย้งสิทธิกันของทั้งสองประเทศ
ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” จะเร่งรัดการเจรจาให้จบเร็วได้หรือไม่ อย่างไร เพราะดูเหมือนว่า หนทางจะเปิดโล่ง อีกทั้งรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะมีความเห็นสอดคล้องกัน