xs
xsm
sm
md
lg

ปลาหมอสีคางดำ ต้องทำมากกว่าจับ ทำอย่างเป็นระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำหน่วยสัตว์น้ำ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศยกระดับการแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะใน 13 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและรวดเร็ว จะเป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานให้เห็นผลตามเป้าหมายเบื้องต้นของรัฐบาล คือ ลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยการจับปลา อย่างถูกวิธี และจับด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม ทำให้มีการจัดกิจกรรมจับปลาหมอสีคางดำในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด มีทั้งแคมเปญ “ไล่ล่าปลาหมอสีคางดำ” หรือ “ลงแขกลงคลอง” ตลอดจนมีการริเริ่มมาตรการจูงใจในการระดมคนมาจับปลา ให้ปลาฟรีโดยไม่คิดมูลค่า หรือ หากจับได้มากเกินไปก็ขายให้ผู้รับซื้อได้ในราคาตั้งต้นสำหรับปลาคละไซส์ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม

ในฐานะนักวิชาการด้านสัตว์น้ำขอตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในประเทศไทยขณะนี้มาไกลเกินกว่าจะไปหาตัวคนนำเข้า แต่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ หาทางชะลอปัญหาการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้อย่างมีประสิทธิภาพและทำอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ ซึ่งภาครัฐต้องนำทีมระดมสมองนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญสัตว์น้ำของไทยมาร่วมกันหาแนวทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดที่จะสามารถลดจำนวนประชากรปลาให้ได้สูงสุด ที่สำคัญรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนการทำงานและการวิจัย เพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของปลาหมอสีคางดำขณะนี้อาจสืบเนื่องมาจากภาวะโลกเดือดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ปลาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นปลาที่สามารถปรับตัวทนต่อความเค็มได้ดีเนื่องจากมีต่อมขับเกลือเพื่อรักษาสมดุลร่างกายทำให้สามารถที่จะอยู่ในน้ำที่มีความเค็มแตกต่างกันได้ดี ซึ่งพบว่าปลาหมอสีคางดำสามารถที่จะดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ดังนั้นการจับปลาชนิดนี้ต้องจับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการไล่จับปลาเป็นเทศกาลหรือเป็นครั้งคราวนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดนี้ ควรมีการศึกษา วิจัย วางแผนและบริหารจัดการแบบองค์รวมและทำอย่างเป็นระบบ 3 ระยะ คือ ระยะต้นหรือระยะเร่งด่วน ควรส่งเสริมให้เป็นอาหารของคน เป็นอาหารประจำถิ่น (Signature) ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความต้องการ ระยะกลาง ควรทำการศึกษาวงจรชีวิตของปลา เพื่อเรียนรู้สภาพแวดล้อมที่ปลาแพร่พันธุ์ได้ดีที่สุด ช่วงระยะเวลาวางไข่ ช่วงเป็นตัวอ่อน ในการตัดวงจรชีวิตของปลาตั้งแต่ต้นทาง และระยะยาว ต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับชุมชนเกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำอย่างถูกต้อง วิธีการสร้างความสมดุลทางนิเวศ ภายในชุมชนของสิ่งมีชีวิตให้อยู่ในสภาพคงที่ เพื่อร่วมมือกันในการกำจัดปลาอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในระยะต้น ควรผนวกการเพิ่มมูลค่าเนื้อปลาหมอสีคางดำ ด้วยการแปรรูปเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย โดยดำเนินกิจกรรมทางการตลาดส่งเสริมการบริโภคต่อเนื่อง และต้องกำหนดการรับซื้อปลาในราคาที่เป็นธรรมกับผู้จับและผู้แปรรูปควบคู่ไปกับการส่งเสริมการบริโภคจนเป็นที่นิยม เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาดให้เพิ่มขึ้น

การศึกษาแนวทางของประเทศที่เคยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ไทยเดินหน้าแก้ปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีการนำเข้าปลาชนิดนี้เพื่อการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นเหยื่อของปลาทูน่า แต่ปลาเกิดหลุดรอดไปและเกิดการระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก จนต้องร่วมมือกับชาวประมงในพื้นที่ใช้ตาข่ายจับปลาและประกาศห้ามนำเข้าปลาชนิดนี้ทันที นอกจากนี้ ยังมีการตรวจตราและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติในรัฐฮาวายอย่างต่อเนื่อง
(https://dlnr.hawaii.gov/ais/blackchin-tilapia/)

จากข้อมูลข้างต้น สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว คือ การควบคุมให้การแพร่ระบาดของปลาอยู่ในวงจำกัด ด้วยการตัดวงจรชีวิตปลา และต้องคุมเข้มเรื่องการนำเข้าพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำต้องห้ามอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้า ตรวจสอบและปิดช่องว่างเหล่านั้นแบบถาวร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้คนไทยทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น