xs
xsm
sm
md
lg

อัด “ยาแรง” ปลุกตลาดหุ้น ฟื้น “วายุภักษ์” - เคาะเกณฑ์ TESG ใหม่ ไม่แตะ ROBOT TRADE - SHORT SELL

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาตรการเรียกความเชื่อมั่นตลาดหุ้น ทั้งการปรับเกณฑ์ใหม่กองทุน TESG และการฟื้นชีพกองทุนรวมวายุภักษ์ จะมีแรงดึงดูดให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ หยุดยั้งการเทขายและหวนกลับมาลงทุนหรือไม่ ยังไม่แน่ เพราะตัวการสำคัญที่ทำให้หุ้นตกจนโงหัวไม่ขึ้น คือ ROBOT TRADE และ SHORT SELL นั้น “ขุนคลัง” ไม่ยอมแตะ


ไม่นับสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยทรุดหนัก ที่มาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง มีคดีความสำคัญซึ่งอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี คดียุบพรรคก้าวไกล บวกรวมกับเศรษฐกิจตกต่ำจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอย ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หดตัวลง

ปัญหาใหญ่ในระดับโครงสร้าง ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและลงลึก จึงไม่ใช่โจทย์ง่ายที่จะแก้ได้เพียงแค่การลูบๆ คลำๆ เท่านั้น

ความซบเซาของตลาดหุ้นไทย ทำให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกันแสวงหาหนทางแก้ไข มีหลายเรื่องที่หยิบยกกันขึ้นมาพิจารณาก่อนหน้านี้ เช่น กองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF จะกลับเอาขึ้นมาใหม่ไหม สรุปคือไม่เอา

สุดท้าย มาตรการที่เด่นชัดและปฏิบัติได้ในเร็ววันนี้ มีเพียงแค่การขยายสิทธิประโยชน์การลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ THAIESG (TESG) โดยจะเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี จากปีละไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นไม่เกิน 3 แสนบาท และลดระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี
 พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอีกไม่เกินสองสัปดาห์หน้า และใช้ลดหย่อนในปีภาษี 2567 สามารถขายกองทุนได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป มาตรการนี้คาดว่าจะมีเงินไหลเข้ามาลงทุน ประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท ส่วนการประเมินรายได้รัฐบาลจะสูญเสียประมาณ 13,000 ล้านบาท
บทวิเคราะห์จาก บล.เอเซีย พลัส (ASPS) คาดหวังเม็ดเงินจาก THAIESG ใหม่ ไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดหุ้น ประมาณ 6 – 7 หมื่นล้านบาท และหนุนให้กองทุนลดสถานะเงินสด และซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในพอร์ตช่วงเวลาที่เหลือของปี คาดกองทุน THAIESG ใหม่ จะเป็นพระเอกพลิกเกมหนุนตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

 ฟื้นกองทุนวายุภักษ์ ระวังความเสี่ยง 

สำหรับมาตรการ  “เหล้าเก่าในขวดใหม่”  ที่ “ขุนคลัง” เพิ่งคิดได้ว่าจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งคือ  “กองทุนวายุภักษ์”  ขณะนี้กำลังพิจารณารูปแบบกองทุนว่าควรจะเป็นอย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3/2567

 “ผมคิดว่าภาครัฐต้องสร้างอะไรขึ้นมา การสร้างหน่วยลงทุน ก็เป็นการสร้างการออมให้กับประเทศ เมื่อก่อนทำไว้ไม่พอจำหน่าย จึงมีความคิดเอากลับมา เป็นสัดส่วนการลงทุน แบ่งเป็น สัดส่วน 3.5 แสนล้านบาท และออกอีก 1.5 แสนล้านบาท รวม 2 กองเป็น 5 แสนล้านบาท เรากำลังพิจารณาเรื่องนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว 

กองทุนวายุภักษ์ ในอดีต ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แบ่งหน่วยลงทุน เป็น 2 ประเภท คือ ประเภท ก. สำหรับประชาชนทั่วไป มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และ ประเภท ข. สำหรับกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท กองทุนประเภท ก. รับประกันผลตอบแทน ไม่ต่ำกว่า 3% และได้รับผลตอบแทนก่อนประเภท ข. มีอายุกองทุน 10 ปี

เมื่อครบอายุในปี 2556 กองทุนฯ ปิดตัวลงและคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมด หลังจากนั้นมีประกาศแปรสภาพมาเป็นกองทุนที่เปิดขายหน่วยลงทุนอีกครั้ง โดยขายให้เฉพาะกระทรวงการคลัง และหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จึงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เพียงรายเดียวของกองทุนวายุภักษ์ คล้ายกับ Temasek Holdings ของรัฐบาลสิงคโปร์

ข่าวหวือหวาในช่วงหลังของกองทุนวายุภักษ์ คือการเข้าซื้อหุ้นการบินไทยจากกระทรวงการคลัง ในปี 2563 ทำให้การบินไทย พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และคลังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในการบินไทยอีกต่อไป

 กิจพณ ไพรไพศาลกิจ  ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่าการฟื้นกองทุนวายุภักษ์ ให้ผู้สนใจลงทุนทั่วไปเข้าซื้อขายได้ จะสร้างเม็ดเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนตลาดหุ้น แต่ต้องรอรายละเอียด แนวทางการลงทุน และการบริหารกองทุน ที่จะออกมาว่าเป็นอย่างไร

 วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล. ลิเบอเรเตอร์ มองกองทุนวายุภักษ์เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเช่นกัน เพราะจะมีเม็ดเงินใหม่ใส่เข้ามาช่วยพยุงตลาดหุ้นได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่แน่นอนและชัดเจน ต้องรอข้อสรุปก่อน

ขณะที่  พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวเตือนข้อควรระวังในการฟื้นกองทุนภายุภักษ์ว่า สถานการณ์ในวันนี้อาจไม่เหมือนอดีต ปัจจุบันอัตราการจ่ายเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยเหลือแค่ประมาณ 3.4% ไม่ใช่ 5-6% เหมือนสมัยนั้น และโอกาสเติบโตน้อยกว่ายุคนั้นมาก ถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่โตขึ้น ผลตอบแทนที่เอามาแบ่งกันก็มีน้อยลง หากตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนเลยอีกสิบปี การรับประกันเงินต้นและผลตอบแทน ก็เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเงินลงทุนของรัฐ

นอกจากนี้ การระดมทุนในรูปแบบความเสี่ยงคล้ายหุ้นกู้ อาจจะเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดพันธบัตร เพราะมี risk appetite ที่ใกล้เคียงกัน โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ยังไงนี่ก็เหมือนเงินกู้ที่หนุนหลังโดยสินทรัพย์ของรัฐ จะเอาไปใช้ทำอะไรคงต้องคิดถึงความคุ้มค่าของการใช้เงินกันอย่างถ้วนถี่

 ยืนกรานไม่เลิก SHORT SELL - ROBOT TRADE 

อย่างไรก็ดี แวดวงนักลงทุนในตลาดหุ้น มีคำถามที่บรรดานักลงทุนต้องการคำตอบมากที่สุด คือ การทำรายการยืมหุ้นมาขาย หรือ SHORT SELL และการซื้อขายด้วยโปรแกรม หรือ ROBOT TRADE จะเอาอย่างไร จะยกเลิกตามเสียงเรียกร้องไหม เพราะนักลงทุนเชื่อว่าเป็นตัวการทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน
คำตอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกชอร์ตเซล เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล หากยกเลิกไปอาจส่งผลเสียในระยะยาว จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี และอาจขัดกับหลักสากล
“ส่วนเรื่องการทำ Naked Short ในระยะยาว จะมีการแก้ไขกฎหมายให้มีความผิดถึงนักลงทุนที่กระทำผิดรับโทษปรับและดำเนินคดีทางอาญา” พิชัย กล่าวถึงการวางมาตรการคุมเข้มการขายโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ หรือ Naked Short

 ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่ายยาวถึงมาตรการยกระดับการกำกับตลาดทุน ควบคู่ไปกับปัญหาที่ท้าทาย ทั้งจากการขายชอร์ตเซล และโปรแกรมเทรดดิ้ง ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน
เช่น มาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้น โดยทบทวนหลักทรัพย์ที่ชอร์ตเซลได้ การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น การกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม การเพิ่มคุณภาพการตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ฯ การจัดให้มี Central Order Screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เพื่อบริหารความเสี่ยงในการส่งคำสั่งซื้อขายสำหรับการซื้อขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดดิ้ง

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการเพิ่มความคุ้มครองนักลงทุน โดยจะบังคับใช้ช่วงไตรมาส 3/2567 คือ เพิ่มบทระวางโทษบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกให้สูงขึ้นสามเท่าในกรณีที่ บล.ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดดิ้ง

แม้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมา จะไม่โดนใจนักลงทุน แต่บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเด้งขึ้นมาเกือบ 20 จุด ยืนเหนือ 1,300 จุด รอรับล่วงหน้า โดยเฉพาะประเด็นการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ ดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนและบรรดาโบรกเกอร์ ที่ต่างรอความชัดเจนออกมา

 เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่าตลาดปรับขึ้นรับสัญญาณบวกจากมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ทั้งการปรับเกณฑ์กองทุน Thai ESG และฟื้นกองทุนวายุภักษ์ คาดหวังเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการคุมเข้ม Short Sell ซึ่งตลาดมีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว สะท้อนว่าความเสี่ยงของตลาดลดลงและมีโอกาสที่ดัชนีจะขยับขึ้นไปต่อได้

 หุ้นไทยหมดอนาคต ต้องแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ 

ในมุมมองของ  กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอำลาวงการการเมืองหวนกลับคืนตลาดทุนไทย ในฐานะประธานกรรมการ กรรมการอิสระ Finnomena กลับวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นไทยยังไม่น่าลงทุน ทั้งด้านคุณภาพและราคา วันนี้นักลงทุนพูดเสียงเดียวกันหมดว่าหุ้นไทยไม่มีอนาคต จึงหันไปลงทุนสินทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

เขามองว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กำไร บจ.ไม่เติบโตมานาน สาเหตุหลักจากเศรษฐกิจไทยโตต่ำจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นักลงทุนทิ้งหุ้นไทยไปแล้วถึงหนึ่งล้านล้านบาท หากจะให้นักลงทุนกลับมาตลาดหุ้นไทยต้องมาพร้อมกับเศรษฐกิจที่ต้องกลับมาเติบโตต่อเนื่องนับ 10 ปี เพื่อหนุนให้กำไร บจ.โตในระดับที่ดีต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรายย่อย

ส่วนปัญหาชอร์ตเซล ปั่นหุ้น เป็นแค่นักลงทุนบางกลุ่ม แต่เมื่อบวกกับเศรษฐกิจไทยทำให้มีผลต่อบรรยากาศและความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยที่ลดลงไป นักลงทุนจึงรู้สึกหมดหวัง ส่งผลต่อตลาดหุ้นซึมยาว ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่รัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง จนนักลงทุนต่างประเทศเริ่มเชื่อมั่น เม็ดเงินไหลกลับมา ตลาดหุ้นไทยตอนนี้ก็เช่นกัน ต้องมีมาตรการที่ทำให้ชัดเจน และต่อเนื่อง

 ทั้งนี้ ตลอดปี 2566 ต่างชาติเทขายหุ้น 1.92 แสนล้านบาท ปี 2567 ยังไม่เลิกขาย โดยยอดขายหุ้นสุทธิสะสม สิ้นสุดวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 109,349 ล้านบาท 

 ภากร ปีตธวัชชัย  กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยอมรับว่า ภาพตลาดหุ้นไทยในปีนี้เริ่มเห็นกำไรต่อหุ้นกระดกหัวขึ้นแล้ว แต่ดัชนี SET ยังปรับตัวลดลงตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่บางเซ็กเตอร์ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและการเงิน ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ

ขณะที่เซ็กเตอร์ที่เกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชน, ไอที, ส่งออก, เฮลท์แคร์ และท่องเที่ยว เริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยกำไรสุทธิของ บจ. งวดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 264,805 ล้านบาท เติบโต 1.7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่ บจ.ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีกำไรสุทธิ 71,548 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 29%
“อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ในปัจจุบันค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นอีกเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่นักลงทุนควรจะพิจารณาดูข้อมูลของ บจ. ในแต่ละเซ็กเตอร์ และหุ้นรายตัวว่าตอนนี้เป็นเวลาที่สมควรจะกลับเข้ามาลงทุน” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวเชิญชวนนักลงทุน

 มาตรการกำกับและปลุกตลาดหุ้นที่ออกมา ซึ่ง “ขุนคลัง” ถือว่า เป็นยาแรงพอสมควรนั้น จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติได้หรือไม่ อีกไม่นานคงได้เห็นกัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น