บอร์ดรฟท.เห็นชอบปรับแบบ'รถไฟไทย-จีน'ยกระดับช่วงตำบลบ้านใหม่'โคกกรวด-ภูเขาลาด'ว่า 7 กม.ค่าก่อสร้างเพิ่มกว่า 2 พันล้านบาท สั่งอัพเดทราคาดัชนีกลางเสนอบอร์ดเดือนหน้า ก่อนเสนอครม.เพิ่มงาน VO พร้อมขยายเวลาสร้างไปอีก 3 ปี ส่วนปมมรดกโลก“สถานีอยุธยา”ไม่คืบหน้ายื้อเซ็นสัญญา 4-5
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. ครั้งที่ 11 /2567 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานได้มีการพิจารณาการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ในสัญญา 3-5 (โคกกรวด-นครราชสีมา) เนื่องจากมีเปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้าง ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด จากคันทาง(Embankment) สูง 4-5 เมตร เป็นรูปแบบโครงสร้างยกระดับ (Elevated) ระยะทางประมาณ 7.85 กม. ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหา แนวทางที่ 4 ทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่ม เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,052,088,650 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) และทำให้ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 36 เดือน
โดยบอร์ดรฟท.เห็นชอบหลักการในการปรับรูปแบบก่อสร้างดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนบริเวณเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ที่ได้มีการร้องเรียนเข้ามา แต่ให้รฟท.อัพเดทกรอบวงเงินโดยปรับให้เป็นราคาดัชนีกลางปัจจุบันก่อน และให้นำมาเสนอบอร์ดรฟท. อนุมัติกรอบวงเงิน ในการประชุมครั้งหน้า จากนั้นจึงเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการปรับวงเงินโครงการในสัญญา 3-5 ต่อไป
สำหรับ โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 250.77 กม. (ทางยกระดับ 188.68 กม. ทางระดับดิน 54.09 กม. อุโมงค์ 8 กม.) ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนไว้ที่ 179,412.21 ล้านบาท แบ่งงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันยังมีกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติคงเหลือ 10,863.47 ล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มวงเงินสัญญา 3-5 อีกประมาณ 2,052.08 ล้านบาทนั้นจึงยังไม่เกินจากกรอบวงเงินครม.อนุมัติ
สำหรับ สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้รับจ้าง วงเงินสัญญา 7,750 ล้านบาท ซึ่งหลังครม.เห็นชอบ ปรับแบบเป็นทางรถไฟยกระดับ จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง (Variation Order : VO ) ในสัญญาและเพิ่มค่าจ้าง 2,052.08 ล้านบาท และขยายระยะเวลาก่อสร้างจากสิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 2568 ออกไปอีก 36 เดือน หรือสิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 2571 ปัจจุบันสัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา มีความก้าวหน้า 9.412 % ล่าช้าประมาณ 30.588 % (แผนงานกำหนด 40.00%)
ขณะที่ งานโยธา ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ระยะที่ 1) ระยะทาง 253 กม. นั้น ภาพรวม ณ วันที่ 25 ก.ค. 2567 มีความคืบหน้า 34.973 % ล่าช้า 36.395 %(แผนงาน 71.368 %) โดยสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ยังไม่ได่ลงนาม 2 สัญญา
@ ปมมรดกโลก “สถานีอยุธยา”ไม่คืบหน้า
ส่วนความคืบหน้า สถานีรถไฟความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว นายอนันต์กล่าวว่า หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีข้อสังเกตเรื่องการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ที่จะรายงานต่อ ยูเนสโกนั้น รฟท.จะได้จัดส่งรายงานล่าสุด ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวทางของมรดกโลก ได้ในวันที่ 19 ส.ค. 2567
สำหรับสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.นั้น อยู่ระหว่างตรวจร่างสัญญาเพื่อเตรียมลงนามกับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้างวงเงิน 10,325 ล้านบาท ในประเด็นที่จะให้ก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน เนื่องจากสถานีอยุธยายังมีประเด็นมรดกโลก ซึ่งทางเอกชนยังยืนราคา