ศาลปกครองปลดล็อค ระเบียบ กกต.ขัด รธน. ผู้สมัคร ส.ว.ไม่ถึงครึ่งแสน
การรับสมัครส.ว.ได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ /5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครรวม 48,117 คน จังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุด คือจังหวัดศรีสะเกษ 2,764 คน อันดับที่สอง คือกรุงเทพมหานคร 2,489 คน อันดับที่สามเชียงใหม่ 2,000 คน อันดับที่สี่บุรีรัมย์ 1,836 คน และอันดับที่ห้านครศรีธรรมราช 1,798 คน
ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด คือ จังหวัดน่าน 98 คน อันดับสอง ตาก 102 คน อันดับสาม สมุทรสงคราม 128 คน อันดับสี่ พังงา 134 คน และอันดับห้า อุตรดิตถ์และนครพนม จังหวัดละ 150 คน
แต่จำนวนยอดผู้สมัครส.ว.อาจไม่น่าสนใจเท่ากับคำพิพากษาของศาลปกครองที่ให้าเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เมษายน -15 พฤษภาคม และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ เนื่องจากเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
โดยศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการทำหน้าที่ของ ส.ว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
แม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก ส.ว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นๆ การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร ส.ว.สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร ส.ว.ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร ส.ว.เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นั้น ศาลเห็นว่า ระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร ส.ว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้ เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ
ท่าทีจากกกต.ต่อคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าว นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ได้ตรวจสอบคำพิพากษาและกฎหมายเบื้องต้นแล้ว ระเบียบ กกต.ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ ตามมาตรา 70 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่กำหนดว่า ในกรณีคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้รอการบังคับคดีใว้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
"เรื่องนี้ สำนักงาน กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในช่วงวันหยุดจะได้ประมวลเรื่องและความเห็นเสนอกกต. ในวันจันทร์ และอังคารนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นแนวทางกับผู้สมัครและสื่อมวลชนโดยเร็วต่อไป" นายแสวง กล่าว
สำหรับจำนวนผู้สมัครส.ว.ที่ปรากฎออกมา นายแสวง ยอมรับว่า จำนวนผู้สมัครอาจจะน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ อาจเนื่องจากกำหนดคุณสมบัติไว้สูง หาคนรับรองไม่มี การจัดตั้งเป็นหมู่ เป็นคณะบริหารจัดการได้ยาก เพราะระบบออกแบบป้องกันไว้ ทั้งการจัดตั้งและการฮั้วในระดับหนึ่ง รวมทั้งขาดแรงจูงใจในการสมัครที่ระบบการเลือกมีความซับซ้อนหลายชั้น ซึ่งจำนวนผู้สมัครประมาณนี้ น่าจะช่วยให้การบริหารจัดการในการเลือก และการควบคุมทำให้การเลือกเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย