xs
xsm
sm
md
lg

“หมื่นดิจิทัล” เคลียร์จบพร้อมแจก ลุ้นปั่นพายุหมุน ดีดจีดีพีเด้งได้จริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  หลังฉุดกระชากลากถูกันมาร่วมปี บัดนี้ “หมื่นดิจิทัล” เคลียร์จบพร้อมแจก เหลือเพียงรอเวลาแจกจริง และประสิทธิภาพตามที่โฆษณาเอาไว้ว่า จะมีอิทธิฤทธิ์เพียงพอที่จะก่อพายุหมุนเศรษฐกิจตามคำสัญญาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น 

ทั้งนี้ พายุหมุนหมื่นดิจิทัล 4 ลูก ตามที่คาดหวังนั้น  พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจกแจงว่า ลูกแรกคือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกระจายไปพร้อมทุกอำเภอทั่วประเทศ เพิ่มกำลังซื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน ลูกที่สองคือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่

ลูกที่สามคือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค สร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ
และสุดท้าย ลูกที่สี่คือ พลังการใช้จ่ายของประชาชนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ฟื้นฟูภาคการผลิต สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

พร้อมกับถ้อยแถลงไทม์ไลน์เดินหน้าโครงการ วันลงทะเบียน เงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน ฯลฯ ซึ่งคาดว่าเงินดิจิทัลจะลงถึงมือประชาชน 45 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ในไตรมาส 4/2567 หรือดีเดย์เร็วสุดคือ 1 ตุลาคม 2567 นี้


 รัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งชูโครงการแจกหมื่นดิจิทัล เป็นเรือธง ประเมินว่า เงินจากดิจิทัล วอลเลต จะหมุนในระบบเศรษฐกิจเฉลี่ย 3.7 รอบ คาดว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท  

พิชัย คาดหมายว่า การแจกหมื่นดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการใช้จ่าย จะสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและผลผลิตต่อเนื่อง โดยจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) หรือ จีดีพี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 2.4% ให้ไปถึง 3% ในปีนี้

 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แจงว่า การใช้จ่ายเงินดิจิทัลในปีนี้อาจจะยังไม่มีผลต่อจีดีพี เพราะใช้จ่ายช่วงปลายปี ส่วนปี 2568 คาดว่าจะมีผลต่อจีดีพี ราว 1.2-1.8% ส่วนกลุ่มเป้าหมายโครงการ 50.7 ล้านคน แต่ประมาณลงทะเบียน จะอยู่ที่ 45 ล้านคน โดยแหล่งเงินงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท มาจากเงินงบประมาณ ปี 2567 ประมาณ 1.65 แสน และงบฯปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท

ก่อนหน้านี้  ธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ช่วยปั่นว่า การแจกเงินดิจิทัล จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ ก่อให้เกิดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ถึง 3-4%

แต่หลายสำนักเศรษฐกิจ กลับไม่ได้ประเมินพายุหมุนเศรษฐกิจจากโครงการหมื่นดิจิทัลไว้สูงขนาดนั้น ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์  ประเมินว่า ดิจิทัล วอลเล็ต อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.5-1% ของ GDP เท่านั้น แต่กลับมีต้นทุนสูงประมาณ 2.7% ของ GDP และอาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอย

ขณะที่  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นต่อโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มาตลอดว่า การจะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ลงไป เสี่ยงต่อเงินเฟ้อ และพื้นที่ทางการคลังลดน้อยลง เม็ดเงินที่ควรนำมาใช้ในการลงทุนภาครัฐซึ่งจะหดหายไปจากที่ต้องเทงบประมาณมาดำเนินโครงการนี้

 ศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห่วงว่าการดึงเงินงบประมาณมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเลต หากไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวได้ จะยิ่งทำให้งบประมาณของประเทศอยู่ในภาวะขาดดุลสูงต่อเนื่อง นำมาซึ่งความอ่อนแอของวินัยการคลังที่เสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ เครื่องยนต์สำคัญตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

คำถามที่ดังเซ็งแซ่มาตลอดสำหรับโครงการแจกหมื่นดิจิทัล คือ การทุ่มเงินลงไปมหาศาล จากวงเงิน 5.6 แสนล้าน ช่วงแรกเริ่มโครงการแล้วปรับมาเหลือ 5 แสนล้านบาท และสุดท้ายเคาะที่ 4.5 แสนล้านบาท เพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ จะได้คุ้มเสียหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ถึงที่สุดแล้ว แม้ว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะยืนยันว่าแหล่งเงินจะมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ ปี 2568 แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้อง  “กู้”  ในภาวะที่ดอกเบี้ยสูง

กล่าวคือ งบปี 2567 จำนวน 165,000 ล้านบาท ที่จะเอามาใช้นั้น มาจากการกู้เพิ่ม 112,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ผ่านวาระแรก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 จะเข้าสภา สส. พิจารณาวาระ 2 – 3 วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ส่วนที่เหลือคาดการณ์จัดเก็บภาษีเพิ่ม 10,000 ล้านบาท และงบบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบ 43,000 ล้านบาท

ส่วนงบปี 2568 จำนวน 285,000 ล้านบาท มาจากการกู้เพิ่ม 152,700 ล้านบาท ซึ่งมีการเสนอสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2) และงบการบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบ 132,300 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ระบุชัดเจนว่ามาจากไหน สรุปชัดๆ ในเวลานี้ คือ รัฐบาลต้องกู้เงินมาใช้ดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต สองก้อน คือ 112,000 ล้านบาท ในปี 2567 และ 152,700 ล้านบาท ในปี 2568 รวมวงเงิน 264,700 ล้านบาท

 ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567ว่า การที่รัฐบาลจะกู้เพิ่มอีก 112,000 ล้านบาท จะทำให้งบปี 2567 มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสูงถึง 805,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.34% สูงเป็นประวัติการณ์ สร้างปัญหาเพิ่มหนี้สาธารณะและชำระดอกเบี้ย

 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่ารัฐบาลทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แบบ “คิดไป ทำไป” ยอดเงินปรับลดจากเรือยอร์ชกลายเป็นเรือแจว และยังไม่ชัดเจนว่า งบ 132,300 ล้านบาท (งบประมาณฯ ปี 2568) ที่จะนำมาใช้ในโครงการจะมาจากไหน

การก่อหนี้ของรัฐบาล แน่นอนจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เฉียดใกล้กรอบวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ว่าหนี้สาธารณะ มีเพดานอยู่ที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี ซึ่งตัวเลข ณ เดือนกันยายน 2566 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 11.13 ล้านล้านบาท คือเป็น 62.44% ของจีดีพี หากกู้มาเพิ่มเติมเพื่อทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก็จะเพิ่มขึ้นเฉียดใกล้เพดาน 70% เข้าไปทุกขณะ

นอกจากเรื่องหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว การกระตุ้นการใช้จ่ายในโครงการหมื่นดิจิทัล อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายแบบ  “มือเติบ”  หรือจ่ายเกินหมื่นมากกว่าที่รับแจก

มีข้อสรุปจากกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ช่วงเดือนมีนาคม 2567 ว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล มีข้อดีอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หวั่นว่าจะสร้างปัญหาต่อหนี้สาธารณะของประเทศ และหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ที่ประมาณ 90.6% ต่อจีดีพี และหากบวกหนี้นอกระบบ รวมกันแล้วประมาณ 19 ล้านล้านบาท มากกว่า 100% ต่อจีดีพี กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง บั่นทอนการบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ เพิ่มขึ้นตลอด ณ เดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 62.23% ของจีดีพี ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระยะ 3–5 ปีข้างหน้า ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย อาจยังไม่ลดลง และจะเสี่ยงมากขึ้นหากมีวิกฤตเกิดขึ้น

 แม้จะมีเสียงสะท้อนต่างๆ นาๆ พายุหมุนเศรษฐกิจ อาจไม่แรงดังเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้สูงลิ่ว แต่เรือธงหมื่นดิจิทัล ก็เป็นกระสุนนัดใหญ่นัดเดียวที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เดิมพันสุดตัว ประชาชนคนไทย 45 ล้านคน เตรียมพร้อมขี่พายุทะลุฟ้า ปลายนี้ได้รับแจก จับจ่ายใช้สอยกันแน่นอน  


กำลังโหลดความคิดเห็น