xs
xsm
sm
md
lg

โต้เดือดคดียุบพรรค 'กกต.' อ้างทำตามกฎหมาย 'ก้าวไกล' เตือนอย่าศรีธนญชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โต้เดือดคดียุบพรรค 'กกต.' อ้างทำตามกฎหมาย 'ก้าวไกล' เตือนอย่าศรีธนญชัย

คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้ร้องขอให้มีการยุบพรรคก้าวไกล ต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้แรงเหวี่ยงกระทบเข้ามาที่กกต.เข้าอย่างจัง เพราะด้านหนึ่งมีการตีความท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจเป็นการชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องของกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ในประเด็นนี้เอง 'ปกรณ์ มหรรณพ' กกต. ถึงกับต้องออกมาชี้แจงว่าเหตุผลต่อการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2567 ได้ระบุชัดเจนว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยนี้ทำให้ กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ถือว่า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้แล้ว ถ้าขนาดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ใช่หลักฐานอันควรเชื่อถือได้ กกต.คงตอบกลับสังคมยาก

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับกกต.และมีผู้มาร้องเรียนในเรื่องนี้ กกต.จึงจำเป็นต้องยื่น ถ้า กกต.ไม่ยื่นคำร้องอาจจะมีความผิดตามกฎหมายได้ การยื่นคำร้องในครั้งนี้เป็นไปตามตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองทุกประการ ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตประธานกกต.ยอมรับประหนึ่งว่าการพิจารณายุบพรรคก้าวไกลขัดต่อระเบียบและช้ามขั้นตอนนั้น จำเป็นต้องดูภาพรวมทั้งหมดของคำให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่ตัดเฉพาะบางส่วนออกมา

จากการแถลงของกกต.ที่ออกมา อีกด้านหนึ่งพรรคก้าวไกลนำโดย 'ชัยธวัช ตุลาธน' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องออกมาตอบโต้ทันทีว่า "กระบวนการที่จะยื่นยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงสืบสวนสอบสวนเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว การอ่านกฎหมาย อย่าไปตีความแบบศรีธนญชัย กฎหมายเขียนลำดับไว้อย่างชัดเจน"

ชัยธวัช กล่าวอีกว่า การที่กกต.อ้างว่าคำวินิจฉัยในคดีก่อนมีผลผูกพันแล้ว ขอถามว่าผูกพันกันอย่างไร เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่สั่งห้ามไม่ให้มีการกระทำการใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 2.ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติที่มิชอบด้วยกฎหมาย เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น