xs
xsm
sm
md
lg

5 เดือนแรกส่งออกทุเรียนพุ่งทะลุ 8 หมื่นล้านบาท จับตา “ทุนต่างชาติ” ถือครองสวนผ่านนอมินีเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ตัวเลขการจำหน่ายและส่งออก “ทุเรียน” ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 นี้นั้น แม้จะต้องเผชิญกับภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตในภาพรวมลดลง ขณะที่คู่แข่งขันเวียดนามได้เร่งขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตส่งออกไปตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่สุด เช่นเดียวกับมาเลเซียที่พยายามสร้างแบรนด์ทุเรียนมูซังคิง เจาะตลาดจีนเช่นกัน แต่ ณ เวลานี้ รวมถึงระยะเวลาอันใกล้นี้ยังไม่มีทุเรียนจากประเทศใดแซงหน้าทุเรียนไทยได้

ทั้งนี้ ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้สดไปจำนวนทั้งสิ้น 952,711 ตัน มูลค่า 105,687.86 ล้านบาท โดยด้านปริมาณ เพิ่มขึ้น 8.2% และด้านมูลค่าเพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกทุเรียนสด ปริมาณ 497,602 ตัน มูลค่า 83,059.85 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.6% ส่วนด้านมูลค่าเพิ่มขึ้น 14.04% และส่งออกไปตลาดจีนมากสุดมูลค่า 81,037.89 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาดส่งออก 97.57% ของการส่งออกในภาพรวม รองลงมาคือตลาดฮ่องกง มูลค่า 1,163.25 ล้านบาท สัดส่วนตลาด 1.40% (ปี 2566 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปทุกตลาดปริมาณ 991,547 ตัน มูลค่า 141,043.65 ล้านบาท ในจำนวนนี้ไปจีนมากสุด มูลค่า 137,477.55 ล้านบาท)

ผลไม้สด ส่งออกอันดับ 2 “มังคุดสด” ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้ 148,218 ตัน มูลค่า 9,904.78 ล้านบาท โดยปริมาณ และมูลค่าเพิ่ม 55.9% และ 24.20% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกมังคุดสดอันดับ 1 ของไทยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้คือจีน ส่งออกมูลค่า 9,065.40 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาด 91.53% รองลงมาคือตลาดเวียดนาม มูลค่าส่งออก 460.01 ล้านบาท สัดส่วนตลาด 4.64%

และผลไม้สดส่งออกอันดับ 3 “ลำไยสด” ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้ 158,383 ตัน มูลค่า 6,367.71 ล้านบาทโดยปริมาณ และมูลค่า เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.8% และ 31.33% ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกลำไยสดอันดับ 1 ของไทยคือจีน ส่งออกมูลค่า 5,296.58 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาด 83.18% รองลงมาคือตลาดอินโดนีเซีย มูลค่าส่งออก 594.59 ล้านบาท สัดส่วนตลาด 9.34%

นอกจากนี้ ต้องบอกว่า ราคาทุเรียนปีนี้ถือว่าดีมาก โดยราคาทุเรียนเฉลี่ยเกรด AB (ส่งออก)ราคาอยู่ที่ 187 กิโลกรัม(กก.) เทียบกับ 2565 อยู่ 150 บาทต่อกก. เกรดC (ส่งออกเกรดรอง) ราคาเฉลี่ย132 บาทต่อกก.และเกรดC(เกรดตกไซส์ )
อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษก็คือ พบ   “กลุ่มทุนต่างชาติ”  เข้ามาเช่าและซื้อที่ดินที่เพื่อใช้ทำการเกษตร ปลูกผลไม้ที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะสวนทุเรียนเป็นจำนวนมากทั้งในพื้นที่จันทบุรี และตราด ยิ่งที่  “จันทบุรี”  ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะสวนผลไม้ในหลายอำเภอกว่าร้อยละ 80 เริ่มมีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 นายทรงศัก สายเชื้อ” 
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ จ.ตราด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อแสวงหาข้อจริงและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายทุเรียน คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้พบว่ามีความกังวลเกี่ยวกับปัญหากลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะทุนจีนที่มีการถือครองที่ดินสวนผลไม้และได้ดำเนินการเองทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จำหน่าย จนถึงส่งออกซึ่งจะสร้างความเสียหายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำต่อเกษตรกรไทย
ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่ จ.ตราด ยังได้ร้องขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบการถือครองที่ดินที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายนอมินี และรีบแก้ไขโดยเร็ว






ขณะที่การสำรวจพื้นที่ใน จ.จันทบุรี พบว่าสวนผลไม้ในหลายอําเภอกว่าร้อยละ 80 ได้มีกลุ่มทุนต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในเรื่องของการถือครองทำเลการเพาะปลูก สถานที่การรับซื้อ จนถึงวิธีการส่งออกผลไม้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ประชาชนได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จากปัญหาที่กรมป่าไม้ ได้เปิดให้เช่าที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเคยอนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่าเพื่อปลูกสวนป่าเมื่อ 30 ปีแล้วด้วยการยื่นขอเช่าในลักษณะที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายนอมินีของกลุ่มนายทุนชาวจีน เพื่อนําที่ดินไปทําสวนทุเรียนอีกด้วย

“หากปล่อยให้กระบวนการนี้ดําเนินต่อไป พื้นที่เกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยอาจถูกกลุ่มนายทุนต่างชาติเข้าเช่าหรือซื้ออีกจํานวนมาก เป็นปัญหาเรื้อรังและกระจายกว้างต่อไปหากยังคงไม่มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการใดๆ เพื่อป้องกันและป้องปรามรายได้ของประเทศจะสูญเสียมหาศาล”

ผู้ตรวจการแผ่นดินยังเผยอีกว่าการจัดประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ยังได้มีการจัดให้มีการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings ไปยัง จ.ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกันเพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์กลุ่มทุนต่างชาติ

 โดยเฉพาะใน จ.จันทบุรี พบว่ามีบริษัทที่คนต่างด้าวร่วมเป็นผู้ถือหุ้นหรือร่วมลงทุนแล้วประมาณ 800-900 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้ที่จดทะเบียนนิติบุคคลประมาณ 3,900 ราย และยังมีพื้นที่แปลงใหญ่กว่า 1,300 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง ตำบลพวา อ.แก่งหางแมว ที่ได้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการว่าอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นนอมินีของคนต่างด้าวเตรียมดำเนินการทำสวนผลไม้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ประชาชนสามารถขอเช่าเพื่อทำประโยชน์ได้ โดยพบว่ามีเอกชนยื่นขออนุญาตเข้าใช้ 3 ราย เป็นนิติบุคคล 2 รายและเอกชน 1 ราย และอาจจะมีผู้แสดงความประสงค์ขอเช่าเพิ่มเติมอีก 

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ว่า มีข้อสงสัยว่าบริษัท 2 ใน 3 รายดังกล่าวแยกชื่อเป็น 2 ชื่อในนามบริษัทและห้างหุ้นส่วนมาขอเช่าพื้นที่แต่เป็นเจ้าของเดียวกัน อาจเป็นการเลี่ยงกฎหมายและเอื้อประโยชน์จากการขอเข้าใช้พื้นที่ได้ง่ายขึ้น จึงขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบเพราะเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่ควรได้จัดสรรให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่มีที่ดินทำกินเข้าใช้จะเป็นประโยชน์มากกว่า

“การดำเนินการในชั้นนี้เพื่อเป็นการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายโดยดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ตรวจสอบการจดทะเบียนทุกระยะและการเปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล เฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทางตามมาตรการตรวจสอบที่ดินที่ถือครองโดยคนต่างด้าวของกรมที่ดิน และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหานอมินีให้หมดไป รวมถึงการตรวจสอบภาษีอากรของบริษัทนิติบุคคลที่จดทะเบียนชำระบัญชีเสร็จ เช่นเดียวกับการตรวจสอบการลงทุน การบริหารจัดการของคนต่างด้าวในรูปแบบของนิติบุคคลไทยแต่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบในระดับนโยบายทั้งส่วนกลางและพื้นที่ต้องบูรณาการร่วมกันต่อไป” นายทรงศัก ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ในห้วงเกือบ 4 ปีมานี้มีการกว้านซื้อสวนทุเรียนในภาคตะวันออกโดยใช้เงินสดที่มีนอมินีคนไทยเป็นผู้ดำเนินการ และใช้ชื่อถือครองเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง

 “คนไทยที่เป็นนอมินีมากว้านซื้อสวนทุเรียนในภาคตะวันออกให้กลุ่มคนจีน คือผู้ประกอบการส่งออก (บางคน) หรือคนที่หาทุเรียนส่งพ่อค้าจีนโดยตรง ซึ่งคนกลุ่มนี้จะรับคำสั่งเพื่อทำตามความต้องการของกลุ่มทุนจีนมานานแล้ว ซึ่งหากทุนจีนต้องการสวนทุเรียนและมีเจ้าของสวนที่พร้อมขายจะใช้เวลาไม่เกิน 3-5 วันในการดำเนินการและจ่ายเงินสดในทันที ซึ่งไม่รู้ว่าบุคคลเหล่านี้คือขบวนการฟอกเงินหรือไม่” ผู้ประกอบการล้ง กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เชื่อว่าบรรดา “อาเจ๊ และเฮีย” ในวงการทุเรียนภาคตะวันออกต่างรู้ดีว่าพื้นที่ที่ถูกกว้านซื้อจากนอมินีคนจีนอยู่จุดใดบ้าง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าของสวนผู้ทำสวนตัวจริงต่างพากันกังวลว่า หากรัฐบาลยังปล่อยให้มีการรุกคืบของทุนต่างชาติในลักษณะเช่นนี้ อนาคตชาวสวนทุเรียนไทยตัวจริงมีอันที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

เพราะหากสวนทุเรียนในไทยตกไปอยู่ในมือต่างชาติที่มีคนไทยร่วมเป็นนอมินี สุดท้ายเมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิตส่งขาย การกำหนดราคาซื้อจะอยู่ในมือทุนจีนทั้งหมด โดยที่ชาวสวนทุเรียนไทยไม่มีสิทธิแม้แต่จะตั้งราคาขายได้เอง

 ไม่เพียงเท่านั้น ในวันนี้นอกจากสวนทุเรียนที่ถูกกว้านซื้อแล้ว นอมินีชาวไทยยังพยายามกว้านซื้อที่ดินเปล่าเพื่อทำตลาดสินค้าเกษตรกลางสำหรับส่งผลไม้ไปขายที่ประเทศจีน หรือใช้สำหรับพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้กลุ่มทุนจีนเหล่านี้อีกด้วย 

 



เปิดลายแทงทุเรียนไทยพันธุ์ไหนถูกใจมหาชน

ประเทศไทยมีทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกสรรตามความชอบและรสนิยมของแต่ละบุคคล โดยจุดเด่นของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ย่อมแตกต่างกันออกไป

บางคนอาจชอบ หมอนทอง เพราะรสชาติหวานนมันกำลังดี กลมกล่อม ไม่ได้หวานแหลมจนเกินไป และเนื้อเยอะ ขณะที่จำนวนไม่น้อยนิยมรับประทาน ก้านยาว ที่หวานมัน แม้จะมีเม็ดขนาดใหญ่ หรือชอบ ชะนี ที่หวานจัด กลิ่นแรง เนื้อสีเหลืองเข้ม และมีขนาดเม็ดที่เล็ก ส่วน กระดุม รสชาติจะมีความหวานมากกว่าความมัน และเนื้อบาง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากบรรดา “ทุเรียนเลิฟเวอร์” เช่น หลงลับแล ที่มีความหวาน ละมุนลิ้น ภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่ทั้งหวานทั้งมัน แถมกลิ่นไม่ฉุนมากนัก และเนื้อจะมีความแห้ง ไม่แฉะ ขณะที่ นกหยิบ รสชาติจะหวาน มัน ปานกลาง มีความคล้ายคลึงกับหมอนทอง และลูกไม่ใหญ่มาก

ทั้งนี้ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) และนำข้อมูลเรื่องทุเรียนมาวิเคราะห์ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม - 20 มิถุนายน 2567 พบว่ามีการพูดถึง (Mention) ทุเรียน ถึง 10,460 ครั้ง และ ได้รับการมีส่วนร่วม หรือเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) จำนวน 3,556,174 ครั้ง โดยเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางที่ได้รับการ Mention และมี Engagement มากที่สุด โดยพบว่า สายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับการกล่าวถึงสูงสุด (Mention) คือ หมอนทอง 56.73% รองลงมา ชะนี ภูเขาไฟศรีสะเกษ ก้านยาว และกระดุม ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ที่มี Engagement สูงสุด คือ หมอนทอง เช่นเดียวกัน มี Engagement สูงถึง 64.53% รองลงมา ก้านยาว นกหยิบ หลงลับแล และภูเขาไฟศรีสะเกษ ตามลำดับ



ขณะเดียวกันยังพบว่า เนื้อสัมผัสของทุเรียนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกบริโภค โดยเนื้อสุก นิ่ม และเนื้อกรอบนอกนุ่มใน ได้รับความนิยมมากในระดับใกล้เคียงกัน ส่วนเนื้อไก่ฉีก ซึ่งเป็นทุเรียนระยะแรกของเนื้อที่สามารถกินได้ มีความกรอบ รสชาติไม่หวานมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทุเรียนเนื้อกรอบและรสชาติไม่หวานจัด

นอกเหนือจากรสชาติและเนื้อสัมผัส พื้นที่เพาะปลูกก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคใช้พิจารณาในการเลือกทุเรียน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้านสภาพดิน แหล่งน้ำ อุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ แต่ละจังหวัดจึงมีสายพันธุ์ทุเรียนที่โดดเด่นแตกต่างกันไป โดยบางสายพันธุ์สามารถเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น อันเป็นผลจากการเพาะปลูกในดินภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ ในขณะที่สายพันธุ์ “หมอนทอง” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เป็นที่ขึ้นชื่อในหลายจังหวัด อาทิ จันทบุรี ระยอง ตราด และชุมพร ด้วยคุณสมบัติที่เจริญเติบโตง่าย ให้ผลผลิตดี และตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลทุเรียนออกผลผลิต แหล่งเพาะปลูกทุเรียนทั่วประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างมาก โดยจังหวัดที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในการออกผลผลิตทุเรียน เรียงตามลำดับ ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ศรีสะเกษ ตราด และชุมพร

อย่างไรก็ดี ด้วยความชื่นชอบ หลงไหลในรสชาติ และ เนื้อสัมผัสของทุเรียน ผนวกกับความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภค จึงก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น เช่น กลยุทธ์ชั่งน้ำหนักเนื้อทุเรียนล้วน กลยุทธ์รับประกันคุณภาพเนื้อทุเรียน เป็นต้น โดยข้อมูลจากแพลตฟอร์ม DXT360 ที่น่าสนใจคือ “กลยุทธ์บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” ที่ได้รับ Engagement ทุกช่องทางทั้งหมด 52,153 ครั้ง และ พบการกล่าวถึงทั้งหมด (Mention) 283 ครั้ง
สำหรับจุดเด่นของกลยุทธ์บุฟเฟ่ต์ทุเรียนที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาของกลุ่มลูกค้าที่อยากจะทานคนเดียว มาเป็นคู่ หรือมากันทั้งครอบครัว คือ

1.การได้ลองทานสายพันธุ์และเนื้อทุเรียนที่ถูกใจทุกรูปแบบ

2.ทานได้ไม่อั้น ตอบโจทย์ช่วงราคาทุเรียนแพง

3.เมนูหลากหลายทั้งแบบดั้งเดิมอย่างข้าวเหนียวทุเรียน และร่วมสมัยอย่างบิงซูทุเรียน

4.การนำเมนูทุเรียนมาเสริมเป็นอาหารหวานในไลน์บุฟเฟ่ต์อาหารคาวเพื่อตอบโจทย์มื้ออาหารหลัก

5.มีผลไม้ตามฤดูกาลนอกจากทุเรียนเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้า


โดยปัจจัยที่ทำให้แคมเปญบุฟเฟ่ต์ของแต่ละเจ้าได้รับกระแสตอบรับดีมาจาก การประเมินความคุ้มค่าของลูกค้าจากราคาต่อหัว เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อนทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บุฟเฟ่ต์ทุเรียนที่ตึกใบหยก ได้รับกระแสตอบรับที่ดีในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเชิญอินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) สายกินมาร่วมกิจกรรมโปรโมท เช่น mawin , best_apicha รวมทั้ง เพจของกินอย่าง Starvingtime

นอกจากแคมเปญบุฟเฟ่ต์ทุเรียนแล้ว ยังมีเมนูทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ผลไม้แปรรูปที่เรามักคุ้นเคย ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบ อีกทั้งบรรดาร้านอาหารชื่อดังทั้งคาวและหวาน อย่าง MK , Swensen, Dairy Queen ก็มีการนำทุเรียนมาต่อยอดเพื่อเกิดเมนูใหม่ ๆ ขึ้นอยู่เสมอ จนได้รับความนิยม และผู้คนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม โดยเมนูอาหารหวานยอดฮิตที่พบ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน เค้กทุเรียน และเมนูอาหารคาว เช่น ส้มตำทุเรียน แกงส้มทุเรียน

...เอาเป็นว่า ใครเป็น “ทุเรียนเลิฟเวอร์” ยังคงมีเวลาที่จะไปเลือกซื้อสายพันธุ์ที่ตัวเองชื่นชอบกันอีกระยะหนึ่ง เพราะแม้ว่า ในในช่วงนี้ ภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักผลผลิตออกแล้วเกือบ 100% และเป็นช่วงปลายฤดู แต่ก็ยังมีทุเรียนภาคใต้ที่ผลผลิตจะออกประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมให้ได้เลือกรับประทานกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น