กสทช.ไร้เอกภาพ ลากไส้ ฟ้องกันนัว
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.67 มีข่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีมติรับคำฟ้อง คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ 4 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ 1 รองเลขาฯ กสทช.
จากกรณีลงมติให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. พ้นจากรักษาการเลขาธิการ กสทช. เพื่อสอบสวนกรณีที่ กสทช.ได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 จำนวน 600 ล้านบาท ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
โดยคดีนี้ นายไตรรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 4 กสทช. และ 1 รองเลขาฯ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
มีจำเลย ประกอบด้วย 4 กสทช. ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และ 1 รองเลขาธิการ กสทช. คือ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์สิริ รองเลขาธิการ กสทช.
ศาลฯ กำหนดวันนัดพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ค.67 แต่มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการให้หยุดปฎิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
มีกระแสข่าวว่า ในการประชุม กสทช. ครั้งถัดไปวันที่ 7 มิ.ย.67 จะมีการบรรจุผลการรับฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมรับทราบ และอาจมีการเสนอให้พิจารณาให้ 4 กรรมการ กสทช.ที่เป็นจำเลยในคดีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่
ซึ่งในการประชุม กสทช.เมื่อไม่นานมานี้ ก็เคยมีกรณีที่เอกชนรายหนึ่งขอให้ “กสทช.พิรงรอง” หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช. ในการพิจารณาเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกชนรายดังกล่าวทั้งหมด โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นกลาง และกระบวนการพิจารณาคดีอยู่ในชั้นศาล แต่ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 27 พ.ค.67 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ “กสทช.พิรงรอง” ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
โดย 4 เสียงข้างมากในวันนั้นก็ประกอบด้วย “กสทช.ธนพันธุ์, กสทช.พิรงรอง, กสทช.ศุภัช, กสทช.สมภพ” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจำเลยในคดี จึงคาดว่าหากมีการเสนอให้พิจารณาหยุดปฏิบัติหน้าที่จริง กสทช.เสียงข้างมาก ก็จะลงมติให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ในทางกลับกันหากมีลงมติให้ 4 กสทช.หยุดปฏิบัติหน้าที่จริง ก็จะกระทบการทำงานของ กสทช.ที่มีอยู่ 7 คน โดยจะไม่สามารถเปิดประชุมได้ในห้วงเวลาที่ 4 กสทช.หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะในข้อบังคับการประชุมกำหนดว่า ต้องมีกรรมการมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 4 คนขึ้นไปจึงจะสามารถเปิดประชุมได้
ทั้งนี้ คดีที่ 4 กสทช. และ 1 รองเลขาธิการ กสทช. ถูกฟ้องร้องโดยรักษาการเลขาธิการ กสทช. ก็เป็นการตอกย้ำถึงความขัดแย้งภายในสำนักงาน กสทช. ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน
ปัจจุบัน กสทช. 7 คน มีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายเสียงข้างมาก” ประกอบด้วย “กสทช.ธนพันธุ์, กสทช.พิรงรอง, กสทช.ศุภัช, กสทช.สมภพ” ขณะที่อีก 3 เสียงเป็น “ฝ่ายเสียงน้อย” ประกอบด้วย รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช., พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์
โดยการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ กสทช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีการวาระงานที่คั่งค้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถประชุม หรือลงมติเพื่อหาข้อยุติได้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกรณีที่ “ประธานสรณ” ถูกคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ตรวจสอบ “คุณสมบัติ” โดยล่าสุดเพิ่งมีมติส่งรายงานถึง “ประธานวุฒิสภา”
เป็นเรื่องที่ “รองเลขาฯภูมิศิษฐ์” ทำหนังสือขอให้ กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา ทำการตรวจสอบ
มีรายงานว่า กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ มีความเห็นว่า “ประธานสรณ” มี “ลักษณะต้องห้าม” ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) เนื่องจากมีสถานะเป็นพนักงาน-ลูกจ้างในหน่วยงานอื่น ช่วงคาบเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่ง กสทช.
จึงเกิดกระแสกดดันให้ “ประธานสรณ” แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง กสทช. เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ขณะที่บางส่วนก็มองว่า “ประธานสรณ” ขาดคุณสมบัติการเป็น กสทช.ไปแล้วด้วย
กลายเป็นความชุลมุนวุ่นวายภายใน “อาณาจักรซอยสายลม” องค์กรที่มีหน้าที่กำกับธุรกิจระดับแสนล้าน ที่เชื่อว่าจะยังคงไม่จบลงง่ายๆ.