xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำร้อง ส.ว.ยื่นสอย 'เศรษฐา-พิชิต' ไม่สุจริต-บิดเบือน-ผิดจริยธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดคำร้อง ส.ว.ยื่นสอย 'เศรษฐา-พิชิต' ไม่สุจริต-บิดเบือน-ผิดจริยธรรม

การเมืองเวลานี้ไม่มีเรื่องไหนจะร้อนเท่ากับกรณีที่ส.ว.จำนวน 40 คนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่2) สิ้นสุดลงหรือไม่

สำหรับคำร้องที่ส.ว.ได้ยื่นไปนั้นมีใจความสำคัญ คือ ด้วยปรากฎว่านายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลฯเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักายกรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐารู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา160 (4) และ (5) ที่บัญญัติว่า "มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง"

ส.ว.จำนวน 40 คน ในฐานะผู้ร้องเห็นว่า นายเศรษฐา ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกฯกระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายพิชิต ด้วยการแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมประชาชนทำให้เข้าใจผิดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียบร้อยแล้วว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความรวมถึงไม่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5)ด้วย

ทั้งที่ตามความจริงแแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ประกอบกับนายเศรษฐา ได้เข้าพบกับนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนายพิชิต เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัวจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ครั้งก่อนการเสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี จึงเชื่อได้ว่านายเศรษฐา อาจมีเจตนาไม่สุจริต เลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน และประกอบกับการที่นายเศรษฐา ได้เข้าพบนายทักษิณดังกล่าวมาข้างต้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง โดยมีข้อสังเกตการพบครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 เมษายน 2567 ก่อนวันที่ 27 เมษายน 2567 จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้นายเศรษฐา ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณและนายพิชิตหรือไม่ เพราะหลังจากนั้นนายเศรษฐา จึงเสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิต เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567

นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 และต่อมาสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ออกจากทะเบียนทนายความ แสดงว่านายพิชิต เป็นบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง นายพิชิตจึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี

การกระทำของนายเศรษฐา ที่เสนอทูลเกล้าฯนายพิชิต เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ให้ได้เป็นรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวของนายเศรษฐา จึงเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ มีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการคบหาสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้นายเศรษฐา ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) ด้วยเหตุที่นายเศรษฐาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี ดังนี้

"ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ข้อ 11 ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ข้อ 17 ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตำแหน่ง ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่"

ผู้ร้องในฐานะส.วงจำนวน 40 คน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงขอให้ประธานวุฒิสภาส่งคำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา และ นายพิชิต สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้นายเศรษฐาและนายพิชิตหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

จากเนื้อหาในคำร้องที่มีการอ้างถึงความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น พบว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0904/152 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอหารือเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยในหนังสือดังกล่าวได้แบ่งความเห็นออกเป็นสองประเด็นตามการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

ประเด็นที่ 1 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) เห็นว่าการได้รับโทษจำคุกไม่ว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกิน 10 ปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ประเด็นที่ 2 เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงทีสุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดักล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรตำแหน่งรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังได้ระบุว่า "ทั้งนี้การให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ"
กำลังโหลดความคิดเห็น