xs
xsm
sm
md
lg

'ยูโร 2024' คนไทยได้ดู บอลโลกกลับมาวุ่น ฟ้อง 4 กสทช.ผิด 157

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



'ยูโร 2024' คนไทยได้ดู บอลโลกกลับมาวุ่น ฟ้อง 4 กสทช.ผิด 157

ในที่สุดคอบอลในประเทศไทยไม่ต้องพึ่งพาช่องทางธรรมชาติในการดูฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2024 ที่เริ่มบรรเลงเพลงแข้งกันในช่วงกลางเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีบริษัทเปย์ทีวียักษ์ใหญ่ซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยได้ดูแบบมีค่าใช้จ่าย ในทางกลับกัน แม้ว่าเรื่องบอลยูโรในปีนี้จะไม่มีปัญหา แต่ดูเหมือนว่าความคาราคาซังเกี่ยวกับการควักเงินของหน่วยงานรัฐไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อ 2 ปีก่อน ยังไม่จบไม่สิ้น

เนื่องจาก ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีมติรับคำฟ้อง คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ 4 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ 1 รองเลขาฯ กสทช.

การฟ้องร้องคดีครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่กสทช.สั่งให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. พ้นจากตำแหน่ง เพื่อสอบสวนกรณีที่ กสทช.ได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 จำนวน 600 ล้านบาท ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย ทำให้นายไตรรัตน์ เลือกที่จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 4 กสทช. และ 1 รองเลขาฯ เป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว โดยตั้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

สำหรับจำเลยคดีนี้ประกอบด้วย ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกสทช. และ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช.

อย่างไรก็ตาม ผลของการที่ศาลรับฟ้องคดีนี้ไม่ได้มีการสั่งให้จำเลยหยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ทำให้จำเลยในคดียังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ประเด็นของการฟ้องคดีมาจากมติกสทช.ก่อนหน้านี้ สั่งให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) คืนเงินจากจำนวน 600 ล้านบาทที่บอร์ดเสียงข้างมากมีมติสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2022 หลังจากเกิดปัญหา "จอดำ" กับกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (IPTV) เนื่องจากทาง กกท. ไม่ทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง กสทช. และ กกท. ที่ระบุชัดว่า ผู้รับใบอนุญาตภายใต้ กสทช.ต้องปฎิบัติตามแนวทางการดูแลการถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ให้เป็นไปตามกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) และมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ต่อมา คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่แต่งตั้งโดยประธาน กสทช. ให้ความเห็นว่า "นายไตรรัตน์ รักษาการเลขาธิการ กสทช. อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศ หลักเกณฑ์ มติ กสทช. และบันทึกข้อตกลง" เนื่องจากมีการกระทำที่ก่อให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการสิทธิการถ่ายทอดสดรายการฟุตบอลโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น