xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก “หมอคางดำ” ในชื่อ “หมอเทศ” ความจริงที่ “กรมประมง” ต้อง “สารภาพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ “วิกฤตปลาหมอคางดำ” ที่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ” เนื่องด้วยอาศัยได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และมีสภาวะทนความเค็มได้สูง แถมแค่อายุ 3 เดือนก็ขยายพันธุ์ได้แล้ว อีกทั้งมีไข่ตลอดทั้งปีทำให้เกิดลูกปลาจำนวนมหาศาล ถือเป็นมหันตภัยร้ายทำลายที่น่าปริวิตกขั้นสุด จนต้องมีการระดมสมองกันเป็นขนานใหญ่ว่า จะมีวิธีกำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์สายพันธุ์นี้ได้อย่างไร

มาตรการที่ปรากฏก็อย่างเช่นออกไล่ล่าตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งจับด้วยวิธีปกติ หรือใช้ไฟฟ้าชอต ปล่อยพันธุ์ปลานักล่าเพื่อช่วยกำจัด รับซื้อเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สารพัดชนิด เช่น ทำปลาป่นสำหรับอาหารสัตว์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ใช้งบ 50 ล้านบาทรับซื้อเพื่อไปทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ กรมราชทัณฑ์ที่ประกาศรับซื้อเพื่อไปเป็นอาหารสำหรับผู้ต้องขัง หรือคิดค้นเมนูอาหารต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการไล่ล่า เป็นต้น
ทว่า ก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าจะกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นซากหมดไปจากประเทศไทยได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี เงื่อนปมที่เป็นที่ถกเถียงหัวข้อใหญ่สุดก็คือ “ใคร” คือต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่า หน่วยงานที่รู้อยู่เต็มอกก็คือ “กรมประมง” ด้วยเป็นผู้ที่รับผิดชอบแบบเต็มๆ แต่ก็มิได้ทำให้สังคมเกิดความกระจ่างแต่ประการ

ทั้งนี้ เมื่อมีการสืบค้นย้อนไปพบว่า มีการอนุมัตินำเข้า “ปลาหมอคางดำ” เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ 18 ปีก่อน หรือเมื่อปี 2549 โดยมีบริษัทการเกษตรชื่อดังรายหนึ่งได้ยื่นขอนำเข้าต่อ คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) และคณะกรรมการดังกล่าว ก็มีมติให้อนุญาตให้นำเข้ามาจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง
 4 ปีต่อมา ช่วงปลายปี 2553 บริษัทดังกล่าวนำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบ

ทว่า ถัดมาอีก 2 ปี ในปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะขยายวงไปในอีกหลายจังหวัดในปัจจุบันดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

ปัญหาที่ต้องสืบค้นก็คือ มีการลักลอบนำเข้ามาจาก “แหล่งอื่น” หรือไม่อย่างไร เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นอกจากบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่แล้วไม่เคยมีใครขออนุญาตนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” เลย แต่กลับมีบริษัทมากมายถึง 11 บริษัทที่ขออนุญาตส่งออกปลาหมอคางดำโดยในช่วงปี 2556-2559 จำหน่ายส่งออกไปยัง 17 ประเทศ รวมกว่า 230,000 ตัว

ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นไปได้ว่า อาจมีการลักลอบเข้ามาและพ่อแม่พันธุ์ดังกล่าวหลุดลอดออกไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ

สำหรับบริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำทั้ง 11 แห่งประกอบไปด้วย

หนึ่ง - หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์ จำนวน 162,000 ตัว

สอง - หจก.ซีฟู้ดส์ อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต จำนวน 30,000 ตัว

สาม – บริษัท นิว วาไรตี้ จำนวน 29,000 ตัว

สี่ – บริษัท พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง จำนวน 3,638 ตัว

ห้า - บริษัทไทย เฉียน หวู่ จำนวน 2,900 ตัว


ส่วนที่เหลืออีก 6 บริษัทคือ บจก.แอดวานซ์ อควาติก, บจก.เอเชีย อะควาติคส์, บจก.หมีขาว, หจก.วีอควอเรียม, บจก.สยามออร์นา เมนทอล ฟิช และ หจก.สมิตรา อะแควเรี่ยม มียอดส่งออกในหลัก 100-900 ตัว

ที่แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ไปกว่านั้นคือ “นายบัญชา สุขแก้ว” อธิบดีกรมประมง กลับให้ข้อมูลกับ คณะอนุกรรมาธิการว่า จากการตรวจสอบ บริษัทผู้ส่งออกทั้ง 11 ราย พบว่า ในเอกสารส่งออกระบุว่า ปลาที่ส่งออก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซาโรเทอโรดอน เมลาโนเทอรอน (Sarotherodon melanotheron) ชื่อสามัญว่า แบล็กชิน ทิลาเพีย (Blackchin tilapia) ชื่อภาษาไทยว่า “ปลาหมอเทศข้างลาย”


พร้อมกันนั้นอธิบดีกรมประมงยังบอกด้วยว่า น่าจะเป็นความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งที่ส่งออก ที่ใส่ชื่อ “วิทยาศาสตร์” และชื่อ “สามัญ” ของปลาหมอเทศข้างลายผิด?

นี่คือเรื่องที่ขำไม่ออกและกลายเป็นประเด็นที่ต้องแสวงหาความจริงว่า เป็นไปได้หรือที่จะกรอกชื่อผิดมา 4 ปี และกรอกชื่อผิดทั้ง 11 บริษัท โดยที่กรมประมงไม่เอะใจตรวจสอบตามที่อธิบดีกรมประมงกล่าวอ้าง ด้วยก่อให้เกิดความสงสัยอย่างยิ่งว่า หรือทั้ง 11 บริษัทมีเส้นสนกลในและความสัมพันธ์ในระดับที่ไม่ธรรมดากับใครสักคนในกรมประมง นอกจากนั้น ยังต้องหาคำตอบมาให้ได้ด้วยว่า ปลาหมอคางดำที่ส่งออกนี้ทั้ง 11 บริษัทนำเข้ามาจากไหน และนำเข้าแล้วมีการไปเพาะเลี้ยง ณ สถานที่ รวมทั้งจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีเล็ดลอดหลังประกาศห้ามส่งออก ขายปลาหมดสต็อกจริงหรือ แล้วปลาพ่อแม่พันธุ์หายไปไหน

เหนือสิ่งอื่นใดคือ นอกจากปลาหมอคางดำแล้ว ยังมีปลาต้องห้ามชนิดอื่นๆ ผ่านกระบวนการหรือเส้นทางเฉกเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีความมั่นใจเลยว่า ได้ดำเนินไปตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

ผู้ที่จะให้คำตอบและผู้รับผิดชอบเรื่องนี้คือ “กรมประมง”

ส่วนแก้ปัญหาหารแพร่ระบาดของปลาหมอคางคำหลังถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ แนวทางมาตรการเข้มข้นประสานความร่วมจากทุกภาคส่วน ภารกิจระดับชาติปราบปลาหมอคางดำจะสำเร็จลุลวงเห็นผลเป็นรูปธรรมเร็วที่สุดเมื่อใด รัฐบาลจะหยุดยั้งความน่าสะพรึงของเอเลียนสปีซีส์ที่กำลังทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยได้หรือไม่? ต้องติดตามเพราะภารกิจกำจัดปลาหมอคางดำนั้น ทำเอา “รัฐบาลคางเหลือง” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น