นักโบราณคดีโพสต์ข้อความน่าสนใจ ชี้ 8 ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระที่ขุดเจอในประเทศลาว ชี้จุดดังกล่าวค้นพบโบราณวัตถุบ่อย อาจเป็นสถานที่สำคัญในอดีต ควรมีการสำรวจเพิ่มเติม
จากกรณี สปป.ลาวขุดพบพระพุทธรูปจมใต้น้ำโขงสามเหลี่ยมทองคำ ฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว เป็นองค์พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่สุด หน้ากว้างกว่า 2 เมตร อีกองค์กว้าง 1 เมตร สภาพสมบูรณ์ คาดมีอายุกว่า 500 ปี ก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย บ้างมองว่าอายุไม่ถึงบ้าง อีกฝ่ายก็ออกมาชี้ว่าเป็นพระเก่าแก่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Pensupa Sukkata” นักโบราณคดี ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับพระที่ขุดพบในประเทศลาว โดยได้ชี้จุดที่น่าสนใจทั้งหมด 8 จุด ที่ทำให้เราต้องนำไปคิดทบทวนกันเองว่าพระที่ขุดพบนั้นเป็นพระเก่าหรือพระใหม่ โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า
“ประเด็นโบราณวัตถุค้นพบใหม่บนเกาะกลางลำน้ำโขงที่เกาะดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาวนั้น ดิฉันตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้
1. เนื้อพระพุทธรูปสำริด (องค์ที่มีขนาดใหญ่มาก จึงเรียกว่า พระเจ้าตนหลวง) เต็มไปด้วยคราบสนิมจับ กระจายทั่วทุกจุด มีรอยผุกร่อนแตกเป็นร่อง เป็นแผ่น หลายช่วง ซึ่งมองในระยะไกลจะไม่เห็น ต้องใช้กล้องเลนส์ซูมจึงจะเห็นชัด
2. วิธีการหล่อองค์พระใช้ “เดือย” รูปคล้ายนาฬิกาทรายซึ่งล้านนาเรียกว่า “แสว้” ปรากฏอยู่หลายจุด เนื่องจากเราถูกกำหนดพื้นที่ให้ถ่ายภาพได้ในระยะไกลเท่านั้น จึงมิอาจส่องรายละเอียดที่อยากดูได้ทั่วทุกจุด โดยเฉพาะด้านหลังที่ปล้องพระศอ มีเชือกกั้นไม่ให้เข้าไปชมด้านข้าง และด้านหลัง
3. ประเด็นการพบพระพุทธรูปจำนวนมหาศาลขนาดใหญ่น้อยคละกันหลายร้อยองค์ ที่ทยอยขุดพบเรื่อยมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษนี้ มิใช่เรื่องแปลก เพราะดินแดนบริเวณนี้เคยมีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก่อน
4. โบราณวัตถุทั้งหมดมีอายุร่วมสมัยกับศิลปะยุคล้านนารุ่งเรืองคือราว 500 ปีที่ผ่านมา มิใช่ศิลปะยุคสุวรรณโคมคำ ซึ่งเป็นเรื่องราวในตำนานหลายพันปี เพราะยุคนั้นยังไม่มีการสร้างพุทธศิลปะ แต่ด้วยเหตุที่สถานที่ของเมืองเชียงแสนบางส่วนได้สร้างทับซ้อนดินแดนเก่า ตามที่บางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองสุวรรณโคมคำมาก่อนนั่นเอง จึงทำให้ผู้ที่เชื่อในตำนานสุวรรณโคมคำจึงเข้าใจว่าวัตถุที่ขุดพบทั้งหมดมีอายุหลายพันปี
5. พบร่องรอยหลักฐานด้านโบราณวัตถุ โบราณสถานสมัยล้านนา-เชียงแสน ร่วมสมัยกับองค์พระเจ้าตนหลวง จำนวนมากมายในเมืองต้นผึ้งเก็บรักษาไว้ที่วัดทองทิพย์พัฒนา วัดโพธิ์คำ วัดสิริสุวรรณโคมคำ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานพุทธศิลป์ชิ้นเยี่ยมที่มีอายุ 500 ปีทั้งสิ้น นอกจากนี้ เมื่อสำรวจพื้นที่รายรอบยังพบซากโบราณสถานร้างกระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเจดีย์ทรงกลม (ทรงระฆัง) และทรงปราสาทยอดแบบศิลปะล้านนา
6. ประเด็นพุทธลักษณะพระเจ้าตนหลวง บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าดูคล้ายจีนนั้น เพราะหางพระเนตรเฉี่ยว อันที่จริงนั้น พุทธลักษณะเช่นนี้มีนักวิชาการด้านล้านนาศึกษามาชี้ชัดหลายท่านแล้วว่าได้พบอยู่หลายองค์ อาทิ วัดป่าซางหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ถือเป็นอีก type หนึ่งของพระพุทธรูปล้านนาตอนปลาย หลังสมัยพระเมืองแก้วลงมา พบค่อนข้างมากในเขตรอยตะเข็บไทย-ลาว
7. เป็นไปได้หรือไม่ว่า เกาะดอนผึ้งคำนี้ในอดีตอาจเป็น “เกาะดอนแท่น” (บ้างเรียก “เกาะดอนแห้ง” ) ที่ปรากฏในตำนานที่เราตามหา เกาะที่ใช้เป็นสถานที่พุทธาภิเษก มูรธาภิเษก ตอนที่กษัตริย์ล้านนาขึ้นเสวยราชย์ ต้องอัญเชิญพุทธปฏิมามาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยบนเกาะนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระมเหสี บรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ที่ติดตามมา ก็อาจร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ จำนวนมากมากระทำพิธีในวาระพิเศษต่างๆ บนเกาะศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ด้วยอย่างต่อเนื่อง และประดิษฐานไว้โดยมิได้นำกลับราชธานี จนทำให้มีการพบพระพุทธรูปจำนวนมหาศาล?
8. ข้อเสนอแนะ น่าจะได้มีการจับมือกันศึกษา สำรวจ ค้นคว้าเรื่อง 5 อาณาจักรที่ทับซ้อนกันบริเวณรอยต่อไทย-ลาว 1. สุวรรณโคมคำ 2. โยนกนาคนคร 3. หิรัญนครเงินยาง 4. เชียงแสน 5. ล้านช้าง อย่างจริงจังและจริงใจ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ จารึกวิทยา ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา มานุษยวิทยา คติชนวิทยา ฯลฯ”