xs
xsm
sm
md
lg

สมรภูมิโลก : BYD เตรียมเถลิงแชมป์ขายรถอีวีปี 2024 สมรภูมิไทย : ทัพจีนบุกต่อเนื่อง ตลาดมือสองกระเจิงอีกคำรบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เป็นที่รับรู้กันว่า คู่แข่งในสมรภูมิรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังดุเดือดเลือดพล่านอยู่ในเวลานี้มีตัวยืนหลักอยู่ที่ 2 ยี่คือ บีวายดี(BYD) จากจีนและเทสลา(TESTLA) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาแม้เทสลาจะยังคงยืนหนึ่งในเรื่องยอดขาย แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่บีวายดีเบียดแซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้เช่นกัน ตอกย้ำธรรมชาติของตลาดอีวีโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น จึงเป็นที่จับตาว่า สิ้นปี 2024 นี้บทสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บีวายดีเคยปาดหน้าเทสลาขึ้นเป็นผู้ผลิตอีวีใหญ่ที่สุดของโลกเป็นครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2023 แต่สามเดือนต่อมา บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์หนึ่งของอเมริกาแห่งนี้กลับมาชิงตำแหน่งคืนอย่างว่องไว ขณะที่ยอดขาย ณ ปัจจุบัน เทสลายังคงยึดตำแหน่งแชมป์ต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปีนี้ด้วยยอดขาย 443,956 คัน ขณะที่ยอดขายอีวีของบีวายดีแม้เพิ่มขึ้น 42% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ทำได้เพียง 426,039 คัน

อย่างไรก็ดี รายงานฉบับใหม่จากเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช คาดการณ์ว่า บีวายดีจะล้มแชมป์ได้อีกครั้งภายในปลายปีนี้ โดยคาดว่า จีนยังคงเป็นพลังที่ครอบงำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หรือ (BEV) ซึ่งมีบีวายดีเป็นผู้นำ

รายงานคาดว่า ยอดขายอีวีในจีนปีนี้จะสูงกว่าอเมริกาเหนือถึง 4 เท่า และจีนจะยังคงครองส่วนแบ่งยอดขาย BEV ในตลาดโลก 50% จนถึงปี 2027 และภายในปี 2030 ยอดขาย BEV ในจีนจะสูงกว่ายอดขายในอเมริกาเหนือและยุโรปรวมกัน ซึ่งการเติบโตในจีนเพียงพอที่จะทำให้บีวายดีล้มเทสลาและขึ้นเป็นผู้ผลิตอีวีใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2024

อนึ่ง ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตทั้งหมดของบีวายดีที่ครอบคลุมทั้ง BEV และไฮบริดอยู่ที่กว่า 3 ล้านคัน แซงหน้าปริมาณการผลิตของเทสลา (1.84 ล้านคัน) เป็นปีที่ 2 ติดกัน

อย่างไรก็ตาม บีวายดีผลิตรถยนต์นั่งที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว 1.6 ล้านคัน และไฮบริด 1.4 ล้านคัน ทำให้เทสลายังครองอันดับ 1 ในแง่ปริมาณการผลิต BEV

นอกจากนั้น ยังเป็นที่คาดการณ์ว่า ยอดขาย BEV ทั่วโลกปีนี้จะอยู่ที่ 10 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในลดลง โดยการเติบโตของอีวีจะได้รับการสนับสนุนที่มีเป้าหมายในการปรับปรุงความคุ้มค่าและราคาที่จ่ายได้ของอีวีและแบตเตอรี่สำหรับอีวี

ข่าวนี้ออกมาหลังจากเดือนที่แล้วสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศขึ้นภาษีอีวีจากจีนเพื่อจัดการภัยคุกคามที่จะทำให้อุตสาหกรรมของอียูได้รับผลกระทบรุนแรงในเร็วๆ นี้ ซึ่งบีวายดีจะถูกเรียกเก็บภาษีอีก 17.4%, จีลี่ 20% และเอสเอไอซี 38.1% เพิ่มเติมจากภาษีมาตรฐาน 10% ที่เรียกเก็บจากอีวีนำเข้าอยู่แล้ว

 “ลิซ ลี”  ผู้ช่วยผู้อำนวยการเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช ชี้ว่า มาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของอียูที่เรียกเก็บจากอีวีจีนมีเป้าหมายเพื่อปรับระดับการแข่งขันในตลาดให้เท่าเทียมสำหรับผู้ผลิตอีวียุโรปที่ต้องต่อสู้กับอีวีราคาถูกที่นำเข้าจากจีน

อย่างไรก็ดี ลีเสริมว่า มาตรการเหล่านี้อาจผลักดันให้ค่ายรถจีนหลั่งไหลไปยังตลาดเกิดใหม่อย่างตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับบีวายดีนั้นคาดว่า จะเอาชนะมาตรการภาษีศุลกากรด้วยการเพิ่มการผลิตรถบางรุ่นในยุโรป


 ขณะเดียวกัน แม้บีวายดีโด่งดังเป็นที่รู้จักจากอีวีราคาถูกอย่างแอตโต 3 และดอลฟิน แต่บริษัทแห่งนี้กำลังขยายสายการผลิตอย่างรวดเร็วครอบคลุมรถหรู รถกระบะ และซูเปอร์คาร์ โดยต้นปีนี้บีวายดีเปิดตัว “ซี ไลอ้อน 07” ราคาเริ่มต้น 26,250 ดอลลาร์ (957,000 บาท) ตัดราคาโมเดล Y ซึ่งเป็นอีวีที่ขายดีที่สุดของเทสลา นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ยังมีภาพ “หยังหวัง ยู9” ซูเปอร์คาร์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบีวายดี ห้อตะบึงในสนามแข่งรถ Nurburgring ของเยอรมนี 

ในส่วนแผนการขยายตัวในต่างแดนนั้น เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (4 ก.ค.) บีวายดีเพิ่งเปิดโรงงานแห่งแรกในไทยและถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2030 รถที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ 30% จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้บีวายดียังใกล้บรรลุข้อตกลงสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในเม็กซิโกที่บริษัทเพิ่งนำรถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรก  “Shark PHEV”  ไปเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 ขณะที่ตัดกลับไปที่เทสลา ก็จะเห็นว่า สถานการณ์ของพวกเขาไม่ดีเท่าใดได้ โดยในการประกาศงบไตรมาส 2 ปี 2024 (เม.ย. - มิ.ย. 2024) ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยยอดขายรถยนต์ ลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งในไตรมาสนี้ เทสลามีรายได้รวม 921,825 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% กำไร 53,430 ล้านบาท ลดลง 45% ซึงสัดส่วนรายได้ มาจากรถยนต์ 718,590 ล้านบาท ลดลง 7% การผลิตและกักเก็บพลังงาน 108,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% บริการและอื่น ๆ 94,279 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% 

จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่า รายได้จากรถยนต์ ซึ่งเป็นรายได้หลัก ลดลงพอสมควร โดยสามารถส่งมอบรถยนต์ได้ 443,956 คัน ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาได้เสนอส่วนลดและสิ่งจูงใจต่าง ๆ ทั้งในจีน และสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นยอดขายแล้วก็ตาม

ที่สำคัญ ทางเทสลายังคาดด้วยว่า อัตราการเติบโตในปี 2024 จะลดลงต่ำกว่าปี 2023 อย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี แม้ผลประกอบการจะไม่เป็นไปตามที่คาด แต่เทสลายืนยันว่า จะยังคงเดินหน้าตามแผนการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นราคาประหยัด โดย  “อีลอน มัสก์” ผู้เป็นนายใหญ่ เปิดเผยว่า จะมีการเปิด  Robotaxi  ในวันที่ 10 ตุลาคม 2024 (เลื่อนจากกำหนดการเดิมคือ 8 สิงหาคม) และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปีหน้า พร้อมมีการคุยโวว่า ระบบ Robotaxi ของเทสลาจะสามารถทำงานได้ทุกที่ในโลก และไม่ถูกจำกัดโดยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

นอกจากนี้ อีลอน มัสก์ยังบอกด้วยว่า  หุ่นยนต์ Humanoid  ที่บริษัทกำลังพัฒนา เพื่อทำงานที่  “ไม่ปลอดภัย ซ้ำซาก หรือน่าเบื่อ” จะทำงานในโรงงานของเทสลา ได้ตั้งแต่ปีหน้า และพร้อมจำหน่ายให้บริษัทอื่น ๆ เอาไปใช้งานได้ ภายในปี 2026

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ถึงวันนี้มีแบรนด์ EV จีนเข้าทำตลาดมากกว่า 10 ยี่ห้อ และเริ่มทยอยลงทุนตั้งโรงงานผลิตปีนี้ไม่น้อยกว่า 7-8 ยี่ห้อ ซึ่งนอกจาก MG, เกรท วอลล์ฯ, เนต้า, BYD, GAC AION ฯลฯ ที่เปิดโรงงานอย่างเป็นทางการในไทยแล้ว ในช่วงไตรมาสแรกปี 2568 จะมีมาเพิ่มอีก 3 โรงงาน ประกอบด้วย Changan, Chery และ Geely 

รวมๆ แล้ว ยอดเม็ดเงินลงทุนจะพุ่งทะลุมากกว่า 2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน

 ที่น่าสนใจคือ การรุกอย่างรวดเร็วและรุนแรงของค่ายรถ EV จากจีน โดยเฉพาะการใช้ “สงครามราคา” เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ในการทำการตลาดดังที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะกระทบกระเทือนอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “ค่ายญี่ปุ่น” ที่โดนไปเต็มๆ รวมถึง “ค่ายยุโรป” แล้ว ยังลามไปถึง “ตลาดรถมือสอง” โดยส่งผลให้ราคาร่วง-ยอดประมูลรถวูบมากกว่า 50% และเกิดปรากฏการณ์ไล่แจกฟรีรถอายุเกิน 13 ปีให้เห็นอีกต่างหาก 

ขณะที่ทางสถาบันการเงินก็ยังคงระมัดระวังกับการปล่อยสินเชื่อเพราะวิตกกังวลการอัตราหนี้เสียที่ยังคงน่าเป็นห่วงจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นคือมีการลดวงเงินสินเชื่ออีกต่างหาก

ดังนั้น นับจากนี้เป็นต้นไป คงต้องจับตาทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ในระดับโลกอย่างใกล้ชิดเพราะส่งผลโดยตรงกับสถานการณ์ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่บอกตรงๆ ว่า ณ เวลานี้แม้จะมีความชัดเจนเรื่องการแจก “เงินหมื่น” จากรัฐบาล แต่ก็มองไม่เห็นเลยว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้สักกี่มากน้อย.


กำลังโหลดความคิดเห็น