สธ.ยอมรับ 91 รพ.ส่อเจ๊ง สถานการณ์ลำบากขั้นสุด ขาดเงิน และคนทำงาน
ปัญหาเรื่องระบบสาธารณสุขเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่รอให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาแก้ไข โดยล่าสุดคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) ออกมาเผยถึงปัญหาการเงินการคลังที่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากงบบัตรทองกองทุนผู้ป่วยในที่ได้รับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
โดยมีข้อมูลว่า แม้สำนักงานส่งเสริมหลักประกันสุขภพแห่งชาติ หรือ สปสช.จัดสรรงบประมาณ 1,514 ล้านบาท แต่มีโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับเงินผู้ป่วยใน นื่องจากถูกหักเงินเดือนบุคลากรถึง 403 แห่ง จากโรงพยาบาลกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ และมีโรงพยาบาล 91 แห่งอยู่ในความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินขั้นวิกฤต
ในเรื่องนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยอมรับว่า การที่โรงพยาบาลขาดทุน ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะเงินของโรงพยาบาลเป็นทั้งค่าจ้าง ค่าแรง โดยเฉพาะตอนนี้กำลังจะผลิตผู้ช่วยพยาบาล อย่างที่ทราบสายวิชาชีพที่ขาดมากที่สุด คือ พยาบาล ขาดอยู่กว่า 5 หมื่นคน การผลิตพยาบาลต้องใช้เวลา 4 ปี และตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องการให้แบ่งเบางานด้วยการผลิตผู้ช่วยพยาบาลมาช่วยก่อน แต่ก็เริ่มติดปัญหา ทั้งเรื่องการเรียนการสอน และเรื่องเงินเดือนที่จะมาจ้าง
"ดังนั้น ถ้าโรงพยาบาลขาดเงินบำรุง จะจ้างบุคลากรเหล่านี้มาดูแลประชาชนด้วยความยากลำบากด้วย โรงพยาบาลขาดทุน จึงไม่ใช่เรื่องดี เพราะเงินโรงพยาบาลก็เป็นเงินที่ไว้ดูแลพี่น้องประชาชน” นพ.โอภาส กล่าว