xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองทุบหุ้น บั่นทอนเศรษฐกิจ รัฐบาลทำลายตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การเมืองทุบหุ้น บั่นทอนเศรษฐกิจ รัฐบาลทำลายตัวเอง

สถานการณ์ทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะกับปรากฏการณ์ดัชนีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ลงลึกหลุดต่ำกว่า 1,300 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี โดยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทหลักทรัพย์และสถาบันวิเคราะห์ตลาดหุ้นหลายแห่ง ต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ามาจากปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะบรรดาคดีความที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรม

เบื้องต้นเริ่มมีการคาดการณ์กันว่า SET Index อาจโงหัวขึ้นมาพ้น 1,300 จุด เนื่องจากภาพรวมของการเมืองไทยเมื่อวัน 18 มิถุนายน มีทิศทางคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านของวุฒิสภาชุดใหม่น่าจะราบรื่นตามกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งของนักลงทุนเองก็ยังจับตามองทิศทางของการเมืองไทยไปอีกสมควร เนื่องจากยังมีอีก 2 คดีที่ยังอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย คดียุบพรรคก้าวไกล และ คดีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จาการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองคดีนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดพิจารณากันต่อในเดือนกรกฎาคม อาจทำให้ยังเป็นปัจจัยที่ตลาดทุนของไทยไม่ค่อยสดใสเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ยังไม่มีความชัดเจนและเห็นทิศทางในระยะยาว

ถึงกระนั้น หากจะบอกว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียวที่ทำให้มีแรงเทขายหลักทรัพย์จำนวนมากนั้นอาจไม่ถูกต้องทั้งหมดเสียทีเดียว แต่อีกด้านหนึ่งมาจากความไม่ชัดเจนและการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มีความล่าช้าของรัฐบาล

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จนทุกวันนี้ก็ยังหาแหล่งเงินมาได้ไม่ครบ 500,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการเคลียร์ในข้อกฎหมายว่าที่สุดแล้วกระทรวงการคลังจะล้วงเงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้หรือไม่ หรือแม้แต่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลว่าสามารถซื้อสินค้าประเภทใดได้บ้าง

เช่นเดียวกับ โครงการแลนด์บริดจ์ สะพานเศรษฐกิจเชื่อสองฝั่งทะเลระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งที่ผ่านมานายกฯเซลแมนด์ขยันเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเอานโยบายไปขายเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติพร้อมจัดหนักมาตรการในการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าและไม่เห็นหน้าตานักลงทุนที่มีความสนใจ ผิดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่คว้าชิ้นปลามันไปครอง ภายหลัง Google เตรียมลงทุนด้วยเม็ดเงินสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 72,000 ล้านบาท สร้างศูนย์ข้อมูล Data Center และระบบคลาวด์ระดับภูมิภาค Cloud Region เพื่อสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรม

ที่ผ่านมาคนในรัฐบาลพยายามใจดีสู้เสื้อด้วยการอ้างว่าการขึ้นและลงของตลาดหุ้นเป็นไปตามกลไกและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่หลายประเทศมีความซบเชา การอ้างเช่นนั้นเหมือนการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะเศรษฐกิจไทยที่ประสบปัญหาไม่ได้เป็นเช่นนั้น

โดยมีปัจจัยหนึ่งมาจากความยักแย่ยักยันของรัฐบาลเองในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เม็ดเงินจากภาครัฐที่ควรถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจึงเกิดความล่าช้า การหมุนเวียนเศรษฐกิจเกิดความไม่ต่อเนื่อง ส่งผลจนมาถึงตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังตั้งเอาไว้

ดังนั้น บางทีการแก้ไขเศรษฐกิจของรัฐบาลนอกจากการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลต้องยอมรับความจริงของต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น