xs
xsm
sm
md
lg

คนไนจีเรียเหวอ! ข่าว "ข้าวข้ามทศวรรษไทย" อาจจะถูกขายให้คนแอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

คนไนจีเรียเหวอ! ข่าว "ข้าวข้ามทศวรรษไทย" อาจจะถูกขายให้คนแอฟริกา

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เว็บไซต์ businessday.ng เว็บไซต์ข่าวธุรกิจของไนจีเรีย เผยแพร่รายงานระบุว่า เวลานี้มีความกังวลและความหวั่นเกรงเพิ่มมากขึ้นในไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของแอฟริกาเกือบ 220 ล้านคน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ข้าวจากโครงการจำนำข้าวที่เก็บเอาไว้อายุกว่า 10 ปีของไทยจะถูกขายไปยังทวีปแอฟริกา และประเทศไนจีเรีย ตามคำประกาศของรัฐบาลไทย

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ประเทศไทยวางแผนที่จะเปิดประมูลข้าวจำนวน 150,000 กระสอบที่ถูกเก็บไว้ในโกดังมานาน 10 ปี โดยคาดว่าจะทำรายได้เข้ารัฐราว 200-400 ล้านบาท แต่การเปิดประมูลดังกล่าว กลับถูกประชาชน และนักวิชาการด้านโภชนาการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ในส่วนของชาวไนจีเรียเอง เมื่อได้ทราบข่าวดังกล่าวก็ออกมาให้ความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย กรณีมีข่าวว่าข้าวอายุสิบปีที่ถูกรับซื้อจากโครงการจำนำข้าวของไทยจะถูกขายไปยังทวีปแอฟริกา โดยชาวไนจีเรียต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากข้าวที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง ความปลอดภัยของอาหาร และการตรวจสอบต่าง ๆ ที่อาจมีการดำเนินการอย่างลวก ๆ

ใน X ผู้ใช้บัญชีว่า @Kdenkss ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่ราว 25,000 คน โพสต์ โดยอ้างอิงต้นเรื่องจากสำนักข่าวในประเทศไทยเป็นรูปนายภูมิธรรม เวชยชัย ระบุว่า "ข้าว 10 ปี ยันไม่ขายในประเทศแน่" โดย @Kdenkss ระบุว่า “ตอนนี้แม้แต่ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็พยายามเอารัดเอาเปรียบพวกเรา”

ขณะที่ยังมีผู้ชาวแอฟริกาตั้งคำถามใน X ด้วยเช่น
• "เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอาย ผมมั่นใจว่าข้าวบางส่วนจะต้องถูกส่งไปที่ไนจีเรีย"
• "ข้าว 10 ปีแล้วสารอาหารยังมีอยู่ไหม?"
• "เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่แอฟริกานั้นเป็นเหมือนบ่อทิ้งขยะที่สมบูรณ์แบบ"

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ซื้อหลักของข้าวไทย เนื่องจากปริมาณการซื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวบนเว็บไซต์ โดยในช่วงปี 2566 ถึง 2567 ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกด้วยปริมาณ 8.2 ล้านตัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Statista

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2566 ในกลุ่มประเทศ 10 อันดับแรกในทวีปแอฟริกาที่นำเข้าข้าวจากไทยได้แก่ แอฟริกาใต้, เซเนกัล, แคเมอรูน, โมซัมบิก และโกตดิวัวร์ นั้นนำเข้ารวมกันถึง 2.48 ล้านตัน รองลงมาคือซิมบับเว, แอลจีเรีย, แองโกลา, เบนิน และ โตโก

แม้ว่าไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกาจะไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยติดอันดับต้นๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารกลางของไนจีเรียมีนโยบายในการจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสำหรับผู้นำเข้าข้าว เพื่อเอื้อให้กับผู้ปลูกข้าวภายในประเทศ ทำให้ข้าวนำเข้าส่วนใหญ่ของไนจีเรียนั้นมีต้นทางมาจาก ประเทศเบนินและโตโก ผ่านการลักลอบผ่านแดนทางบก

ด้านนายเจมส์ มาร์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหาร และผู้อำนวยการบริหารจุดวิเคราะห์อันตรายและจุดควบคุมวิกฤต (HACCP) กล่าวว่าโดยปกติแล้วข้าวอายุ 10 ปีจะไม่มีสารอาหารหลงเหลืออยู่แล้ว ทั้งยังย้ำด้วยว่า ข้าวอายุ 10 ปี อาจมีสารพิษ และสารเคมีอันตรายปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยขึ้นอยู่กับว่าในการเก็บรักษาข้าวของโกดังนั้น ๆ ใช้สารเคมีชนิดใด

“มันไม่มีสารอาหารหลงเหลืออยู่ในข้าวที่เก็บไว้นานถึง 10 ปีหรอก การเก็บรักษาข้าวและธัญพืช โดยเฉพาะข้าวไม่ควรเกิน 5 ปี” นายมาร์ชกล่าว และว่า “โชคไม่ดีที่ข้าวเหล่านี้อาจจะไหลทะลักเข้าสู่ไนจีเรียน เพราะการควบคุมพรมแดนที่หละหลวมของเรา”

“รัฐบาลไนจีเรียต้องเร่งดำเนินการในเวลานี้ เพื่อรับประกันว่าเมื่อมีการประมูล ข้าวเหล่านี้จะไม่เข้ามายังประเทศของเรา และนั่นคืองานของ NAFDAC (อย.ของไนจีเรีย) และ SON (หน่วยงานมาตรฐานสินค้าของไนจีเรีย) เนื่องจากข้าวพวกนี้มีหมายเลขกำกับซึ่งสามารถใช้เพื่อใช้ติดตามแหล่งที่มาได้” เขากล่าว

ด้าน นายชิตตู อคินเยมิ (Shittu Akinyemi) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งสหพันธ์ (Federal University of Agriculture) กล่าวว่า ความปลอดภัยของอาหารมีปัจจัยกำหนด 2 ประการ ได้แก่ วิธีการจัดการอาหาร และชนิดของสารเคมีที่ใช้เพื่อการเก็บรักษา

เขาเสริมว่าแม้ธัญพืชจะมีระยะในการเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน โดยสังเกตว่าผู้คนมักจะรู้สึกไวต่อผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บไว้เป็นเวลานาน โดยเมื่อข้าวเก็บไว้นานมันก็จะแปรสภาพ และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
.
แปลและเรียบเรียงจาก businessday.ng โดย Josephine Okojie
(https://businessday.ng/agriculture/article/10-year-old-stored-thailand-rice-may-find-its-way-to-nigeria-africa)
กำลังโหลดความคิดเห็น