xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกล ตั้ง 9 ประเด็น ศาลไร้อำนาจยุบพรรค กกต.ยันทำตามกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ก้าวไกล ตั้ง 9 ประเด็น ศาลไร้อำนาจยุบพรรค กกต.ยันทำตามกฎหมาย

วันที่ 12 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในวันดังกล่าวจะยังไม่ใช้วันที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดและวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคก้าวไกล แต่ที่แน่ๆ จะเป็นวันที่ได้รู้กันว่าคดีนี้จะจบรวดเร็วหรือลากยาวกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันดังกล่าวปรากฎว่าพรรคก้าวไกลนำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวทางการต่อสู้ของพรรคก้าวไกลไว้ถึง 9 ประเด็น ดังนี้ 1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับขอบเขตอำนาจและกระบวนการโดยตรง 3.คำวินิจฉัยคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองและไม่ได้เป็นการปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5.การกระทำตามคำวินิจฉัย 31 มกราคม 2567 ไม่ได้เป็นมติของพรรค 6. โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็นฉุกเฉิน ฉับพลันและไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย 7. ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจตัดสินคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9.9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

นายพิธา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อหาที่เราโดน ไม่ว่าจะเรื่องนโยบายหาเสียง การแสดงความเห็นในสาธารณะ การเป็นนายประกันหรือเป็นผู้ต้องหา การรณรงค์แก้กฎหมาย กกต.ยกคำร้องการยุบพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด ต้องเรียนว่าว่ากกต. ผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายและรับผิดชอบเรื่องพรรคการเมืองโดยตรง ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ศาลระบุว่าข้อเท็จจริงไม่ได้พิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำ แต่พิจารณาจากความเข้าใจของวิญญูชน ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นปฏิปักษ์จึงตัดสินใจยุบพรรค ซึ่งกกต. เป็นมากกว่าวิญญูชนแล้ว กกต. ก็ไม่มีการทักท้วงและยกคำร้องทั้งหมด ในขณะที่บางพรรคกระทำเข้าข่ายความผิด ทางกกต. ก็ได้ทำการออกหนังสือเตือน แต่ในกรณีของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกในสาธารณะ ในขณะนั้นหลายพรรคการเมืองก็แสดงออกเช่นกันในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์

ขณะเดียวกัน ภายหลังพรรคก้าวไกลแถลงออกมา กกต.ก็แสดงท่าทีตอบโต้ทันที โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ระบุว่า การดำเนินการของ กกต.ได้ดำเนินการตามระเบียบของกกต.ว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกประการ

ส่วนสาเหตุที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ นายอิทธิพร ชี้แจงว่า ขอตอบในนามส่วนตัวว่า ที่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายมาตราที่เกี่ยวข้องบอกว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อว่ากระทำความผิด ซึ่งหลักฐานอันควรเชื่อว่าตรงนี้ก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“ถ้าไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เราอาจจะต้องดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่านี้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งให้สาธารณชนทราบไปแล้ว” ประธานกกต. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น