คดียุบก้าวไกล และคดีเศรษฐา แนวโน้ม ลากยาว
คำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ยื่นคำร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจาก มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตร 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
มีแนวโน้มว่า ศาลรธน.อาจมีการเปิดห้องไต่สวนพิจารณาคดี เพื่อเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้อง คือพรรคก้าวไกลให้ถ้อยคำ กลางห้องพิจารณาคดีของศาลรธน.
หลังพบว่า ผลการประชุมตุลาการศาลรธน.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรธน. มีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในวันที่ 17 มิ.ย. โดยกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 18 มิ.ย.
โดยขณะนี้ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลรธน.เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง และยื่นบัญชีพยานบุคคลไปให้ศาลรธน.เรียกมาให้ถ้อยคำ โดยแกนนำพรรคก้าวไกลระบุว่ามีการยื่นไปหลายรายชื่อ แต่ไม่ขอเปิดเผยรายชื่อ
เช่นเดียวกับคำร้องคดีกลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรธน. วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง กรณีนำชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ขึ้นทูลเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งหลัง เศรษฐา ยื่นเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปให้ศาลรธน.เมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่มีการขอขยายเวลาแต่อย่างใด
ก็ปรากฏว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรธน.วันเดียวกันนี้ ก็มีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุหลักฐาน ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 17 มิ.ย. โดยกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 18
ที่ทำให้มีความเป็นไปได้ ที่คดีนี้ ศาลรธน.ก็อาจเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี โดยเรียกตัวแทนฝ่าย 40 สว.และฝ่ายนายกรัฐมนตรี ไปให้ถ้อยคำต่อศาลรธน. ซึ่งหากออกมาเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้คดีนายเศรษฐา อาจใช้เวลาพอสมควรกว่าคดีจะสิ้นสุดลง และคงทำให้ วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกฯฝ่ายกฎหมาย ต้องติวเข้ม เศรษฐา หากต้องไปขึ้นให้ถ้อยคำต่อศาลรธน.
แต่ที่จบก่อนคดีอื่น ก็คือ คำร้องกรณี ผู้สมัครสว. ร่วมกันยื่นคำร้องขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ,40 ,41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ กรณีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 ในมาตราดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญนูญหรือไม่
ซึ่งผลการประชุมตุลาการศาลรธน.วันเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 09.30 น.
เท่ากับคดีสำคัญๆ ในชั้นศาลรธน. มีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่ยังไม่ถึงจุดพีก จะมีก็แค่ คดีตีความพรบ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ฯ ที่จะรู้ผลในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. หลังการเลือกสว.ระดับจังหวัด ที่จะเลือกกันวันอาทิตย์นี้ 16 มิ.ย. ไปอีกสองวัน