ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สำรวจ “ไซน่าทาวน์ ห้วยขวาง” ย่านการค้าขายที่ถูกจับตามองถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจเทียบเคียง “ไซน่าทาวน์ เยาวราช” สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่ดึดดูดนักท่องเที่ยวทั่งโลก หลังกระแสแผ่วปลายไปไม่ถึงฝั่งฝัน บรรยากาศซบเซา ธุรกิจอาหารหมาล่าหม้อไฟที่เคยเป็นกระแสทยอยปิดตัว
ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง จ.กรุงเทพฯ มีจุดเด่นดึดดูดนักท่องเที่ยวทั้งตลาดกลางคืนที่ขายสินค้ากันยันเช้า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เทวาลัยพระพิฆเนศ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาขอพรกันล้นหลาม รวมทั้งเป็นย่านที่มีโรงแรมหลายระดับรองรับ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเข้ามาพัก รวมทั้งอยู่ใกล้กับสถานทูตจีนประจำเทศไทย
หลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นหมุดหมายของนักลงทุนชาวจีนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนในย่านนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งทำธุรกิจเพื่อเปิดร้านอาหารหรือบริการอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับคนจีนด้วยกันดียวกัน จนเป็นที่มาของร้านอาหารที่ขึ้นป้ายและมีเมนูเป็นภาษาจีนไปทั่ว จนได้รับการขนานนามเป็น “มณฑลห้วยขวาง” หรือ “ไซน่าทาวน์ ห้วยขวาง”
แต่ในปัจจุบันธุรกิจของนายทุนชาวจีนย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง ประกาศปิดตัวลงจำนวนมาก อาทิ ร้านอาหารจีน ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ฯลฯ โดยธุรกิจอาหารประเภท “หม้อไฟหม่าล่า” ที่มีอยู่เต็มสองฝั่งถนน ครึ่งปีแรกของปี 2567 ธุรกิจร้านอาหารจีนในย่านนี้ปิดตัวไปแล้วมากกว่า 10 ราย
แม้แต่ร้านสุกี้ชาบูหม่าล่าเจ้าใหญ่อย่างร้าน “หม่าล่า หอม สดชื่น-หม้อไฟชูดู” ที่ตั้งในทำเลที่ดีที่สุดใกล้กับแยกห้วยขวาง สถานีไฟฟ้าใต้ดิน MRT ก็ประกาศเลิกกิจการและเซ้งร้าน โดยระบุข้อความว่า “ประกาศ ตอนนี้ บริษัท ชูดู ฮอท พอท จำกัด (สำนักงานใหญ่) หาเจ้าของใหม่ หรือเทกโอเวอร์ เอกสารของบริษัทมีครบทุกฉบับ เนื่องด้วย บริษัทต้องการไปพัฒนาที่ประเทศจีน”
จากนั้นก็เริ่มมีร้านค้าของคนจีนนอกเหนือจากร้านอาหาร เช่น ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ก็ทยอยปิดตัวลงแล้ว 12 ร้าน อาทิ สุกี้มังกร, เฉาเทียนเหมินหม่าล่าหม้อไฟ, JP Shabu, หม่าล่ามาสเตอร์, กวนไจ่แอลลี, ร้านหยุ่งอุ้ย ซุปเปอร์สโตร์ (สะสมอาหาร), ชวานหยู๋, หงโหลชานทิง, ตวน เสียว เสี่ยว, สุกี้ฟูดา, PIGGY MALA KHAMOO และ ฟู่หวา เป็นต้น
นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง เปิดเผยว่าธุรกิจหม้อไฟหมาล่าในย่านห้วยขวางซบเซาลง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน มีร้านอาหารจีนรวมทั้งร้านหม่าล่าในพื้นที่ห้วยขวาง ปิดกิจการไปแล้ว 12 ราย จากทั้งหมด 82 ราย โดยร้านที่ปิดกิจการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจีนที่นำเงินมาลงทุน โดยไม่ได้ขออนุญาต หรือไปลงทุนในพื้นที่ ที่ไม่สามารถเปิดเป็นร้านอาหารได้ ถูกดำเนินคดี และถูกสั่งปิดกิจการ
อย่างไรก็ดี ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานเขตห้วยขวางได้ลงไปกวดขันและตรวจสอบการประกอบธุรกิจของชาวจีนในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากมีข้อเรื่องร้องเรียนต่างๆ เช่น คนจีนเข้ามาประกอบอาชีพอะไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นต้น
หลังจากได้ตรวจสอบใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ ตลอดจนอาหารที่นำมาขายนั้นได้รับการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ามีร้านอาหารจีนจำนวนมากที่เปิดโดยไม่มีใบอนุญาต สำนักงานเขตจึงออกคำสั่งให้ทุกร้านมาทำใบอนุญาต บางร้านก็สามารถทำได้และทำไม่ได้ เพราะการทำใบอนุญาตมีหลายเงื่อนไข ทั้งต้องทำบ่อดักไขมัน บันไดหนีไฟ ฯลฯ ขณะเดียวกันบางร้านมองว่าการทำใบอนุญาตเป็นการผูกมัดและยุ่งยาก หรือที่ไม่สามารถทำได้แพราะเป็นตึกเช่า และโครงสร้างของตึกไม่สามารถเปิดร้านอาหารได้อย่างถูกต้อง จึงปิดกิจการไปแทน
ขณะที่บางร้านแม้จะขออนุญาตถูกต้อง แต่เปิดกิจการไปแล้วมีปัญหา เช่น มีปัญหาเรื่องสุขอนามัย ถูกสั่งให้ปรับปรุง ติดตั้งเครื่องดักไขมัน เครื่องดูดควัน แต่ไม่ยอมแก้ไข เพราะไม่อยากลงทุนเพิ่ม ก็เลือกที่จะปิดกิจการไปเอง ส่วนบางรายต้องแข่งขันสูงกับธุรกิจหม้อไฟหมาล่าด้วยกันเองจนสู้คู่แข่งไม่ไหว ยอดขายลดลง นักท่องเที่ยวจีนก็ไม่มาตามคาดสุดท้ายต้องทยอยปิดกิจการไป
ที่ผ่านมามีการเปิดให้บริการโดยไม่ได้ขออนุญาต แต่หลังจากสำนักงานเขตห้วยขวางลงพื้นที่ตรวจสอบ ใบอนุญาตประกอบกิจการรวมถึงการจ้างงานอย่างเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการมองว่าเป็นการผูกมัด อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะปิดกิจการ
สำหรับร้านที่ปิดกิจการไปมีประมาณ 30% หรือราว 10 จาก 40 ร้าน บนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ส่วนมากเป็นร้านหมาล่าและชาบูหม้อไฟที่ลงทุนประมาณ 2-3 ล้านบาท เป็นตึกแถวขนาด 1-2 คูหา และเป็นร้านของคนจีนหรือนอมินีจีน ส่วนร้านอาหารจีนที่ยังเปิดอยู่ในปัจจุบันดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและเสียภาษีถูกต้องทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ดี หม้อไฟสไตล์จีนหม้อไฟหม่าล่าเคยเป็นอาหารสุดฮิตในเมืองไทย เกิดกระแสร้านดังเข้าคิวยาวเหยียด ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่สมรภูมิธุรกิจเปิดร้านหม้อไฟหม่าล่าทั่วประเทศ หนุนธุรกิจร้านอาหาร ปี 2566 คาดภาพรวมตลาดโต 4.5% มูลค่า 4.25 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
และเป็นไปตามคาดการณ์ของ ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ว่าหม้อไฟหม่าล่าเกิดขึ้นเพราะกระแส ซึ่งกระแสจะมีอายุตัวเอง ดังนั้น เมื่อกระแสแผ่วธุรกิจอาจไม่ปังดังช่วงแรกๆ เป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ เป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว คือคนจีนที่อยู่ในไทย
แน่นอนว่า กระแสนิยมการบริโภคหม้อไฟหม่าล่าของคนไทยได้พีคสูงสุดและกำลังแผ่วลง ดูจากบรรยากาศร้านดังๆ ที่คนเคยเข้าคิวยาวเหยียด คนแน่นร้านแทบจะตลอดเวลา เวลานี้กลับตาลปัตรเงียบเหงาแทบทุกที่
ทั้งนี้ แม้จะมีทุนจีนกลุ่มเดิมทยอยปิดกิจการไปก็พบว่ามีทุนจีนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเซ้งกิจการต่อบ้างในบางร้าน นอกจากนี้ขยายไปลงทุน ย่าน RCA ย่านพระราม 9 นอกเหนือจากย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง
“นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ปี 2566 มีผู้ประกอบการที่เป็นทุนจีนกว่า 60 ราย แต่ปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 80 ราย มากที่สุดคือ ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร รองลงมาเป็น ซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ยังมี ร้านนวดสปา รวมทั้งธุรกิจโรงแรม โดยลักษณะการเข้ามาลงทุนจะเป็นการลงทุนร่วมระหว่างไทยและจีน” นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าว
แน่นอนว่าการเข้ามาของของทุนจีนที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้รัฐจัดเก็บรายได้จากค่าภาษีต่างๆ ได้มากขึ้น ในปี 2566 เขตสามารถจัดเก็บรายได้ 530 ล้านบาท จากภาษีต่างๆ ส่วนปี 2567 ประเมินว่าการจัดเก็บรายได้จะอยู่ที่ 680 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนสภาพเศรษฐกิจภายในของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเวลานี้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจที่สายป่านยาวไม่พอจึงไม่อาจแบกรับต้นทุนหลายๆ ด้านโดยเฉพาะค่าเช่าอาคารไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้จนเกิดปรากฎการณ์ทุนจีนกลับบ้านดังกล่าว
หากมองในอีกมิติหนึ่งการปิดตัวของกิจการต่างๆ เป็นการรีเซ็ตธุรกิจในย่านห้วยขวางใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง เป็นโอกาสในการให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจระยะยาว.