xs
xsm
sm
md
lg

รับคำร้อง "เศรษฐา" ตั้ง "พิชิต" ขัด รธน. หรือไม่? ศาล รธน. มติ 6:3 แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รับคำร้อง "เศรษฐา" ตั้ง "พิชิต" ขัด รธน. หรือไม่? ศาล รธน. มติ 6:3 แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

วันนี้ (23 พ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับของ 40 สมาชิกวุฒิสภา ที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ว่าสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยคำร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน และ นายพิชิต ชื่นบาน ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ เหตุกระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ กรณีเสนอชื่อ-แต่งตั้งนายพิชิต ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2560

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างข้างมาก 6 ต่อ 3 รับคำร้องดังกล่าว แต่มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนกรณีของนายพิชิต นั้นศาลมีมติ 8 ต่อ 1 ไม่รับคำร้อง เนื่องจากได้ลาออกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้คือ
"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ) มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 54

"สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 2 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2ไว้พิจารณาวินิจฉัย

"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์)
"ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่แจ้งให้คู่กรณีทราบ"
กำลังโหลดความคิดเห็น