เปิดตัวเลขน้ำ ปี 54 เทียบ ปี67 สทนช.มั่นใจรับมือได้ 'ทักษิณ'ขึ้นเชียงราย
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือแม้ในหลายพื้นที่น้ำจะเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังกังวลเนื่องจากล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ ฉบับที่ 1 ในช่วงวันที่ 26 – 28 ส.ค. 67 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มออกมาตั้งคำถามว่าจะรุนแรงกับเหมือนกับปี 2554 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวโน้มความเสี่ยงอุทกภัยระว่าง 3 ปี ได้แก่ ปี 2554 ปี 2565 และ ปี 2567 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การประเมินพายุจรที่พัดผ่านเข้าประเทศไทย พบว่า ในปี 2554 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก ในปี 2565 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 1 ลูก สำหรับปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายน หรือตุลาคม
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสม พบว่า ปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% ในปี 2565 กลับพบว่าสถานการณ์อุทกภัยไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี 2554 สำหรับปี 2567 ณ เดือนสิงหาคม ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศไทยยังคงต่ำว่าค่าปกติ ร้อยละ 4 และต่ำกว่า ปี 2554 เปรียบเทียบศักยภาพในการรองรับน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 24 ส.ค. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า ปี 2554 สามารถรองรับได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม. ส่วน ปี 2565 สามารถรองรับ 11,929 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปี 2567 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม.
“เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปรากฏการณ์เอนโซ จากสภาวะเอลนีโญสู่สภาวะลานีญา ประกอบกับอิทธิพลของมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต่างๆ และส่งผลให้เกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่ จากการติดตามประเมินสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานต่างๆ พบว่า ปริมาณฝนตกในทุกพื้นที่ขณะนี้ระดับความรุนแรงยังเทียบไม่ได้กับปี 2554 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมแผนบริหารจัดการกรณีเกิดพายุที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย"
ด้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองต่อกรณีอุทกภัยนั้น นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา ระบุว่า ในวันที่ 27 ส.ค. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมายัง จ.เชียงราย เพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาอยู่ในขณะนี้ รวมถึงอาจมีโอกาสให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูฟื้นที่เชียงรายด้วย