ปิดฉากชีวิต พันเอกณรงค์ กิตติขจร ทุกสิ่งคือฝุ่นในสายลม
วันที่ 14 พฤษภาคม พันเอกณรงค์ กิตติขจร หนึ่งในอดีตนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งถูกกล่าวขานเป็นผู้ทรงอำนาจคนหนึ่งของเมืองไทยในยุคการปกครองแบบประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างยาวนาน ได้ล่วงลับปิดฉากชีวิตตามสัจธรรม ในวัย 90 ปี
แน่นอนว่าชื่อของพันเอกณรงค์ ย่อมไม่อาจแยกออกได้จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่รู้จักกันในนามวันมหาวิปโยค เมื่อรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ดำเนินการปราบปราม ขบวนการนิสิตนักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จนเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงและเรียกร้องประชาธิปไตย ในยุคต่อมา
พันเอกณรงค์ เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2476 เป็นบุตรของจอมพลถนอม กิตติขจร และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ชีวิตครอบครัวสมรสกับนางสุภาพร ซึ่งเป็นบุตรสาวของจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ในยุคที่จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า รัฐบาลถนอม ประภาส
สายสัมพันธ์ของผู้ทรงอำนาจทั้งสองตระกูล ซึ่งพันเอกณรงค์มีฐานะเป็นบุตรเขยของจอมพลประภาส อาจไม่ต่างอะไรกับสภาพการเมืองของไทยในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยุค 3 ป หรือรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้อำนาจของตระกูลชินวัตร
พันเอกณรงค์ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและโรงเรียนนายร้อยซานเฮิท กลับมียศทางทหารสูงสุดแค่พันเอก ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ที่มีทหารเพียง 3 กองพัน อยู่ในความรับผิดชอบ
แต่กระนั้นสังคมต่างยอมรับว่า พันเอกณรงค์มีอำนาจและบารมีเหนือกว่านายพลซึ่งเป็นผู้บังคับหน่วยของกองทัพบกส่วนใหญ่ ในช่วงเวลานั้น แม้ว่าเพื่อนร่วมรุ่นของพันเอกณรงค์ ซึ่งเป็น จปร. 5 จะเติบโตครองยศพลเอกหลายคน อาทิ พลเอกอิสระพงษ์หนุนภักดี พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นต้น
ในปี 2513 พันเอกณรงค์ขึ้นชกมวยไทยโชว์ โดยใช้ชื่อนกเล็กณกรุงเทพฯ คู่ชกคือ วัลลภ ยนตรกิจ ที่เวทีลุมพินี ในรายการกุศลศึกถล่มแม้วแดง หารายได้ช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ จากการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น
ช่วงสุดท้ายก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พันเอกณรงค์ได้รับมอบหมาย ให้ดูแล รับผิดชอบการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น โดยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการติดตาม การปฏิบัติราชการหรือที่รู้จักกันในนาม ก.ต.ป.
มีที่ตั้งอาคารบริเวณสี่แยกคอกวัว และเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งถูกเผาจากกลุ่มผู้ประท้วง ด้วยความโกรธแค้น เมื่อรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชน
ในเหตุการณ์ดังกล่าว
พันเอกณรงค์เคยให้สัมภาษณ์ ขณะมีอายุ 81 ปี มีความบางตอนว่า
“คุณพ่อลาออกวันที่ 13 ตุลาคม ท่านพูดในที่ประชุมว่า ถ้าผมออกจากตำแหน่งเสียเหตุการณ์มันอาจจะดีขึ้นก็ได้ คุณพ่อเลยกราบบังคมทูลเลย บอกข้าพระพุทธเจ้าจะขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้เหตุการณ์เรียบร้อย เช้าวันที่ 14 ตุลาคม ผมก็เดินทาง แต่คุณพ่อไปพักที่ดอนเมืองก่อนแล้วไปวันที่ 15 ตุลาคม ไม่ทันได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวอะไร ลูกสาวผมคนเล็กมีกางเกงไปตัวเดียว ใส่ชุดนอนไปด้วย”
หลังใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมัน 5 ปี พันเอกณรงค์เดินทางกลับประเทศไทย และเข้าสู่ เส้นทางการเมือง โดยได้รับการเลือกตั้งเป็นสสจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสังกัดพรรคชาติไทย เมื่อปี 2526 ก่อนจะย้ายไปสังกัดพรรคเสรีนิยมในปี 2529 จนถึงปี 2535
สำหรับกรณีที่ถูกยึดทรัพย์ ซึ่งแม้จะมีข่าวว่า รัฐบาลหลายรัฐบาลพยายามจะทำเรื่องคืนทรัพย์สินให้ แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง พันเอกณรงค์เล่าว่า
“เขายึดหมดทุกอย่าง รถรา เงินส่วนตัว บ้านที่คุณพ่อเกิดที่จังหวัดตาก อยู่ตั้งแต่แบเบาะ ยังยึดเลย ตอนนี้เอาห้องสมุดประชาชนบ้านเกิดคุณแม่ผม ที่ดินที่อยุธยา ที่ดินนี้มีมาแต่คุณแม่ผมเกิด ทรัพย์สินที่ใช้อยู่เกือบไม่มีอะไรเป็นชื่อเรา เวลานี้ผมเป็นผู้อาศัย ผู้อาศัยบ้านตัวเอง”
ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะบันทึกเรื่องราวของพันเอกณรงค์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งใน 3 ทรราชไว้อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ
พันเอกณรงค์สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างสงบด้วยการปล่อยวางทุกอย่าง ไม่ยึดติดกับอดีต มีความสุขในฐานะคุณปู่และคุณตา ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมวัย ก่อนที่จะพบกับวาระสุดท้าย ในวัย 90 ปี ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง
อาจกล่าวได้ว่า การจากไปของพันเอกณรงค์ เป็นการปิดฉากตำนานคำกล่าวหา 3 ทรราช ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างสมบูรณ์ และเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงสัจธรรมแห่งชีวิตว่า ทุกคนเกิดมาแล้ว ก็ต้องตาย ไม่มีใครหลึกพ้น
สิ่งที่หลงเหลือไว้เป็นเพียงเรื่องราวที่ตนเองเคยกระทำ ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ที่จะให้ผู้คนทั่วไปได้จดจำ และกล่าวขานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะเลือนหายไป ไม่ต่างอะไรกับฝุ่นผงในสายลม