xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความเห็นศาลปกครอง กฎเหล็กเลือก ส.ว.ส่อล่ม เลือกปฏิบัติ-ไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดความเห็นศาลปกครอง กฎเหล็กเลือก ส.ว.ส่อล่ม เลือกปฏิบัติ-ไม่เป็นธรรม

วันที่ 24 พฤษภาคม ศาลปกครองจะฟังคำพิพากษาในคดีที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวก ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว. โดยการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีความน่าสนใจตรงที่มีตุลาการผู้แถลงคดีแสดงความคิดเห็นว่าระเบียบดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีปัญหาพอสมควรและจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการเลือกส.ว.

โดยตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ระเบียบ กกต.ที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนประกอบด้วยข้อ 5, 7, 8, 11 (2) (5) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ข้อ 5 ที่กำหนดว่าให้ผู้ประสงค์ที่จะสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.สามารถแนะนำตัวตามระเบียบนี้ได้ นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ เห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 36 ซึ่งเป็นฐานอำนาจที่ กกต.ใช้ออกระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ให้อำนาจ กกต. ออกระเบียบมาบังคับใช้กับผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร ถ้าบังคับจะต้องกำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง การออกระเบียบข้อดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

ข้อ 7 ที่กำหนดให้ผู้สมัครใช้เอกสารแนะนำตัวมีขนาดไม่เกิน A4 ระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว รูปถ่ายผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์การทำงานในกลุ่มที่ลงสมัครเท่านั้นไม่เกิน 2 หน้า เห็นว่าการแนะนำตัวของผู้สมัคร นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้สมัคร ยังจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่จะได้ผู้ที่มาทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย แม้การกำหนดตามข้อ 7 จะมีความเสมอภาค ไม่เพิ่มภาระเกินสมควรแก่เหตุ แต่การที่ผู้สมัครไม่รู้จักกัน การกำหนดใช้เอกสารไม่เกิน 2 หน้า ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม เป็นการตัดโอกาสการแนะนำตัวของผู้สมัคร และประชาชนที่จะทราบข้อมูล

ข้อ 8 ที่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครตามข้อ 7 และเผยแพร่ต่อผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าข้อความในข้อ 7 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนข้อความตามข้อ 7 ในข้อ 8 ส่วนข้อ 11 (2) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางวิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชนสื่อโฆษณา นักร้องพิธีกรใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าวเพื่อประโยชน์ต่อการแนะนำตัวนั้น เห็นว่าผู้สมัครในกลุ่มอื่นอาจจะใช้วิชาชีพของตนในการเอื้อประโยชน์ให้ได้รับเลือก ส.ว.ได้ การที่กกต.ออกระเบียบจำกัดเฉพาะ 2 กลุ่มนี้ จึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของความเท่าเทียม และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุ เป็นการเลือกปฏิบัติ

สำหรับข้อ 11 (3) ที่ห้ามผู้สมัครแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ เห็นว่าเป็นการสร้างภาระเกินพอสมควรให้กับผู้สมัคร ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้อ 11 (5)? ที่ห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์และห้ามให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้น เห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวบังคับใช้กับผู้สมัครทุกกลุ่มอาชีพ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าหากผลของคำพิพากษที่ออกมาเป็นไปในทางแนวทางเดียวกับการแสดงความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี จะมีผลให้กกต.จะต้องเลื่อนการเลือกส.ว.ออกไปก่อนหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจหมายความว่าการทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งส.ว.ของส.ว.ชุดปัจจุบันต้องถูกขยายออกไปอย่างไม่มีกำหนดเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น