xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยเบฟ” จัดทัพใหม่ ทิ้งอสังหาฯ ดันเครื่องดื่ม-อาหาร นำลิ่วเบอร์หนึ่งอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  อาณาจักรธุรกิจแสนล้านเครือไทยเบฟของ “เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี” มีการเขย่าโครงสร้างธุรกิจเพื่อเสริมแกร่ง สร้างจุดแข็งในแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น 

ล่าสุดคือ ไทยเบฟ จะโอนหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน  บริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (Frasers Property) ในสิงคโปร์ ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไปให้กับ  บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (TCC Assets) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งอีกแห่งในเครือ

เป็นการโยกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไทยเบฟ ถืออยู่ใน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ไปให้ ทีซีซี แอสเซ็ทส์ มัดรวมกันเป็นอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่ง พร้อมกับภารกิจปั้นแบรนด์  “เฟรเซอร์ส”  ให้ติดอันดับแถวหน้า

ขณะเดียวกัน ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ก็จะโอนหุ้นใน บริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ เอฟแอนด์เอ็น (Fraser & Neave - F&N)  ซึ่งเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 41.30 ให้กับไทยเบฟ

 ธุรกรรมนี้จะทำให้ไทยเบฟ ถือธงนำเบอร์หนึ่งในตลาดเครื่องดื่มและอาหาร ชนิดที่เรียกว่าทิ้งห่างคู่แข่งในอาเซียนหลายช่วงตัว 
ไทยเบฟ ระบุว่า การแลกเปลี่ยนหุ้นจะดำเนินการในอัตราส่วนประมาณ 1.88 หุ้นของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ต่อหุ้น F&N แต่ละหุ้น อ้างอิงจากราคาเจรจาที่ 1.89 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น Fraser Property และ 3.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น F&N

ภายหลังการแลกเปลี่ยนหุ้นเสร็จสิ้น สัดส่วนการถือครองใน F&N ของไทยเบฟ จะเพิ่มขึ้นเป็น 69.61% ขณะเดียวกัน สัดส่วนการถือหุ้นของ ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ใน เฟรเซอร์ส์ พร็อพเพอร์ตี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 86.89 % จาก 58.1 % ส่วนหุ้นใน F&N จะลดเหลือ 17.6% จาก 58.9%


บนพื้นฐานการคาดการณ์ล่วงหน้า 12 เดือน การรวมกิจการนี้จะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จาก 1.06 บาท เป็น 1.10 บาท

 “เป้าหมายของข้อเสนอการแลกหุ้น คือการเสริมความแข็งแกร่งของเราในฐานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน ตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารอย่างแท้จริง ด้วยการถอนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ประภากร ทองเทพไพโรจน์ ผู้บริหารสูงสุดการเงินและการบัญชีกลุ่มไทยเบฟ กล่าว 


นอกจากนี้ เขายังเชื่อมั่นว่า จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยเบฟ และตราสินค้าเครื่องดื่มและอาหารของ F&N ในการขยายความสามารถในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกันด้านการดำเนินงาน ทำให้ไทยเบฟมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น โดยมีกำไรสุทธิจากประมาณการณ์ล่วงหน้าเพิ่มขึ้น รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ที่ดีขึ้น

กลุ่มไทยเบฟ เป็นบริษัทเครื่องดื่มอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน ปัจจุบัน ธุรกิจของไทยเบฟ ประกอบด้วย 4 สายหลัก ได้แก่  สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร 

 กลุ่มบริษัทไทยเบฟ มีโรงงานผลิตสุรา 19 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อีก 20 แห่งในประเทศไทย และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมจุดขายมากกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ จำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก  

อีกทั้งยังมีเครือข่ายโรงงานผลิตเบียร์ 26 แห่งในเวียดนาม ที่ผลิต Bia Saigon และ 333 ของซาเบโก้ โรงงานผลิตสุรา 5 แห่ง ในสกอตแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์ โรงงาน 1 แห่งในฝรั่งเศส สำหรับผลิตสุราลาร์เซน คอนญัก โรงงานผลิตสุรา 1 แห่ง ในนิวซีแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์โลกใหม่ ของคาร์โดรนา โรงงาน 2 แห่ง ในเมียนมา และโรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในจีน สำหรับผลิตสุราอวี้หลินฉวน

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ไทยเบฟ มีตราสินค้าชั้นนำ ได้แก่ ชาเขียวโออิชิ เครื่องดื่มอัดลมเอส โคล่า น้ำดื่มคริสตัล ผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มเกลือแร่ 100PLUS เป็นต้น

นอกจากนี้ ไทยเบฟ ยังดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน ผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย และธุรกิจแฟรนไชส์เคเอฟซี

ไทยเบฟ เป็นผู้นำจ่าฝูงกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร อันดับ 1. ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อดูจากรายได้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 โดย ไทยเบฟ มีรายได้ 2.78 แสนล้านบาท ตามด้วยอันดับ 2. ซานมิเกล (ฟิลิปปินส์) 2.47 แสนล้านบาท อันดับ 3.อินโดฟู้ด ซีบีพี (อินโดนีเซีย) 1.57 แสนล้านบาท อันดับ 4. มาซานกรุ๊ป (เวียดนาม) 1.14 แสนล้านบาท อันดับ 5. Universal Robina (ฟิลิปปินส์) 1.04 แสนล้านบาท และ อันดับ 6. เอฟแอนด์เอ็น (สิงคโปร์) 5.72 หมื่นล้าน

 ทั้งนี้ ภายหลังธุรกรรมการแลกหุ้นข้างต้นสำเร็จ ไทยเบฟ จะกลายเป็นบริษัทที่มีรายได้นำโด่งกว่า 3.35 แสนล้านบาท และสัดส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร เพิ่มเป็น 26.5% จาก 14.2%  


สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไทยเบฟสวอปหุ้นเฟรเซอร์สฯ ไปยังทีซีซี แอสเซ็ทส์ นั้น แม้ว่าเฟรเซอร์สฯ จะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ มีมูลค่าทรัพย์สินทะลุหลักแสนล้าน แต่ทว่า แบรนด์ของ “เฟรเซอร์ส” ยังไม่ติดอันดับท็อปเท็นที่คนนึกถึง ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่ทีซีซี แอสเซ็ทส์ จะต้องปั้นชื่อเสียงให้ “เฟรเซอร์ส” ขึ้นสู่อันดับอสังหาฯ Top 5 ตามเป้าหมาย

“เป็นความท้าทายของเรามาก เพราะเรามีหลายอย่างอยู่ในมือ....” ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ หลังจากผลสำรวจเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ชื่อของบริษัท เฟรเซอร์ส ยังไม่อยู่ในกลุ่ม Top 10 บริษัทอสังหาฯ ที่คนจดจำได้ (Top of Mind) เพราะชื่อองค์กรยังไม่เป็นที่รู้จัก แถมบางคนยังมีภาพจำว่าเป็นบริษัททำน้ำอัดลมอีกต่างหาก

สำหรับการจัดทัพปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟ ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ไทยเบฟ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าจะนำ  บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SCC  ออกจากตลาดหุ้น โดยให้บริษัทในเครือ คือ  บริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SSC ในสัดส่วน 64.67% ประกาศรับซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ 93.9 ล้านหุ้น หรือ 35.33% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เพื่อเพิกถอน SSC ออกจากตลาดหุ้น

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว 2566 กลุ่มไทยเบฟ ได้เพิกถอน  หุ้น OISHI หรือ โออิชิ กรุ๊ป  ผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม และดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ออกจากตลาดหุ้นไปเช่นกัน

เหตุผลการขอถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การบริหารงาน การดำเนินธุรกิจ มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 การจัดทัพโครงสร้างธุรกิจใหม่ ให้อยู่ถูกที่ถูกทาง จะทำให้ไทยเบฟกลายเป็นบริษัทที่มีรายได้นำลิ่ว ครองแชมป์เบอร์หนึ่งในอาเซียน ทิ้งห่างคู่แข่งขันแบบไม่เห็นฝุ่น 



กำลังโหลดความคิดเห็น