xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “มหากาพย์แก่งเสือเต้น” ปลุกผีสร้างเขื่อน อ้างแก้น้ำท่วมซ้ำซาก กระแสคัดค้าน 35 ปี เพราะไม่คุ้มเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“เขื่อนแก่งเสือเต้น” ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” ขณะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม 3 จังหวัดภาคกลางตอนบน กล่าวถึงการปัดฝุ่น “โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น” เพื่อบริหารจัดการน้ำพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำยมอย่างมีประสิทธิภาพทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

เรียกว่าเป็นประจำทุกๆ ปี เมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำยม อาทิ พะเยา แพร่ สุโขทัย ฯลฯ จะมี “กลุ่มการเมือง” รื้อโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาปัดฝุ่น โดยอ้างความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพราะจะจัดการสถานการณ์น้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและประโยชน์ทางด้านการเกษตร

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2555รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหยิบโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เป็นส่วนหนึ่งในแผนบริหารจัดการน้ำในวงเงินงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2567นายภูมิธรรม เวชยชัยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีและได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมก็ปัดฝุ่นแนวคิดสร้างแก่งเสือเต้นอีกครั้ง โดยระบุว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมาพูดคุยกันถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อให้เป็นที่ยุติโดยเร็วที่สุด และอยากให้เกิดขึ้นภายในปี 2567 ถ้าสามารถจัดการจบได้ คณะรัฐมนตรีก็สามารถดำเนินการได้เลย เพราะต้องใช้เวลาอีกหลายปี

นายภูมิธรรม ระบุว่าต้องการให้เรื่องนี้เป็นการคุยกันสาธารณะ เอาทุกความเห็นถกเถียงกัน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยรับฟังทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน เรื่องน้ำควรทำขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ คิดทุกเรื่องและทุกกระบวนการว่าจะมีทางออกอย่างไรที่ดีขึ้น

ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินในฐานะนักการเมืองจากจังหวัดสุโขทัย เรียกร้องให้ผู้คัดค้านใจกว้าง รับฟังหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมระบุว่าการเสนอสร้างแก่งเสือเต้นไม่ควรจะมาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของภาครัฐแต่ควรหาผู้รู้มาตัดสิน

อย่างไรก็ดี มีการศึกษาผลกระทบชัดเจนว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้น้ำท่วมในจังหวัดลุ่มน้ำยมได้ แถมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ป่าสักที่สมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทย

นายเส็ง ขวัญยืนอดีตกำนันตำบลสะเอียบ และแกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เปิดเผยว่าชาวสะเอียบสู้เรื่องแก่งเสือเต้นกันมานานกว่า 30 ปี นับแต่ปี 2532 เป็นต้นมา มีแกนนำต่อต้านเขื่อนสิบกว่าคนแล้วบางคนอายุมากเสียชีวิตไปก็มี ซึ่งวันนี้สะเอียบมีเศรษฐกิจดี เก็บภาษีได้ปีละ 500 ล้านเศษ เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันหนาแน่น ดังนั้น การเดินหน้าโครงการดังกล่าวจะความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่

โดยตั้งข้อสังเกตจากการต่อสู้เรื่องแก่งเสือเต้นมาหลายยุคหลายรัฐบาล พบว่าการอนุมัติงบศึกษาโครงการสร้างเขื่อนใช้เงินงบประมาณครั้งละ 100-200 ล้านแล้วก็ไม่เกิดอะไร ถ้ารัฐบาลเอางบประมาณที่ไปศึกษามาแก้ปัญหาน้ำ สร้างโครงการขนาดเล็ก ขนาดกลาง บล็อกน้ำแต่ต้นทางป่านนี้คงจะบรรเทาไปได้มากแล้ว”

ทั้งนี้ ทางชุมชนได้เสนอ“โครงการจัดการน้ำแบบสะเอียบโมเดล”ต่อภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ภาครัฐทำไม่เสร็จหรืออาจไม่ให้ความสำคัญ เพราะหากทำตามปกติจะแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันดำเนินการล่าช้าเกิดคำถามว่าเป็นการประวิงเวลาสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หรือไม่?

นอกจากนี้ ยังเกิดการไหวต่อต้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ทำจดหมายเปิดผนึกระบุใจความสำคัญความว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังที่นักการเมืองกระพือโหมข่าวปลุกเร้ากระแสให้สร้าง เพื่อสนองตอบความต้องการของตนเอง โดยเฉพาะป่าสักทองมูลค่ากว่าหกพันล้านบาท และต้องการรับเหมาสร้างสันเขื่อน ราคากว่าหมื่นหกพันล้านจึงพยายามปั่นกระแสเร่งเร้าให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม เข้าใจว่า ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว พวกเขาจะปลอดภัยจากน้ำท่วม

อีกทั้ง ระบุต้นตอของปัญหาอุทกภัยมีหลายองค์ประกอบ อาทิ 1. การทำงานที่ทับซ้อนไร้ระบบ ของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมประมง และกระทรวงเกษตร ที่ทำให้การเก็บกัก และการปล่อยน้ำ ไร้ระบบ แบบแผน ทำให้ คนต้นน้ำ ท้ายน้ำต้องประสบภัยน้ำท่วมร้ายแรงขึ้น ในกรณี ปี 2538 ที่ท่วมยาวนาน พืชผลเสียหายหนัก เพราะระบายน้ำที่เขื่อนชัยนาทไม่ได้ เนื่องจากน้ำจะท่วมข้าวนาปรังของคนใต้เขื่อน 2. นักการเมืองท้องถิ่น รวมหัวกัน เร่งพัฒนาที่ดิน ชุ่มน้ำมาปั่นราคาขายเอากำไร เพราะต้องใช้ดิน (หลอกชาวบ้านขุดบ่อปลาให้ฟรี แล้วขนดินไปถมที่ลุ่มไร้ราคา)ที่พวกเขาเป็นเจ้าของรถขุด และรถขนดิน จนร่ำรวยเอาเงินมาเล่นการเมืองผูกขาดมาจนบัดนี้ โดยทำลายแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ

3. การสร้างถนน อย่างไร้สติ และมักง่าย ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ที่เร่งรัดจัดสร้างถนน โดยไม่พิจารณาทางเดินของน้ำ ดันเป็นคันสูงดังสันเขื่อนกักกันเส้นทางไหลธรรมชาติ ไม่เปิดสะพานให้น้ำเดิน จึงเกิดปัญหาหนักในหน้าน้ำทุกปี และ 4. ลมมรสุมฤดูฝนที่หนักขึ้นทุกปี เพราะการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน และจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในทุกพื้นที่

ด้านผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้าอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำของไทย อธิบายว่าปริมาณน้ำท่าลุ่มน้ำยมจะมีปริมาณน้ำท่าประมาณ 4,143 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ซึ่งสามารถจุน้ำได้ประมาณ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร และลุ่มน้ำยมจาก จ.พะเยา จนถึงพิจิตร มีลำน้ำสาขาถึง 19 ลำน้ำสาขา ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ และหากมีน้ำเยอะในพื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งลุ่มน้ำยมมี 19 ลุ่มน้ำสาขา ก็ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำอยู่ดี ดังนั้น ต่อให้มีแก่งเสือเต้น น้ำก็ยังท่วมสุโขทัย เพราะตำแหน่งที่จะสร้างจะเป็นน้ำที่ลงสุโขทัยแค่ 10%

สอดคล้องกับ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานแผนงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ระบุจากการประเมินการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ตอนล่างได้ เพราะแม้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่พื้นที่ตอนล่างเขื่อนยังมีน้ำในปริมาณมากไหลเข้าสู่แม่น้ำยม โดยพื้นที่สุโขทัย มคอคอดน้ำไปยังพื้นที่อื่น ก่อนเข้าตัวเมือง ทำให้มีน้ำที่ไหลเข้าไปในเมืองสุโขทัย ประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ผ่านมามีความพยายามผันน้ำไปสู่แม่น้ำยมสายเก่า โดยเฉลี่ยรองรับน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น ถ้ามีปริมาณน้ำเกินกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้เกิดน้ำท่วม

อีกทั้ง การไปสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นทำให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ประเมินว่าการตัดสินใจสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในปัจจุบันไม่คุ้มกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และควรสร้างระบบการจัดเก็บน้ำที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้นโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นายภาณุเดช เกิดมะลิประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่คัดค้านเรื่องนี้ ประธานมูลนิธิสืบฯ สะท้อนว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยมองว่าหากรัฐบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจะมีประสิทธิภาพกว่า เช่น การขยายพื้นที่โครงการส่งน้ำฯ ยมน่าน ,การตัดยอดน้ำที่คลองหกบาท ,การเพิ่มพื้นที่รับน้ำทั้งในคลองสาขาและทุ่งรับน้ำ เป็นต้น และการไม่ได้พัฒนาจุดเหล่านี้ เช่น การระบายน้ำคลองหกบาท ผันเข้า คลองระบายน้ำยมน่าน และแม่น้ำยมสายเก่า ทำให้คันดินแตกมากกว่า 5 จุด เพราะไม่ได้พัฒนาให้มีศักยภาพรับน้ำเท่าที่ควร ดังนั้น ถ้าลงทุนกับโครงการเหล่านี้ จะคุ้มค่ากว่าการลงทุนกับเขื่อนในผืนป่าหลายหมื่นล้านบาท

ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องพิจารณา มีวิธีการอื่นที่ใช้บริหารจัดการลุ่มน้ำยมได้ดีกว่าการสร้างเขื่อน อีกทั้ง หลายโครงการกรมชลประทานทำอยู่แล้วหากพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ จะไม่จำเป็นต้องรอเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งอาจใช้เวลาศึกษาใหม่ 3 - 5 ปี และอาจใช้เวลาก่อสร้างอีกกว่า 10 ปี

สุดท้าย การปลุกผีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นของฝ่ายการเมือง ท่ามกลางกระแสคัดค้านต่อต้านในสังคม บทสรุปจะเป็นเช่นไรยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น