xs
xsm
sm
md
lg

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภูฏาน (18)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


 ป้อมปราการทาชิโชในเมืองทิมพู ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของภูฎานที่มีชื่อเรียกว่า Dzongs
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 16 ปี

ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ผู้เขียนได้กล่าวถึงสาระสำคัญของบางหมวดไปแล้ว ได้แก่ สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชาวภูฏาน แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากทั้งอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร
ที่น่าสนใจคือ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-26 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึง หมวดที่ว่าการปกครองท้องถิ่น (Local Government) ในตอนนี้จะกล่าวถึง หมวดที่สามสิบสี่  อันเป็น  หมวดที่ว่าด้วยการทำประชามติแห่งชาติ (National Referendum)  ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 มาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1  ให้เจตจำนงของประชาชนแสดงออกในการทำประชามติ เกณฑ์การผ่านประชามติคือใช้เสียงข้างมากธรรมดา (simple majority) ของจำนวนเสียงที่มาลงคะแนนทั้งหมด
 มาตรา 2  สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการทำประชามติ หาก:

(a) ในพระราชวินิจฉัยของพระองค์ ร่างกฎหมายที่มีความสำคัญต่อชาติ แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา; หรือ

(b) เสียงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดขององค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดร้องขอ

มาตรา 3 ไม่ให้ทำประชามติต่อประเด็นคำถามเกี่ยวกับการจัดเก็บ เปลี่ยนแปลง ยกเลิกภาษีหรือในเรื่องอื่นใดที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา

 มาตรา 4  รัฐสภากำหนดกระบวนการในการจัดทำประชามติแห่งชาติและตราเป็นกฎหมาย

รัฐธรรมนูญภูฏานมีหมวดที่ให้ความสำคัญต่อศาสนา วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยแยกออกเป็นสามหมวดต่างหากจากกัน โดยอยู่ในหมวดที่สาม สี่และห้าตามลำดับ หมวดที่สามจะใช้ชื่อว่า  “มรดกทางจิตวิญญาณ” (Spiritual Heritage)  มีทั้งสิ้น 7 มาตรา ดังต่อไปนี้

 มาตรา 1 พุทธศาสนาเป็นมรดกทางจิตวิญญาณของภูฏาน ที่ส่งเสริมหลักการและคุณค่าของสันติภาพ การไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence) ความเมตตากรุณาและขันติธรรม
 มาตรา 2  สมเด็จพระราชาธิบดีเป็นผู้ปกป้องศาสนาทั้งหมดในภูฏาน
 มาตรา 3 สถาบันและบุคคลสำคัญทางศาสนามีความรับผิดชอบในการส่งเสริมมรดกทางจิตวิญญาณของประเทศ ให้ความมั่นใจในการแยกศาสนาออกจากการเมืองในภูฏาน สถาบันและบุคคลสำคัญทางศาสนาอยู่เหนือการเมือง

 มาตรา 4 ตามคำแนะนำของพระมหาเถระห้ารูป สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งภิกษุที่มีความรู้และเป็นที่เคารพที่บรรพชาตามประเพณีพพุทธศาสนาของภูฏานที่มีคุณสมบัติเก้าประการของผู้นำทางจิตวิญญาณตามขั้นตอนและการปฏิบัติตามแบบวัชรญาณให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งภูฏาน

 มาตรา 5  ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกิจการสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งภิกษุที่มีคุณสมบัติเก้าประการของผู้นำทางจิตวิญญาณตามขั้นตอนและการปฏิบัติตามแบบวัชรญาณเป็นพระมหาเถระเก้ารูป

มาตรา 6  สมาชิกของคณะกรรมการกิจการสงฆ์ ประกอบไปด้วย:
(a)สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน
(b)พระมหาเถระจากคณะสงฆ์ส่วนกลางห้ารูป; และ

(c)เลขาธิการคณะกรรมการกิจการสงฆ์ ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการ

  Kyichu Lhakhang ศาสนสถานหรือวัดของภูฎาน
 มาตรา 7  คณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนอื่นๆ จะได้รับทุนที่เพียงพอและเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆจากรัฐ

จากหมวดนี้ จะสังเกตว่า รัฐธรรมนูญภูฏานไม่ได้กำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ใช้ว่าเป็นมรดกทางจิตวิญญาณของภูฏาน และต้องแยกขาดจาการเมืองโดยอยู่เหนือการเมือง

ต่อไปเป็น  หมวดที่สี่ ว่าด้วยวัฒนธรรม  มีทั้งสิ้น 4 มาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 รัฐจะต้องรักษา ปกป้อง และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ รวมทั้งอนุสาวรีย์ สถานที่และวัตถุที่น่าสนใจทางศิลปะหรือประวัติศาสตร์ วัด อารามวิหาร (Dzongs, Lhakhangs) ชุมชนสงฆ์ (Goendeys) สมบัติอันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา (Ten-sum) ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ พระคัมภีร์ สถูปเจดีย์ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (Nyes) ภาษา วรรณกรรม ดนตรี ทัศนศิลป์ และศาสนา เพื่อเสริมสร้างสังคมและชีวิตทางวัฒนธรรมของพลเมือง

 มาตรา 2  รัฐต้องยอมรับวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่มีวิวัฒนาการ และจะต้องพยายามเสริมสร้างและอำนวยความสะดวกในการวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของค่านิยมดั้งเดิมและสถาบันที่ยั่งยืนในฐานะสังคมที่ก้าวหน้า
 
มาตรา 3  รัฐต้องอนุรักษ์และส่งเสริมการวิจัยศิลปะ ประเพณี ความรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่น

 มาตรา 4  รัฐสภาตรากฎหมายดังกล่าวตามที่จำเป็น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความอุดมทางวัฒนธรรมของสังคมภูฏาน
ต่อไปคือ  หมวดที่ห้า ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม มี 5 มาตรา ดังต่อไปนี้

 มาตรา 1  ชาวภูฏานทุกคนเป็นผู้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และเป็นหน้าที่พื้นฐานของพลเมืองทุกคนในการมีส่วนร่วมในการปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ของภูฏาน และการป้องกัน ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทุกรูปแบบ รวมถึงมลภาวะทางเสียง สายตาและกายภาพ ผ่านการสนับสนุนและนำนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวปฏิบัติ

 มาตรา 2  รัฐบาล จะต้อง:

(a) ปกป้อง อนุรักษ์และพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

(b) ป้องกันมลพิษและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

(c) รักษาการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสมดุลทางนิเวศวิทยา ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สมเหตุสมผล
(d) รับรองสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

มาตรา 3 รัฐบาลจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า อย่างน้อยร้อยละหกสิบของที่ดินทั้งหมดของภูฏานจะต้องได้รับการดูแลภายใต้ป่าปกคลุมตลอดเวลา เพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

มาตรา 4 รัฐสภาอาจตรากฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและรักษาความเป็นธรรมระหว่างรุ่นคน และยืนยันสิทธิอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรทางชีวภาพของตนเอง

มาตรา 5  รัฐสภาอาจประกาศโดยการตรากฎหมาย ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าคุ้มครอง เขตสงวนชีวมณฑล เขตลุ่มน้ำวิกฤติ และประเภทอื่นๆ ที่ได้รับการคุ้มครอง


กำลังโหลดความคิดเห็น