xs
xsm
sm
md
lg

“พชร ” ที่ปรึกษาปธ.กสทช. ให้กำลังใจ “หนุ่ม-กรรชัย ” มองเป็นมติตกยุค !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“พชร ” ที่ปรึกษาปธ.กสทช. ให้กำลังใจ “หนุ่ม-กรรชัย ” มองเป็นมติตกยุค !?


นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประธานประจำ กสทช. แสดงความเห็นต่อกรณีมติของอนุกรรมการเนื้อหาและผังรายการที่เสนอให้ กสทช. มีมติลงดาบ รายการโหนกระแส โดยให้ระงับการออกอากาศ 1 วันในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 จาก เนื้อหารายการ ที่ “ไม่เหมาะสม ผิดศีลธรรม” นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นการพิจารณาแบบตำรวจศีลธรรมที่ผิดจากโลกของความเป็นจริง เป็นมติที่ตกยุค และส่งสัญญานเตือนภัยต่อธุรกิจโทรทัศน์อีกด้วย

ที่ปรึกษาประธานประจำ กสทช. กล่าวว่า “รายการของพี่หนุ่มกรรชัย เป็นรายการสดที่นำคู่กรณีที่มีความขัดแย้งและเป็นที่สนใจของสังคม มาหารือ ไกล่เกลี่ย และยุติความขัดแย้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นประโยชน์กับสังคมที่คุกรุ่นด้วยความขัดแย้ง ทำให้เห็นการยุติความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น ทำให้ประชาชนรู้จักสิทธิทางกฎหมาย เพื่อให้ตระหนักคิดก่อนลงมือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งรายการลักษณะนี้ มีให้เห็นมากในต่างประเทศ เช่นในสหรัฐฯ มีรายการ Jerry Springer หรือ Dr.Phil และ Judge Judy ซึ่งเป็นรายการ civil court เป็นต้น”

นายพชร กล่าวว่า ตนเอง กับ หนุ่ม กรรชัย ล้วนผ่านการฝึกการเป็น คนกลางยุติความขัดแย้ง (conflict resolutionist) ซึ่งมีเป้าหมาย คือให้คู่กรณีลดการกระทบกระทั่งและเข้าใจกัน โดยส่วนหนึ่งของกระบวนการคือ การระบายความในใจ ซึ่งอาจมีลักษณะของคำพูดที่สะท้อนอารมณ์ได้ในหลายระดับ ทั้งนี้ การระบายความในใจและการแสดงความเห็นที่แท้จริง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนความคิดของตนเอง เพื่อให้สามารถบริหารความคิด อารมณ์และการกระทำของตนเองได้

“มาตรฐานศีลธรรมและการตรวจสอบ ควรจำกัดที่เนื้อหาที่เป็นภัยต่อชีวิตของผู้ออกรายการหรือผู้อื่น เช่นการขู่ ทำร้ายร่างกาย ตนเอง และคนอื่น หรือ การส่งสัญญานให้เกิดการซ่องสุม หรือ ก่อให้เกิดการจลาจลในสังคม การระบายด้วยคำพูดหรือคำศัพท์ ที่มีอารมณ์ร่วมและใช้กันเป็นปกติ ในหมู่คนทั่วไปย่อมเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของโลกความเป็นจริง ไม่ได้สร้างโลกสีชมพู หรือโลกยูโทเปียบนจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม ทำให้สังคมเก็บกดและเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติธุรกิจโทรทัศน์ ส่วนตัวมองว่ามุมมองแบบนี้ ทำให้การเกิด content ที่น่าสนใจในโทรทัศน์เป็นไปได้ยาก เพราะมีการกำหนดกรอบ เกินความเป็นจริงของสังคม ดังนั้น มตินี้จึงแสดงให้เห็นถึงวิกฤติของธุรกิจโทรทัศน์อย่างแท้จริง และหากจะมีการกำกับดูแลเนื้อหาใดๆ ในลักษณะนี้ จะทำให้ กสทช. ย่อมไม่ได้รับไว้วางใจจากสังคมอีกต่อไป”

“ในฐานะที่ปรึกษา ประธาน กสทช. เป็นคนรุ่นใหม่ และตนก็เคยโดนยุติผังรายการ ด้วยเหตุเดียวกันนี้ ตอนสมัยเป็นผู้ดำเนินรายการในช่องวอยซ์ทีวี ช่อง 36 ในช่วงหลังการปฎิวัติรัฐประหาร โดยโดนยุติให้ออกอากาศในช่วงสงกรานต์ ปี 2558 ด้วยเหตุเดียวกัน คือ ให้ความเห็นกับข่าว ที่ “มีเนื้อหาผิดศีลธรรม และขัดคำสั่ง คสช.” ทำให้เข้าใจได้ดีถึงความอึดอัดของคนทำงานและความต้องการให้ธุรกิจโทรทัศน์ยังมีส่วนสำคัญต่อสังคมไทยต่อไป มติครั้งนี้จึงเป็นมติที่ตกยุค และส่งสัญญานเตือนภัยต่อธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งก็ได้แจ้งความเห็นของตนไปยังประธาน กสทช. ด้วยแล้วตามที่ได้กล่าวมา” นายพชร กล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น