xs
xsm
sm
md
lg

นักเคมีสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นด้วยปมใช้ "ไซยาไนด์" กำจัดปลาหมอคางดำ ห่วงวิธีนี้อาจสร้างปัญหาอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ไม่เห็นด้วยหลังมีอาจารย์รายหนึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนุนใช้ "ไซยาไนด์" กำจัดปลาหมอคางดำ ห่วงวิธีดังกล่าวอาจสร้างปัญหาในระบบนิเวศ รวมทั้งมนุษย์ที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำนั้นด้วย

จากกรณี รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่าให้นำ "ไซยาไนด์" กำจัดปลาหมอคางดำ เนื่องจากขยายพันธุ์แพร่ระบาดขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหลายส่วน

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. เฟซบุ๊ก "Siwatt Pongpiachan" หรือ ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ถึงประเด็นที่เกิดขึ้นระบุว่า "มีข่าวการนำเสนอแนวคิดเอาไซยาไนด์ (Cyanide) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงมาใช้จัดการกับปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) แม้จะเน้นย้ำว่าเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายเพื่อควบคุมไม่ให้ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์นี้แพร่กระจายออกในวงกว้าง แต่ส่วนตัวในฐานะนักเคมีสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างปัญหาอื่นที่หนักกว่ามาแทนที่

จริงอยู่ที่โครงสร้างทางเคมีของ ไซยาไนด์ ประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอนที่มีพันธะสาม (Triple Bond) กับอะตอมไนโตรเจน (C≡N) มองดูเผิน ๆ ธาตุคาร์บอนกับไนโตรเจนก็เป็นธาตุที่เราคุ้นเคยกันดีในชีวิตประจำวันและไซยาไนด์เองก็ถูกสร้างขึ้นได้ตามธรรมชาติเช่นในเมล็ดของแอพพริคอท (Apricot) และเชอรรี่ดำ (Black cherry) แต่ด้วยความเข้มข้นที่ต่ำมาก เลยช่วยคลายความกังวลในประเด็นผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ทีนี้พอจะนำเจ้า ไซยาไนด์ มาใช้ในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ แนวคิดนี้มีความสุ่มเสี่ยงสูงที่จะก่อผลกระทบเชิงลบต่อประเทศในหลายมิติ เช่น

1. ไซยาไนด์ ไม่ได้ฆ่าแต่ ปลาหมอคางดำ หากรวมไปถึงปลาท้องถิ่นรวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศรวมทั้งมนุษย์ที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำนั้นด้วย นี้คือหายนะของสายใยอาหาร (Food Web) หรือห่วงโซ่อาหารที่มีความซับซ้อนหลากหลายชุด (Complex Food Chain)

2. ไซยาไนด์ สามารถสร้างสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างโลหะหนักกับตัวมันเองได้ (Cyano-Metal Complexes) ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไซยาไนด์จึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่เช่นการนำ ไซยาไนด์มาจับกับทองคำที่ปนเปื้อนอยู่ในโคลนเลนตามธรรมชาติ ด้วยสมบัติที่สามารถจับกับโลหะหนักที่มีความเป็นพิษสูงนี้เองที่ทำให้ตัว ไซยาไนด์ มีความน่ากลัวมากขึ้น เพราะโลหะหนักหลายชนิดสามารถสะสมเข้าไปในร่างกายของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศผ่านกระบวนการสะสมทางชีวภาพ (Bioaccumulation) และการขยายทางชีวภาพ (Biomagnification) ตัวอย่างของสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างโลหะหนักกับไซยาไนด์เช่น Potassium Dicyanoaurate (K[Au(CN)₂]), Mercury(II) Cyanide (Hg(CN)₂), และ Arsenic(V) Cyanide Complex ([As(CN)₆]⁻³) เป็นต้น

3. การสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมในวงกว้างคงเป็นที่ทราบกันดีว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไซยาไนด์ ถูกนำมาใช้ในการก่อเหตุอาชญกรรมที่เป็นข่าวโด่งดังเช่น คดีแอมไซยาไนด์ และ คดีฆาตกรรมชาวเวียดนาม 6 ศพในโรงแรมหรูในกลางเมือง การสนับสนุนวิธีการควบคุมปลาหมอคางดำด้วยการใช้ไซยาไนด์ย่อมเท่ากับเป็นการช่วยให้ประชาชนทั่วไปมีมุมมองต่อสารพิษร้ายแรงประเภทนี้ไม่ต่างอะไรกับ ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า เท่ากับเป็นการช่วยลดทอนความตระหนักของสาธารณะ (Public Perception) ถึงภัยอันตรายของสารพิษชนิดนี้ในทางอ้อม แล้วควรจะแก้ปัญหาวิธีนี้อย่างไร?

1. การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร​์ (Economic Instruments) ส่วนตัวแล้วการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำโดยใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ขับเคลื่อน เช่นการเพิ่มราคารับซื้อโดยภาครัฐอาจสนับสนุนมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ยังคงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดและภาครัฐควรส่งเสริม

2. การใช้นักล่าตามธรรมชาติ (Natural Predators) อย่างเช่น นาก (Lutra lutra) ซึ่งเป็นเป็นสัตว์บกที่สามารถว่ายน้ำและหากินในน้ำได้อย่างคล่องแคล่วมาก มาช่วยในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังคำนวณจำนวน นักล่า ที่เหมาะสมไม่ให้กระทบกับโครงสร้างในภาพรวมของสายใยอาหาร

3. การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ (New Business Model) เช่นการจัดแข่งขันตกปลาหมอคางดำ ชิงถ้วยรางวัลนายกรัฐมนตรี การจัดประกวดนวัตกรรมการประดิษฐ์เครื่องมือจับปลาหมอคางดำที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมุ่งเน้นไปที่นักเรียนระดับมัธยม เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐเป็นผู้มอบเงินรางวัลให้กับนักเรียน หรือทีมผู้เข้าแข่งขัน

4. หากจำเป็นต้องใช้ยาแรงจริงๆ การควบคุมโดยใช้หลักฟิสิกส์อย่างเช่นใช้กระแสไฟฟ้าช็อตภายใต้การควบคุมของนักวิชาการของกรมประมง ก็ยังคงเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าการใช้ ไซยาไนด์

เข้าใจว่าทุกท่านต่างมีความหวังดีต่อประเทศด้วยกันทั้งสิ้น แต่การคิดอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงผลกระทบข้างเคียงอื่นซึ่งอาจสร้างปัญหาที่หนักยิ่งกว่าในอนาคตก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน"


กำลังโหลดความคิดเห็น