ทีดีอาร์ไอ เสนอ 3 ข้อ สร้างสมดุลเศรษฐกิจ เพื่ออยู่ร่วมกับทุนจีน
ปัญหาการรุกคืบของกลุ่มทุนในหลายมิติของเศรษฐกิจไทย ถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการแต่ดูเหมือนว่าไม่อาจฝากความหวังไว้ได้ อีกทั้งกฎหมายของประเทศไทยเองก็ยังเอื้อมเข้าไปไม่ถึงอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอแนะจากนายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อให้ภาครัฐหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่า รัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้กลยุทธ์ ในการปรับสมดุลทางการค้าให้อยู่ในกรอบความพอดี เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการชาวไทยจนถูกเอารัดเอาเปรียบและเดือดร้อน ถือว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐควรให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐบาลสามารถแก้ไข 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1.หน่วยงานรัฐบาลจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนในเรื่องการเท่าเทียมกันทั้งผู้ประกอบการชาวไทยและชาวต่างชาติให้อยู่ในกรอบในการประกอบธุรกิจที่ถูกต้อง ทั้งการผลิตสินค้าและบริการ จะต้องเข้มงวดเรื่องของคุณภาพและความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินธุรกิจ 2.การเข้มงวดมาตรฐานการเสียภาษี โดยควรเดินหน้า ร่าง พ.ร.บ. Global minimum tax ซึ่งจะบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน 2.8 หมื่นล้านบาท 3.ต้องมีการคุมกระบวนการจัดการการผลิตเพื่อให้สินค้าและบริการ มีความโปร่งใส และถูกกฎหมาย และหน่วยงานรัฐควรจะต้องให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ได้มากที่สุด โดยผู้ประกอบการทุกฝ่ายต้องมีการเคารพสิทธิทางด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ทำผิดกฎหมาย และจะต้องไม่มีนอมินีเข้ามาแบบผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน
"โดยส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยที่ต้องกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วอุ้มแต่ธุรกิจไทย เพียงแต่ทุกอย่างต้องปรับให้มีการแข่งขันที่สมดุล จึงจะเกิดประโยชน์"
นายนณริฏ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มทุนจีนธุรกิจที่เข้ามาประกอบธุรกิจสีเทานั้น อย่างแรกต้องแยกกับธุรกิจสีขาวก่อน ธุรกิจสีขาวคือการนำเข้ามาเพื่อมาแข่งขันกับธุรกิจประเทศไทย อาทิ แพลตฟอร์ม เทมู (Temu) หรือเข้ามาโดยการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนธุรกิจสีเทานั้นคือธุรกิจที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ดังนั้น หน่วยงานรัฐจะต้องมีการเข้มงวดมากขึ้น