เปิดทาง 'ยิ่งลักษณ์' กลับบ้าน แผนอหังการ-ล้ำเส้น
ประเด็นความขัดแย้งที่มาจากระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ปลายปี 2566 ครั้งนั้นถูกมองว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ภายหลังอยู่ระหว่างการรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เป็นการติดคุกที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยข้ออ้างว่ามีการอาการป่วย
ทว่าจนแล้วจนรอด จนมาถึงวันที่อดีตนายกฯทักษิณได้ขึ้นชื่อว่าไม่ได้เป็นผู้ต้องโทษอีกแล้ว ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีร่องรอยของการได้ประโยชน์จากระเบียบฉบับดังกล่าวแต่ประการใด จนกระทั่งมาในระยะหลังที่ทักษิณส่งสัญญาณบางประการถึงความพยายามในการพา 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีการรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีโครงการรับจำนำข้าว กลับมายังประเทศไทยเพื่อให้ครอบครัวชินวัตรอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างสมบูรณ์เสียที
ทั้งนี้ มองในแง่วัตถุประสงค์ของการให้มีระเบียบดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นความพยามยามหาช่องทางลดปริมาณนักโทษที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ โดยยังสามารถรักษาความสมดุลระหว่างการรับโทษและการให้นักโทษมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อกลับไปเป็นพลเมืองของสังคมต่อไป
"ยืนยันว่าการกำหนดให้มีที่คุมขังอื่น ไม่ใช่การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถูกคุมขัง แต่เป็นไปเพื่อช่วยลดความแออัดเรือนจำ ที่สามารถคุมขังได้ 150,000-200,000 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังมากถึง 300,000 คน" การยืนยันจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เมื่อไปดูข้อมูลเชิงปริมาณของกรมราชทัณฑ์เมื่อปี 2563 ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ กล่าวคือ ประเทศไทยมีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 143 แห่ง แบ่งออกเป็น การบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง ทัณฑสถาน 24 แห่ง สถานกักกัน 1 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง
และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ เรือนจำจังหวัด 50 แห่ง เรือนจำอำเภอ 26 แห่ง มีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศทั้งหมด 378,159 ราย เป็นชาย 330,258 ราย หญิง 47,901 ราย
ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำของต่างประเทศแล้วพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่ความจุของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศสามารถรองรับจำนวนผู้ต้องขังได้ประมาณ 254,302 คน
ดังนั้น ถ้ามองในมุมที่ปราศจากอคติทางการเมืองแล้ว จะเห็นได้ว่าระเบียบดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์ในภาพรวม เพราะในทางปฏิบัติแทบจะไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บนักโทษบางกลุ่มที่เป็นนักโทษชั้นดีไว้ในเรือนจำ อีกทั้งการมีระเบียบตัวนี้จะยิ่งทำให้นักโทษเร่งปรับพฤติกรรมเพื่อให้ตัวเองมีคุณสมบัติในการเข้าถึงสิทธิรับโทษนอกเรือนจำต่อไป
โดยเบื้องต้นการกำหนดคุณสมบัติของนักโทษที่จะได้สิทธิดังกล่าว จะเป็นการพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานร่วมกันพิจารณา ทั้งจากสำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม ฝ่ายปกครอง เป็นต้น
ซึ่งคุณสมบัติของนักโทษที่คาดว่าจะได้รับสิทธิตามระเบียบนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกเป็นนัยว่า ได้แก่ ผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วย ผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปี หรือผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน
แต่ถึงกระนั้น การมีระเบียบดังกล่าวพร้อมกับแนวทางปฏิบัติที่กำลังจะออกมาตามระเบียบฉบับนี้ ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ หลังจาก 'แพทองธาร ชินวัตร' ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นจังหวะเดียวกับที่'ทักษิณ' กลับมามีบทบาทในการกำหนดทิศทางทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนย่อมหมายความถึงการไม่ทิ้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไว้ข้างหลัง แต่ต้องพากลับบ้านมาให้ได้
ความหวาดระแวงเกิดขึ้นมาเป็นระยะ เนื่องจากมีบรรทัดฐานมาจากทักษิณ โดยเฉพาะการได้รับการโอกาสในการได้อยู่ในโรงพยาบาลตำรวจเต็มอัตราตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่แปลกหากใครหลายคนจะมองว่ายิ่งลักษณ์อาจเดินตามรอยเท้าพี่ชาย
เพียงแต่ปลายทางอาจจะไม่ใช่โรงพยาบาลแต่จะเป็นบ้านพักภายใต้เงื่อนไขของระเบียบฉบับนี้
ไม่รู้ว่าฝ่ายการเมืองในปีกทักษิณ ประเมินถึงแรงต้านในการพายิ่งลักษณ์กลับบ้านอย่างไร แต่บางทีการพยายามดังกล่าวอาจเป็นการล้ำเส้นที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอีกก็เป็นไปได้