xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาไม่ได้ตีความ ปัญหาจริยธรรม”พิชิต” สะเทือนนายกฯเศรษฐา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กฤษฎีกาไม่ได้ตีความ ปัญหาจริยธรรม”พิชิต” สะเทือนนายกฯเศรษฐา

ครม.เศรษฐา 1/1 จะเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีที่มีชื่อในการปรับเปลี่ยนทั้งสลับตำแหน่งและรัฐมนตรีหน้าใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ในวันที่ 3 พ.ค.

แต่กรณีของ”พิชิต ชื่นบาน รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี”ทนายความประจำตระกูล”ชินวัตร” ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลงานด้านกฎหมายให้รัฐบาล ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ถึง”ความเหมาะสม-คุณสมบัติ” เพราะมองว่า พิชิต สุ่มเสี่ยง มีปัญหาทั้งด้านกฎหมายและด้านจริยธรรม
ที่ยังมีข้อถกเถียงกันไม่จบ ว่าอาจขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา160 (4) (5) (7)  รวมถึง อาจขัดต่อ มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ที่ให้ใช้กับรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา

ที่ระบุไว้ในข้อ 8 “ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ”

ซึ่งปัญหาดังกล่าว เมื่อวันอังคารที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มคปท. ได้ไปยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้วินิจฉัยและส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คุณสมบัติการเป็นรมต.ของพิชิตแล้ว ตอนนี้ก็ต้องรอว่า กกต.จะส่งหรือไม่ส่ง ที่หากส่ง คราวนี้ ทั้งเศรษฐา นายกฯในฐานะผู้นำรายชื่อนายพิชิต ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องลุ้นระทึกแล้ว เพราะหากศาลเกิดชี้ว่า นายพิชิต ขัดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามขึ้นมา นายกฯก็ยุ่งในฐานะผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้า!

อย่างไรก็ตาม เศรษฐา ให้สัมภาษณ์วันเดียวกันกับที่คปท.ไปยื่นกกต.โดยการันตีว่า พิชิต ไม่ขัดคุณสมบัติ เพราะได้ไฟเขียวจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถึงได้มั่นใจ จนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

กระนั้น ในข้อเท็จจริงแล้ว หากไปดูจากหนังสือของ”สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ที่พิจารณากรณีดังกล่าว จะพบว่า กฤษฎีกา ก็ไม่ได้ถึงกับฟันธงร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า  นายพิชิต ไม่มีปัญหาขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยพบว่า กฤษฎีกา ก็ระบุเองในตอนท้ายของหนังสือความเห็น ที่ส่งกลับไปยัง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำนองว่า
“ควรให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด”

โดยหนังสือดังกล่าว มีสาระสำคัญระบุว่า จากกรณี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ที่ก็คือกรณีของน่ายพิชิต ชื่นบาน)

ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 1ก.ย.2566 ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยมีเนื้อหาบางตอน คือ

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน(6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า

"เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้งเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลทุโทษ" ดังนั้น การได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ส่วนประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ส่วนจุดสำคัญ คือในตอนท้ายของหนังสือที่ระบุว่า
“ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6)ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น

อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น”

จุดนี้ก็มีเสียงวิจารณ์ตามมาว่า ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาล ส่งเรื่องให้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งหนังสือไปสอบถาม คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ นั้น ไม่ได้ถามให้ครอบคลุมทุกประเด็น
โดยเฉพาะ ประเด็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

แต่เลือกถามเฉพาะประเด็น มาตรา 160 (6) กับ (7) เท่านั้น ซึ่งกฤษฎีกาฯ ก็ต้องตอบเฉพาะประเด็นที่ถามมาเท่านั้น

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด กกต. ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความให้สิ้นกระแสความ
กำลังโหลดความคิดเห็น