xs
xsm
sm
md
lg

CIBA ม.ธุรกิจบัณฑิตย์หนุน “Metaverse” และ “AI Literacy” เปิดประตูแห่งอนาคตเติมความสำเร็จแก่ นศ.ก่อนเปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) มุ่งมั่นพัฒนาทักษะและความรู้รับเปิดเทอมให้นักศึกษาใหม่-เก่า พร้อมกับบุคคลทั่วไป รับมือกับโลกธุรกิจและกลยุทธ์ยุคใหม่ ผ่านกิจกรรมปฏิบัติเชิงอบรมในหัวข้อ “METAVERSE & AI กับโอกาสของคนรุ่นใหม่” เมื่อวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ “อาจารย์ชวการ กมลรักษ์” นายกสมาคมเมตาเวิร์สแห่งประเทศไทย และ “อาจารย์วรรณัท ธัญญหาญ” กรรมการฝ่ายการตลาด สมาคมเมตาเวิร์สแห่งประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ METAVERSE & AI เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงและมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะ ‘โลกธุรกิจ’ ในอนาคต โดยมี อาจารย์นิติ มุขยวงศา รองคณบดีวิทยาลัย CIBA เป็นประธานกล่าวเปิด และดำเนินรายการโดย ผศ.ชุติธารรัฐ อุตมะสิริเสนี อาจารย์ประจำหลักสูตรการตลาดยุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

‘Metaverse’ เป็นมากกว่า ‘เกม’ หรือ ‘Entertainment’

บทสรุปการมองเห็นซึ่ง ‘โอกาส’ หรือ ‘ช่องทางธุรกิจ’ ในการใช้งาน Metaverse นั้น ของ “อาจารย์ชวการ กมลรักษ์” นายกสมาคมเมตาเวิร์สแห่งประเทศไทย กล่าวโดยสรุปได้ว่า นอกจากการเรียนรู้และใช้งานอย่างสม่ำเสมอจะช่วยปัดฝุ่นความเลือนราง ผู้ที่ใช้งานยังจำเป็นต้องเข้าใจต่อ ‘นิยาม’ ว่าคือ ‘โลกเสมือนจริง’ ที่เกี่ยวเนื่องและซ้อนทับกับโลกจริง โดยมีสังคมและเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถมีตัวตนเป็นอวตารเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนในโลกจริง เช่น 1. เรียนรู้ : ฝึกผ่าตัดเสมือนจริง เรียนทางไกล การเรียนขับยานพาหนะผ่าน Simulator ต่างๆ 2. ชอปปิ้ง : ลองสวมใส่เสื้อผ้าเสมือนจริง พร้อมกับเดินห้างสรรพสินค้าร่วมกับเพื่อนและแฟน 3. การลงทุน : ที่ดิน รถยนต์ ผ่านการแลกเปลี่ยนไอเท็มต่างๆ ในโลกเสมือนจริง

“โลกเสมือน คือ Technology Immersive อาทิ 3 มิติ AR/VR AI ส่วนที่เกี่ยวเนื่องและซ้อนทับกับโลกจริง คือมีทั้งหมด 2 แบบ คือ AR กับ VR โดย VR เวลาที่เราใส่แว่นจะทึบ สิ่งที่เห็นเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาทั้งหมด ขณะที่ AR จะตรงกันข้าม เราสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมภายนอก แต่ว่าวัตถุ (Object) ที่ซ้อนทับอยู่กับสิ่งของในโลกจริง ตัวอย่างเช่น เกม Pokémon GO ที่มอนเตอร์อยู่ตามสิ่งต่างๆ รอบตัว และสุดท้ายสังคมและเศรษฐกิจ โลกเสมือนที่เราเข้าไปไม่ใช่แค่เข้าไปเล่นเกม แต่มีสังคม มีเพื่อนเราเข้าไปด้วย เราทำงานได้ และก็มีเศรษฐกิจ มีเงิน มีดิจิทัล Money เป็น Cryptocurrency หรือ Non-Cryptocurrency ก็ได้ รวมไปถึงสินทรัพย์ต่างๆ ที่ดิน รถยนต์ เสื้อผ้า ไอเท็มต่างๆ เหล่านี้ที่ซื้อในโลกเสมือนสามารถที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยนได้โดยในรูปแบบของ NFT” อาจารย์ชวการกล่าว

นอกจากนี้ นายกสมาคมเมตาเวิร์สแห่งประเทศไทยยังบอกอีกว่า การเข้าใช้งาน ‘เมตาเวิร์ส’ ไม่ใช่เพียงแค่แว่น VR หรือ AR แต่ยังสามารถใช้ คอมพิวเตอร์ ไอแพด โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน รวมไปถึงฮอโลแกรมที่สามารถอินเตอร์แอ็กทีฟ ฯลฯ


รู้ก่อน ประสบความสำเร็จก่อน

อาจารย์ชวการบอกทิศทางในอนาคตของเมตาเวิร์ส ‘Life Cycle’ ที่ทุกคนคิดว่าไม่น่าจะเกิดแล้วจากยอดผู้เข้าใช้งานที่ลดลง แท้จริงแล้วเช่นเดียวกับการเติบโตอย่างแพร่หลายของ Social Media ที่เราทุกคนใช้ในปัจจุบัน

“หลายคนอาจจะลืมว่าในช่วงก่อนจะมี Facebook โลกออนไลน์ได้มีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Hi5 ซึ่งเกิดขึ้นมาและก็ตายไป ก่อนที่จะมีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีแพลตฟอร์มที่ใช้แพร่หลายและสามารถครองตลาดได้ เช่น Facebook หรือ Tiktok เมตาเวิร์สก็เช่นเดียวกัน มีโอกาสสูงมากที่จะมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกิดและตายไป และสุดท้ายก็จะมีบางแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นมาและครองตลาดได้” อาจารย์ชวการเผย

นอกจากนี้ ‘ส่วนที่สำคัญที่สุด’ ที่จะสามารถนำมาใช้ในชีวิตและธุรกิจได้คือ การเห็นถึงรูปแบบใน ‘การแบ่งสภาพแวดล้อมเมตาเวิร์ส’ ออกเป็นทั้ง 2 แบบ ได้แก่ ‘เมตาเวิร์สแบบปิด’ คือ การที่เราสามารถดูผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแว่น VR (Virtual Reality) โดยเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ทั้งหมดด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกและ Al และเมื่อผู้ใช้งานเข้าสู่เมตาเวิร์สแล้วจะมองไม่เห็นสภาพของโลกจริงภายนอกเมตาเวิร์ส โดยมีต้นแบบมาจากเกม 3 มิติออนไลน์ ซึ่งผู้สร้างเมตาเวิร์สในยุคแรกๆ นิยมสร้างขึ้นเนื่องจากใช้เทคนิคการสร้างที่ใกล้เคียงกับเกมออนไลน์ และผู้ใช้งานก็คุ้นชินกับการเล่นเกมแบบนี้ ได้แก่ Roblox, Fortnite, Decentraland, The Sandbox และ Horizon World เป็นต้น ขณะที่ ‘เมตาเวิร์สแบบเปิด’ มีต้นแบบจากเกม Pokémon GO และใช้เทคโนโลยี AR Code (Augmented Reality) ตัวอย่าง แอปพลิเคชัน IKEA ที่เราสามารถจะเลือกโซฟาเก้าอี้ต่างๆ ในมือถือแล้วนำไปจำลองวางในพื้นที่ที่ระบุไว้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นได้ในทันทีว่า “เฟอร์นิเจอร์วางตรงแล้วเหมาะสมและสวยงามหรือไม่

“ฉะนั้น สำหรับการใช้งานเมตาเวิร์สโดยเฉพาะด้านการตลาดเกิดขึ้นแล้วและกำลังพัฒนา อย่างที่ “ฟิลิป คอตเลอร์” บิดาการตลาดสมัยใหม่ พูดถึงเรื่องการตลาดด้วยการใช้ AI ในการตลาด 6.0 หรือเบต้ามาร์เกตติ้ง ทำให้เราต้องเร่งเรียนรู้ให้ทัน โดยในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ใช้งานอยู่แพร่หลาย และก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากเมื่อใช้บวกกับ AI เราสามารถไปชอปปิ้งโดยที่เราอยู่บ้าน เพียงแค่ใส่แว่น VR และยังสามารถไปพร้อมกับแฟนหรือเพื่อน พร้อมกับสามารถพูดคุยสื่อสารกันได้อีกด้วย”

“ใครที่อยากเล่นแอปพลิเคชันพวกนี้สามารถพิมพ์คำว่า Virtual Try on และ AR Try On หรือ Virtual Fitting ใน Play Store หรือ Play Store จากในโทรศัพท์” อาจารย์ชวการระบุ การประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเส้นทางการเรียนและอาชีพ

“สิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะน้องๆ นักศึกษาหลักสูตรการตลาดดิจิทัล เราต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ดิจิทัล เพราะเมตาเวิร์สจะเปิดพื้นที่ Virtual Economy ซึ่งเป็นโอกาสอย่างมากใครรู้ก่อนก็สามารถที่จะทำเงินหรือไปทำงานทางด้านนี้ได้”


ไม่ว่าอะไรใช้ปัญญา (ประดิษฐ์) เป็นดั่งใจ

ด้าน “อาจารย์วรรณัท ธัญญหาญ” กรรมการฝ่ายการตลาด สมาคมเมตาเวิร์สแห่งประเทศไทย ได้สรุปย้ำนิยามของ AI ว่าคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้ คิดได้ ตัดสินใจเองได้ และช่วยงานเราได้ โดยที่หากเข้า 3 เกณฑ์หลักนี้ก็นับว่าเข้าค่ายปัญญาประดิษฐ์ ยกตัวอย่างเช่น ระบบการ ‘Lock In’ เข้าสู่หน้าสมาร์ทโฟนด้วยใบหน้า ไม่ว่าจะสวมมาสก์ หรือแว่น ก็สามารถจดจำเรียนรู้ใบหน้าเราได้

โดย AI สามารถแบ่งให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ทั้งหมด 2 ส่วน คือ 1. ที่อยู่ในอุปกรณ์ เช่น มือถือ เครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ ซึ่งจะทำงานเฉพาะด้าน โดยที่ส่วนใหญ่แล้วจะมีฮาร์ดแวร์ทำงานควบคู่ 2. ที่คุยกับเราได้ พร้อมกับสอบถามและตอบคำถาม มีชื่อว่า Chat Bot AI หรือที่นิยมเรียก Generative AI มีหน้าตาอาจจะเป็นเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันก็ได้ และมักจะมีช่องกรอบสี่เหลี่ยมไว้ให้สำหรับพิมพ์ โดย AI ชนิดนี้สามารถคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆ ได้ ไม่ใช่เลียนแบบเพียงอย่างเดียว และซึ่งด้วยความสามารถในระดับขั้นนี้จึงทำให้คนเริ่มที่รู้จักมักคุ้นกับคำว่า ‘AI’ ในช่วงราวปี 2022 ที่ผ่านมา

“ตัว Generative AI แรกๆ ที่เราคุ้นชิน คือ Chat GPT เพราะเขาเอามาให้เราเล่นฟรี โดยก่อนหน้านั้นก็มี AI แบบเดียวกันแต่คนละชื่อ เช่น Bing และ Copilot ของ Microsoft หรือ Alisa ที่เป็น AI ของไทย แต่ว่าไม่เอามาให้เล่นฟรี เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการสร้าง AI ตกวันละ 6,000 ล้านบาทเลย ฉะนั้นโดยรวมๆ เรื่องของ Generative AI มีหลายชื่อและยี่ห้อมาก” อาจารย์วรรณัทอธิบาย

อย่างไรก็ตาม การใช้งาน Generative AI หากใช้เป็น 1 ตัว สามารถใช้งานได้แทบจะทุกค่าย เพราะว่าหลักการคือ การเขียนคำถามเพื่อที่จะสั่งงานให้ AI ตอบคำถามตามที่เราต้องการ ซึ่งเรียกว่า ‘Prompt’ นั้นเอง

“การใช้งาน AI โดยส่วนใหญ่แบ่งออกได้ 2 หมวดหลักๆ คือ 1. เพื่อ Entertainment คลายเครียด สนุกสนาน เช่น เล่าเรื่องตลกให้เราฟัง สั่งร้องเพลงแต่งเพลง หรืออาจจะให้เป็นเพื่อนเสมือนจริง หรือเป็นแฟนก็ได้ โดยสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมา 1 ตัว เพื่อให้เป็นแฟนทักมาพูดคุยเวลาเหงา 2. เอาไว้ใช้สำหรับทำงาน ยกตัวอย่าง ใช้วางแผน ตอบคำถามเรื่องงาน แก้ไขปัญหาเรื่องงาน หรือเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ วิเคราะห์ธุรกิจ และใช้ในส่วนเรื่องการเรียนของน้องๆ นักศึกษา เช่น ค้นหาข้อมูล ทำรายงาน การใช้งาน AI ดีกว่า Google เช่น ค้นหาเพลงของศิลปิน Charlie Puth ที่มียอดวิวสูงสุด”

“การใช้งาน Google ได้คำตอบเป็นเว็บไซต์ และข้อมูลที่ลิสต์เรียงลง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเพลงไหนที่มีคนฟังมากที่สุด คือถ้าไม่มีใครสรุปไว้ Google ก็หาให้เราไม่ได้ ต่างจาก AI จะเฉลยคำตอบพร้อมกับแนบเว็บไซต์ที่มาให้ทันที ซึ่งปัจจุบันแอปพลิเคชัน AI บางตัวสามารถใช้งานได้ฟรี เพื่อเอาไปใช้พัฒนาทักษะ และสามารถดาวน์โหลดได้ง่ายใน App Store หรือ Play Store จากในโทรศัพท์”

นอกจากนี้ยังสามารถสั่งใช้งาน AI ให้สร้างภาพ ทำคลิปวิดีโอ กระทั่งอ่านภาพพร้อมกับบอกรายละเอียดถึงภาพนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร มีโรคหรือศัตรูพืชหรือไม่ และยังสามารถบอกวิธีการแก้ไขได้อีกด้วย

“ในตัว Chat GPT จะมีแอปพลิเคชันซ่อนอยู่ประมาณ 3 ล้าน Custom AI Bots แต่เรียกว่า GTPs ซึ่งเราสามารถไปค้นหาได้ในนี้เลย ไม่ว่าจะทำรูป เรียนภาษา” อาจารย์วรรณัทอธิบาย

“ส่วนใครที่เพิ่งสมัคร Chat GPT ทุกวัน 10 คำถามแรกจะได้ใช้เวอร์ชันล่าสุด ซึ่งมันจะหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าใช้งานเกินจะเริ่มหาคำตอบไม่ค่อยได้ หลังจากต้องรออีก 5 ชั่วโมง ถึงจะได้ใช้อีก 10 คำถาม นอกเสียจากจ่ายเงินค่าบริการ”

“ทุกด้าน” ศักยภาพก้าวกระโดดได้

ด้วยการพัฒนาที่รุดหน้าแบบก้าวกระโดดทำให้ AI เสมือนดาบสองคม ได้แก่ 1. ขั้นตอนในการสมัครใช้งาน AI แต่ละค่าย ทุกครั้งก่อนการ ‘ดาวน์โหลด’ ควรเช็กจำนวนยอดรีวิวที่สูงๆ หลักล้าน เป็นต้น เนื่องจากมีแอปพลิเคชันปลอมแอบแฝง โดยพยายามตั้งชื่อให้เหมือนของจริง และยังสามารถใช้งานผ่าน Browser โดยไม่ต้องติดตั้งได้ แต่อาจจะมีบางฟังก์ชันที่ไม่สามารถใช้งานได้

2. อย่าไปเชื่อ AI ทั้งหมดว่าสิ่งที่เราได้รับคำตอบนั้นจะถูกต้องหมด 100% เพราะวันนี้ AI กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาศักยภาพ ยังไม่ได้ฉลาดพอ

3. รู้เท่าทันและตระหนักรู้ AI เนื่องจากการพัฒนาที่รวดเร็ว ทุกวันนี้สามารถเลียนแบบเสียงและใบหน้าได้ อาจจะเป็นช่องทางของมิจฉาชีพที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อหลอกลวง

“คนที่ไม่ใช้ AI ในการเรียนกับคนที่ใช้จะเรียกว่า แพ้ไม่รู้กี่ช่วงตัว เพราะนอกจากจะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น เช่น วิเคราะห์กราฟ การเขียนรายงาน จะง่ายขึ้นเยอะ เรื่องบางเรื่องที่เราไม่เคยทำ อย่างการอ่านหนังสือ 100 เล่ม จบใน 1 เทอม จากการที่เราใช้ AI สรุปและอ่านสรุปนั้น หรือเรื่องที่เราไม่เคยทำได้ เราใช้คำสั่ง 4-5 บรรทัด มันสอนให้เราทำเป็น ดังนั้น ในปัจจุบันคนที่ใช้ AI หรือมี AI Literacy จะไม่ใช่แค่ Digital Literacy เท่านั้น จะทำให้ตัวเองเก่งแบบก้าวกระโดด และเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ”

“และในปัจจุบัน AI สามารถนำไปใช้ในบริษัทได้ทั้งหมด ตอนนี้บริษัทก็พยายามสนับสนุนพนักงานให้รู้ และพบว่าพวกคอร์สออนไลน์จะให้ประกาศนียบัตร ซึ่งมีผลมากในการสมัครงานหรือเปรียบงาน ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจอิสระ ฟรีแลนซ์ เครื่องมือ AI พบว่าสามารถทำให้เราหาเงินได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สมมติ อาชีพล่าม ต้องมีความรู้ในการแปลภาษาเป็นอย่างดี ตอนนี้ใช้ AI ช่วยแปลมันก็ลดต้นทุนเวลาเยอะ เราก็จะเห็นว่าเครื่องไม้เครื่องมือช่วยให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น ฉะนั้น AI มีความจำเป็นทั้งหมดสำหรับน้องๆ นักศึกษา” อาจารย์วรรณัทกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารการตลาดยุคดิจิทัล ได้ที่ Facebook : CIBA วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อให้ไม่พลาดทุกโอกาสแห่งความสำเร็จจากประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเช่นวันนี้...
กำลังโหลดความคิดเห็น