xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง “ทุเรียนไทย” พ่าย “เวียดนาม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ทุเรียนไทยสูญเสียตลาดในประเทศจีนให้กับเวียดนาม เนื่องจากทุเรียนเวียดนามขายถูกกว่าถึง 20% เข้าถึงตลาดจีนได้เร็วกว่า แถมยังมีล้งไทยไปลงทุนในเวียดนามส่งทุเรียนไปขายเมืองจีน

ทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ครองแชมป์ผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของบ้านเรา โดยจุดหมายในการส่งออกทุเรียนที่สำคัญที่สุดก็คือ ประเทศจีน

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวชิ้นหนึ่งจากสำนักข่าวซินหัวที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมาก นั่นคือ ข่าวที่ว่า “ทุเรียนไทยแพ้เวียดนาม หลุดแชมป์ส่งออกไปจีน” ข่าวนี้ทำให้หลายฝ่ายตกอกตกใจกันมาก เพราะว่า จีนเพิ่งอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนได้ เมื่อปี 2565 หรือ 2 ปีก่อนนี่เอง แต่ว่าตอนนี้ ทุเรียนเวียดนามกลับแซงหน้าทุเรียนไทยในตลาดจีนเสียแล้ว

ก่อนหน้านี้ มีผลการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า ทุเรียนจากเวียดนามจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยเราในวันข้างหน้า แต่หลายคนก็คงคาดไม่ถึงว่า “วันข้างหน้า” ที่ว่าจะมาถึงรวดเร็วเช่นนี้


ข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน บอกว่า ในขณะนี้ทุเรียนจากเวียดนามครองตลาดจีนถึงเกือบ 62% แล้ว ตามมาด้วยทุเรียนไทย 37% และทุเรียนฟิลิปปินส์ประมาณ 1% กว่า ๆ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะว่าเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ ทุเรียนไทยครองสัดส่วนในตลาดจีนสูงถึง 95% เนื่องจากไทยเป็นประเทศเดียว ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ แต่หลังจากที่จีนเปิดตลาดเพิ่มเติม ทุเรียนเวียดนามก็หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดจีนอย่างรวดเร็วมาก

สาเหตุที่ทุเรียนเวียดนามได้เปรียบทุเรียนไทยก็คือ ประเทศเวียดนามนั้นมีพรมแดนติดกับจีน ทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกกว่า ราคาขายของทุเรียนเวียดนามก็เลยถูกกว่าไทย คือราว ๆ4,900 ดอลลาร์ต่อตัน เปรียบเทียบกับทุเรียนไทยที่ขายในราคา 6,100 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเปรียบเทียบเป็นตัวเลขง่ายๆ ก็คือ ทุเรียนเวียดนามขายถูกกว่าทุเรียนไทยประมาณ 20%

นอกจากนี้ ทุเรียนไทยที่ส่งไปขายในจีน ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งทางบกคือ รถบรรทุกเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องขนส่งผ่านเส้นทางประเทศเวียดนาม และแน่นอนว่า เมื่อเป็นคู่แข่งด้านสินค้าส่งออกประเภทเดียวกัน เวียดนามก็ต้องอำนวยความสะดวกให้ทุเรียนของตัวเอง มากกว่าจะอำนวยความสะดวกให้กับทุเรียนไทย ทำให้ทุเรียนเวียดนามเข้าสู่ตลาดจีนได้รวดเร็วกว่า และมีสภาพที่สดใหม่กว่า


สส. ณรงเดช อุฬารกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ปัญหาของทุเรียนไทย ไม่ใช่แค่เรื่องลอจิสติกส์ หรือการขนส่ง แต่เป็นเรื่องที่วันนี้ เกษตรกรไทยและประเทศไทยเองไม่สามารถที่จะเข้าถึงตลาดทุเรียนจีนได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยพ่อค้าคนจีนหรือประเทศอื่นเพื่อนำทุเรียนไทยเข้าสู่ประเทศจีน

“ทุกวันนี้เราต้องอาศัยช่องทางของการขนส่งผ่านประเทศเวียดนาม ในการส่งออกทุเรียนไปที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของเรา ดังนั้นวันนี้เวียดนามได้สิทธิ์ในการส่งออกทุเรียนไปจีน ทำให้สินค้าของเวียดนามเองที่เมื่อก่อนอาจจะต้องอาศัยไทยเพื่อการส่งออก วันนี้เขาส่งออกโดยตรง และสามารถส่งออกตรงไปยังผู้ค้าจีนได้ ส่งเข้าตลาดจีนได้ ในขณะที่วันนี้ทุเรียนไทย อันที่หนึ่งล้งเราก็น้อยลง อันที่สองเราก็ต้องขายผ่านล้งจีน ทำให้ทุเรียนไทยต้องพึ่งพาทางอื่นมากขึ้น ช่องทางในการจำหน่ายที่เรามี ตลาดที่เราเคยมีที่จีนก็มีคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งอันนี้ตัวเลขออกมาชัดเจนมาก”

ทุเรียนเวียดนามยังมีข้อได้เปรียบที่พื้นที่เพาะปลูกเป็นไร่ขนาดใหญ่ ทำกันเป็นอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เกษตรกรเวียดนามที่เคยปลูกกาแฟกันมากมาย จนเวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ในตอนนี้เกษตรกรเวียดนามก็หันมาปลูกทุเรียนแทน เพราะว่าความนิยมของทุเรียนในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในทางกลับกัน ทุเรียนของไทยในปีนี้เผชิญหน้าปัญหาภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ ทำให้ผลผลิตน้อยลงและมีคุณภาพไม่ค่อยดี ซ้ำเติมสถานการณ์ของทุเรียนไทย ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งมากยิ่งขึ้น


คุณกลศ หิรัญบูรณะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก อินสตรูเม้นท์ เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจส่งออกทุเรียนยอมรับว่า ปีนี้ทุเรียนไทยปริมาณลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะว่าขาดน้ำจากภัยแล้ง และเมื่อมีการกระพือข่าวร้ายก็ยิ่งทำให้ทุเรียนไทยถูกกดราคามากขึ้นไปอีก

“ข้อเท็จจริงคือว่าผลผลิตเราไม่ได้มากเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา ประเด็นที่ 2 คือ การให้ข่าวเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนหรืออะไรก็แล้วแต่ เวลาเกิดข่าวไม่ดีออกมา วงการข่าวบ้านเรามักจะเล่นข่าวพวกนี้กันน่าดูเลย จนกระทั่งทำให้มุมมองที่มีต่อผักผลไม้บ้านเราถูกมองว่า สินค้าอาจจะเสียเปรียบ ไม่ได้คุณภาพ หรือว่าทำให้เกิดการมองภาพที่ไม่ดีสำหรับสินค้าไทย ก็เลยทำให้สินค้าไทยถูกกดราคาลงไปอีก ก็อยากจะฝากบอกกับสื่อว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเซนซิทิฟ เพราะว่าสื่ออาจจะได้การเข้าร่วมเรื่องของข่าว แต่ว่าผลกระทบโดยตรงจะไปตกอยู่กับเกษตรกร ซึ่งเขาจะลำบากมาก”

ความเห็นของผู้ส่งออกทุเรียนอย่างคุณกลศ หิรัญบูรณะ ตรงกับความเห็นของคณะกรรมาธิการการเกษตร คือ สส. ณรงเดช อุฬารกุล ที่บอกว่า ทุกวันนี้ทุเรียนเป็นผลไม้เพียงไม่กี่ชนิด ที่ปลูกแล้วได้กำไรและมีราคาดี ทำให้เกษตรกรปลูกทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เลยได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“การปลูกทุเรียนต้องใช้น้ำเยอะ ทุเรียนใช้น้ำประมาณ 150 ลิตรต่อต้นต่อวัน ถ้าเป็นหน้าแล้งแบบปัจจุบันต้องใช้ถึง 200-300 ลิตรต่อต้นต่อวัน หน้าที่ทุเรียนออกเกษตรกรยังไงก็ต้องอัดน้ำ เพื่อให้ทุเรียนติดออกออกผลและก็มีขนาดสมบูรณ์ที่สุด ทำให้มีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากพร้อมกัน ปีนี้มีสถานการณ์เอลนิโญ ทำให้เราเจอปัญหาว่าผลผลิตทุเรียนเสียหายเนื่องจากขาดแคลนน้ำ”


เมื่อพิจารณาแนวโน้มในระยะยาว คงไม่ใช่แค่ปีนี้ที่ทุเรียนไทยจะพ่ายแพ้ให้กับทุเรียนเวียดนามเพราะว่าเจอภัยแล้ง โดยในระยะยาวแล้ว ทุเรียนไทยจะยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่หนักหน่วงมากขึ้น จากทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมถึงลาว

และก็ไม่ใช่แค่ทุเรียนสดเท่านั้น ยังมีทุเรียนแช่แข็ง ที่ตอนนี้ “ทุเรียนมูซันคิง” ของมาเลเซียครองตลาดอยู่ ซึ่งทางจีนก็จะเปิดตลาดเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก ดังนั้น ทุเรียนไทยจะทำอย่างไร ถึงจะสามารถรักษาสถานะ “ชาติมหาอำนาจแห่งทุเรียน” เอาไว้ได้

หลายคนบอกว่า ทุเรียนไทยอร่อยที่สุด แต่ว่า “ความอร่อย” ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย คนจีนหลายคนบอกว่าชอบกินทุเรียนที่นิ่มจนเหมือนเละ แต่คนไทยเราชอบกินทุเรียนแบบกรอบนอกนุ่มใน และยังมีข่าวด้วยว่า คนจีนก็อาจจะคุ้นเคยกับรสชาติของทุเรียนเวียดนามมาตั้งนานแล้ว เพราะก่อนที่จีนจะเปิดตลาดให้เวียดนามส่งทุเรียนไปขายได้ ก็อาจจะมีทุเรียนเวียดนามสวมสิทธิ์เป็น made in Thailand ส่งไปขายที่จีน และทางคณะกรรมาธิการการเกษตร ของสภาผู้แทนราษฎร ก็มีข้อมูลว่า มีอดีตล้งไทยหลายรายตอนนี้ก็ไปทำล้งส่งทุเรียนจากเวียดนามไปขายที่จีน

คุณกลศ หิรัญบูรณะ ซึ่งทำธุรกิจส่งออกทุเรียนบอกว่า คนไทยที่ไปทำธุรกิจทุเรียนในเวียดนามก็เป็นสิทธิ์ที่จะขยายธุรกิจ แต่ว่าก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่จะมาแข่งกับทุเรียนไทยได้

“ทุเรียนที่มีอายุเยอะ ๆ ที่เป็นทุเรียนแก่ ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะให้ผลผลิตที่ดี คือ เปลือกบาง เนื้อเยอะ ในขณะที่ทุเรียนที่อายุ 7 ปีเพิ่งเริ่มให้ผล เขาจะเรียกว่า ทุเรียนสาว ซึ่งทุเรียนสาวพวกนี้จะเปลือกหนา เนื้อน้อย รสชาติยังไม่เด่นเท่าไหร่ ตอนนี้เวียดนามเพิ่งปลูกได้ 7-8 ปี ประมาณนั้นโดยส่วนใหญ่ ทุเรียนของเขาจึงยังไม่ได้คุณภาพเต็มที่แบบที่เราทำ แต่เชื่อว่าด้วยวิทยาการ และด้วยการสนับสนุนของในแง่ของการปรับปรุงเรื่องการเกษตร เวียดนามก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว”


ทุเรียนเวียดนามเปิดตลาดในประเทศจีนช้ากว่าไทยเรา ก็เลยต้องสร้างความได้เปรียบด้านราคาที่ถูกกว่า และการขนส่งที่รวดเร็วกว่า ดังนั้นทุเรียนไทยจึงต้องรักษาคุณภาพ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า “ระดับพรีเมี่ยม” เอาไว้ให้ได้ โดยภาครัฐก็ได้สนับสนุนเรื่องนี้มาตลอดนะครับ

สส.ณรงเดช อุฬารกุล ให้ความเห็นว่า “วันนี้ทุเรียนไทยที่ส่งไปเมืองจีน ต้องได้ GAP คือ Good Agricultural Practice แต่เท่าที่ทราบก็คือว่า มีการสวมสิทธิ์ใบ GAP เพื่อการส่งออก ก็แปลว่า มีทั้งทุเรียนที่มาตรฐาน และทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ในตลาดที่ส่งไปจีน จะทำอย่างไรให้ทุเรียนที่ผลิตในไทยทั้งหมดมี GAP เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ”

นอกจากเรื่องการรักษาคุณภาพแล้ว การทำตลาดก็มีความสำคัญ คุณกลศ หิรัญบูรณะ บอกว่า ทุเรียนเวียดนามหรือชาติอื่น ๆ ยังอยู่ในขั้นที่ใช้ปริมาณเยอะ ราคาถูกเข้าสู้ แต่ว่าไทยเราจะต้องขยับไปทำการตลาดในระดับที่สูงขึ้น

“เราทำตลาดเรื่องการเกษตร อย่างแรกเราควรจะทำเรื่องขายเหมาก่อน เพื่อเป็นการเรียกลูกค้าให้มารู้จักกับเรา แล้วก็ขายสินค้าไปในล็อตใหญ่
ขั้นต่อมาก็คือ ขายแยกประเภท หมายความว่า ของมีคุณภาพกี่เกรด รูปลักษณ์แบบไหน ก็คือการแยกประเภท
ขั้นที่สาม คือขายแบบจองซื้อ เพราะเมื่อเราแยกประเภทแล้ว ลูกค้าก็จะรู้ว่าของเรามีหลายประเภทแล้ว ก็จะรู้ว่าอันไหนที่จะเหมาะกับตลาดของแต่ละที่ จึงจองซื้อแบบสัญญาได้
และสุดท้าย เป็นสุดยอดของเรื่องการตลาด ก็คือ ประมูลสินค้า เหมือนกับที่เราเคยได้ยินเรื่องของการประมูลทุเรียนนนทบุรี ทุเรียนพันธุ์พิเศษต่าง ๆ”

ในโลกของการค้านั้น การแข่งขันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็คงเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะให้สิทธิพิเศษกับคู่ค้าคนใดคนหนึ่งตลอดไป ดังนั้น ทุเรียน ผลไม้ รวมไปถึงสินค้าส่งออกอื่น ๆ ของไทย จึงจำเป็นต้องรักษาคุณภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และแสวงหายุทธศาสตร์ใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อดึงดูดลูกค้าอยู่เสมอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น