xs
xsm
sm
md
lg

30 ตุลาคม 2573 กรุงเทพจมบาดาล คำทำนาย หลวงปู่ศิลา สายพระพิสูจน์วิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



30 ตุลาคม 2573 กรุงเทพจมบาดาล คำทำนาย หลวงปู่ศิลา สายพระพิสูจน์วิทยาศาสตร์ 
“พ.ศ.73 น้ำจะท่วมกรุงเทพ”
หากคำพูดนี้มิได้หลุดจากปากของหลวงปู่ศิลา สิริจันโท พระเกจิสายกรรมฐานที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการมีญานทิพย์หยั่งรู้ล่วงหน้า สามารถทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ผู้คนก็คงจะไม่ออกอาการเหลียวซ้ายแลขวาค้นหาข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ว่า

คำทำนายของหลวงปู่ศิลาจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจะแม่นยำเหมือนที่เคยทำนายเรื่องอื่น ๆ อย่างถูกต้องมาแล้วหรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่วิหารต่อแดนสวรรค์ ภายในวัดถ้ำแก้วภาวนา ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการจัดพิธีพุทธาภิเษกเหรียญมหาบารมีพระศรีอริย วาระที่ 2 ซึ่งในวันนั้นหลวงปู่ศิลาก็ได้กล่าวเตือนญาติโยมทั้งหลายที่อยู่ภายในงาน จนเป็นที่ฮือฮา

ด้วยที่ หลวงปู่ศิลาเตือนให้ทุกคนระวัง“อุทกภัยครั้งใหญ่” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2573 ว่ากรุงเทพมหานครจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบประวัติศาสตร์ จนทุกคนต้องหนีภัยแห่อพยพไปตั้งหลักอยู่ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และในปีนั้นเอง ที่ดินแถบโคราชก็จะมีราคาแพงเท่าตัว ขนาดที่ว่าขายกันวาละหลักล้านอีกด้วย

แม้ในวันที่หลวงปู่กล่าวเตือนผู้คนจะไม่แสดงอาการตื่นตระหนกมากนัก แต่ก็มีการแชร์คลิปดังกล่าวอย่างรวดเร็ว จนสื่อหลายสำนักนำไปเป็นประเด็นข่าว

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปก่อนหน้านี้ในปี 2565 และ 2566 ได้เคยมีผู้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้แล้วคนแรกคือ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
โดย ดร.เสรี ให้ทัศนะว่า จากการติดตาม และศึกษาข้อมูลงานวิจัยในระดับโลกที่มีการศึกษากันนั้น ชี้ให้เห็นว่า กทม.และปริมณฑลมีความเสี่ยงสูงมากที่จะจมใต้น้ำ 100% เพราะปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือหลากที่จะเกิดขึ้นในหน้าฝน ขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงถาวร ซึ่งใน 30 ปีข้างหน้าจะสูงขึ้นอีก 30-40 เซนติเมตร

จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะจากงานวิจัยพบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในลำดับ 7 ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมชายฝั่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดร.เสรีได้อ้างอิงถึงข้อมูล 3 งานวิจัยที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยกล่าวว่า
“ผมเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำงานกับคณะทำงาน กับ IPPC คือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate ) เป็นเวลา 10 ปีแล้ว
ผมจึงเห็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ 3 งานวิจัยมันชัดมากๆ ว่าน้ำทะเลหนุนสูง ปี 2030 พบว่า ชายฝั่งทะเลทั้งหลายจะหายไป ไม่ใช่พูดกันแบบลอยๆ ผมจึงอยากกระตุ้นให้รัฐบาลได้เตรียมรับมือให้พร้อมที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา”

ส่วนอีกคนหนึ่งที่ออกมาให้ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ว่า

กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาลภายใน 50 ปี ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย คือ 1. การทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ย 2-3 เซนติเมตรต่อปี 2. น้ำทะเลหนุน 3. การสูญเสียน้ำใต้ดินจากการใช้น้ำบาดาลในอดีต

ล่าสุดศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายกสภาวิศวกร นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ออกมาแสดงทรรศนะในเรื่องเกี่ยวกับการจมบาดาลของกรุงเทพมหานครว่า

มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 15 ปีนับจากนี้ ทั้งนี้ก็ด้วยลักษณะทาง กายภาพของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียง อย่างเช่น สมุทรปราการ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ หรือป้อมพระจุล จากอดีตที่ผ่านมาเมื่อน้ำทะเลหนุนจะไหลเข้าท่วมถนนที่อยู่ริมแม่น้ำ แต่ปัจจุบันเมื่อน้ำทะเลหนุน ระดับน้ำ จะแผ่ขยายเข้าถึงเขตเมืองแล้ว

ดร.เอ้ ซึ่งเคยลงสมัครผู้ว่า กทม. ย้ำว่า
“หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาและเตรียมการรับมือ โดยวิธีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ สร้างประตูระบายน้ำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เหมือนเช่นการแก้ปัญหาเมืองจมบาดาลอย่างเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสามารถเอาชนะปัญหาน้ำทะเลท่วมแผ่นดินได้อย่างถาวร

กรุงเทพมหานครอาจจะกลายสภาพเป็นเมืองจมบาดาลภายใน 15 ปีนับจากนี้
ดังนั้นเมื่อประมวลจากข้อมูลรอบด้าน ซึ่งดูเหมือนจะสอดคล้องกับคำทำนายของหลวงปู่คนไทยโดยเฉพาะชาว กทม. และจังหวัดใกล้เคียง คงต้องตั้งสติ และใช้วิจารณญาณให้ดีว่า สมควรตื่นตระหนกแล้วเตรียมพร้อมอพยพถิ่นฐาน หรือวางเฉยทำมาหากินต่อไป

เพราะไม่ว่าน้ำจะท่วมฟ้าจนปลาว่ายไปกินดาว ชีวิตก็ต้องเดินต่อโดยไม่อาจหยุดนิ่ง
และอย่างเร็วเวลาเพียง 7 ปี ก็มิใช่เนิ่นนานจนเกินไปที่จะรอคอยการพิสูจน์ว่า
ระหว่างสายวิปัสสนา กับสายวิทยาศาสตร์วิศวกรรม อย่างไหนจะเกิดขึ้นก่อนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น