ออกกฎเหล็ก คุมเข้ม 'ไซยาไนด์' ลดก่ออาชญากรรม
จากสถานการณ์การก่ออาชญากรรมที่ผู้ก่อเหตุมักจะใช้สารเคมีไซยาไนด์ เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการสังหารหมู่ 6 ศพในห้องโรงแรมใจกลางเมืองกรุงเทพด้วยสารเคมีดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่สะเทือนขวัญเป็นอย่างมาก โดยพบว่ามีการซื้อขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้ออกระเบียบกำหนดการควบคุผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือน หรือทางสาธารณสุขที่มีเกลือของไซยาไนด์ที่ละลายน้ำได้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต ห้ามไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศ โดยมีมาตรการกำกับดูแลกรณีมีการนำเข้า และการครอบครองสารดังกล่าว ดังนี้
1. ผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ และขออนุญาตก่อนนำเข้าโดยการพิจารณาอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด และการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏในใบสำคัญการขึ้นทะเบียน
2. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ในการนำเข้าต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้า ก่อนนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ ออกจากด่านศุลกากร เช่น ปริมาณการนำเข้า ลักษณะภาชนะบรรจุ สถานที่เก็บรักษา และกำหนดวันที่พาหนะ จะมาถึงด่านศุลกากร เป็นต้น ตามแบบ วอ./อก.6 โดยปัจจุบันกำหนดให้แจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
3. กรณีมีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในความครอบครอง ตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ในรอบ 6 เดือน ต้องแจ้งข้อเท็จจริง เช่น ปริมาณการใช้ การจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ และข้อมูลผู้ซื้อ เป็นต้น
4. กรณีครอบครองโพแทสเซียมไซยาไนด์เพื่อการใช้สอยส่วนบุคคล หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม และกรณีครอบครองโพแทสเซียมไซยาไนด์เพื่อการค้าปลีก ที่เก็บโพแทสเซียมไซยาไนด์และวัตถุอันตรายทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายรวมกันไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตครอบครอง
ด้านนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า สถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ จะต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ได้